Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หรรสาระ By Jeans Aroonrat
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
29 ก.ค. 2022 เวลา 08:24 • ข่าว
Blockdit Originals บทความพิเศษ
#ผ่าเส้นทาง INSTC ของ 3พันธมิตร
#รัสเซีย-อินเดีย-อิหร่าน
#ทางรอดของรัสเซียที่มาทันเวลา?
เมื่อราวๆเดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา มีการทดสอบเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่จาก อัสตราฮัน เมืองเศรษฐกิจทางตอนใต้ของรัสเซีย ผ่านอิหร่านและมุ่งหน้าสู่มหานครมัมไบของอินเดีย ด้วยเส้นทางที่ชื่อว่า International North-South Transport Corridor (INSTC) หรือ ระเบียงขนส่งเหนือ-ใต้ นานาชาติ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางสายหลักในการขนส่งสินค้าจากเอเชียสู่ยุโรปที่กำลังเป็นที่จับตาอยู่ในขณะนี้
เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินโครงการ INSTC มาก่อนบ้าง จากเหตุการณ์ที่เรือขนส่งของบริษัท Evergreen มาเกยตื้นขวางคลองสุเอซเมื่อปีที่แล้ว จนทำให้ระบบขนส่งสินค้า และน้ำมัน จากเอเชียสู่ยุโรปปั่นป่วนไปเป็นอาทิตย์ มูลค่าความเสียหายนับพันล้าน
จากอุบัติเหตุคราวนั้น ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า จะมีเส้นทางขนส่งเส้นอื่นจากยุโรปสู่เอเชีย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคลองสุเอซหรือเปล่า? เอาไว้เป็นทางเลือกหากเกิดเหตุเรือขวางคลองเช่นนี้อีก
แล้วชื่อ โครงการ International North-South Transport Corridor (INSTC) ก็ผุดขึ้นมา ว่านี่ไง เส้นทางขนส่งใหม่วิ่งตรงจากเหนือ ลงใต้ ที่ไม่ใช่แค่ทางเลี่ยง แต่เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสามารถย่นระยะเวลาได้ถึง 40% และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ถึง 30%
จากเดิมที่ต้องส่งแล่นเรืออ้อมมาเข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากช่องแคบยิบรอลตาร์ มาเข้าคลองสุเอซ ออกทะเลแดง ก่อนจะทะลุเข้ามหาสมุทรอินเดีย ที่ต้องใช้เวลาตั้งแต่ 45-60 วัน แต่ถ้าใช้เส้นทางใหม่ INSTC อาจใช้เวลาเพียง 25-30 วันเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มทดลองวิ่งแล้ว และประสบความสำเร็จ
2
ดูเหมือนว่าโปรเจค INSTC จะเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาระบบขนส่ง แต่วันนี้เส้นทางสาย INSTC กลับกลายเป็นประเด็นอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เพราะคุณประโยชน์ของมัน แต่ถูกมองว่ามันจะถูกใช้เป็นเส้นทางหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตรของ 2 ชาติ อย่าง รัสเซีย และอิหร่าน
ซึ่งถ้าหากมองย้อนกลับที่ที่จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากความร่วมมือกันของ 3 ชาติ รัสเซีย-อินเดีย-อิหร่าน ที่ต้องการสร้างเส้นทางขนส่งใหม่ที่ไม่ต้องอ้อมไกลไปเข้าคลองสุเอซ โดยจะเชื่อมต่อเมืองเศรษฐกิจ และ ท่าเรือน้ำลึกใหญ่ๆระหว่างเส้นทางไว้ร่วมกัน ไล่ตั้งแต่ เซนส์ ปีเตอร์สเบิร์ก, มอสโคว์, อัสตราฮัน, เตหะราน, แบนดาร์ แอบบาส, ไปจนถึงมัมไบ ที่จะมีเส้นทางขนส่งทางบก ทางรถไฟ และทางเรือ รวมกันกว่า 7,200 กิโลเมตร
โครงการนี้มีการคุยกันมานานแล้วตั้งแต่ปี 2002 ใช้ระยะเวลาพัฒนายาวนานถึง 20 ปี และต่อมาก็มีชาติในยุโรปตะวันออก และเอเชียเข้ามาร่วมขยายเครือข่ายเส้นทางในโครงการด้วย เช่น ตุรกี เบลารุส อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย ทาจิคิสถาน คีร์กีซสถาน โอมาน ซีเรีย หรือแม้แต่ยูเครน ก็เคยเซ็นข้อตกลงร่วมกันในโครงการนี้มาก่อน
ดังนั้นหากวันนี้ไม่มีกรณีข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครน หรือ อดีตผู้นำสหรัฐอย่างโดนัลด์ ทรัมพ์ ไม่ไปคว่ำข้อตกลงอิหร่าน เส้นทางขนส่ง INSTC อาจะเป็นดาวเด่นในวันนี้ ที่เป็นคู่แข่ง ที่คู่ควรกับโครงการ BRI ของจีนก็ยังได้
แต่พอเกิดเหตุการณ์ 2 กรณีดังกล่าว ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกได้ร่วมมือกันคว่ำบาตร ไม่ซื้อ ไม่ค้ากับรัสเซีย โครงการ INSTC จึงถูกมองว่าเป็นทางรอดของรัสเซียจากกับดัก Sanction ซะงั้น
แต่ถึงจะถูกมองว่าเป็นทางรอด แต่มันก็มาได้ถูกที่ ถูกเวลา เพราะหากผู้นำ 3 ชาติพันธมิตร วิสัยทัศน์ไม่ถึงตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าผู้นำรัสเซียจะทำอย่างไร เมื่อสินค้าของรัสเซียจะไม่เป็นที่ต้อนรับในการผ่านเข้าดินแดนฝั่งยุโรปตะวันตก หรือ ผ่านเข้าสู่ทะเลบอลติก และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างที่แล้วมาอีกต่อไป
1
แต่ฝ่ายที่ดูเหมือนจะ Win-Win ที่สุดน่าจะเป็นอินเดีย ที่จะกลายเป็น Hub สำคัญในการรับส่งสินค้าจากทั้งด้านคลองสุเอซ และ เส้นทางขนส่งใหม่ ซึ่งนาย ไวยชาลี บาสุ ชาร์มา อดีตที่ปรึกษาสภาเลขาธิการความมั่นคงของอินเดียได้ประเมินว่า ภายในปี 2030 นี้ ระเบียงขนส่ง INSTC จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับคาร์โก้สินค้าได้มากถึง 25 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 75% ของปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคยูราเชีย เอเชียใต้ และ อ่าวเปอร์เซียรวมกัน
และยิ่งมีการคว่ำบาตร 2 ใน 3 ชาติผู้บุกเบิกเส้นทาง INSTC อย่างรัสเซีย และ อิหร่าน รัฐบาลเครมลินจึงจำเป็นต้องเร่งให้เปิดใช้เส้นทางนี้ให้เร็วที่สุด โดยวางแผนต่อขยายเครือข่ายออกไปทั้งฝั่งตะวันออก ไปเชื่อมต่อกับเส้นทางของจีนที่มณฑลซินเจียง และเมื่อใดก็ตามที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลาย ก็จะสามารถขนส่งสินค้าผ่านทางยูเครนไปสู่ยุโรปตะวันตกได้เช่นกัน
คำถามจึงอยู่ที่ว่า แล้วสถานการณ์จะคลี่คลายได้เมื่อไหร่?
เนื่องจากประเทศที่ร่วมลงทุนในเส้นทาง INSTC ต่างต้องการขยายฐานการค้าสู่ตลาดใหญ่ในสหภาพยุโรป แต่ตราบใดที่การคว่ำบาตรสินค้าของบางประเทศยังคงอยู่ การนำเข้าสินค้าอาจถูกจำกัด หรือแม้แต่อินเดียก็อาจถูกกดดันจากชาติมหาอำนาจตะวันตกในการขยายข้อตกลงทางการค้า หรือนำเข้าน้ำมันเพิ่มจากรัสเซีย หรืออิหร่าน ดังนั้นการลงทุนมหาศาลกับโครงการนี้ก็อาจไม่คุ้มค่าสำหรับรัสเซีย หรือแม้แต่ชาติอื่นๆที่ลงเม็ดเงินมาร่วมก็ไม่รู้ว่าจะถอนทุนคืนได้เมื่อไหร่
1
แต่ทั้งนี้ การมองโครงการ INSTC ในแง่ลบด้วยมุมมองมิติของการแผ่ขยายอิทธิพลด้านภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซีย หรือ อิหร่าน ก็จะยิ่งเป็นการลดคุณค่า และ บทบาทของเส้นทาง INSTC ลงอย่างน่าเสียดาย
แต่ถ้าหากมองตามหลักการใช้ทรัพยากร ที่จะช่วยประหยัดการใช้พลังงานจากการขนส่ง เป็นเส้นทางตัดตรงที่ลดค่าใช้ได้จ่ายมากกว่า และยังเป็นโอกาสของชาติในเอเชียใต้ รวมถึง อาเซียนในการเปิดตลาดการค้าได้กว้างขึ้น
แต่ทั้งนี้ เหรียญทุกชนิดล้วนมี 2 หน้า ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพียงแต่เราจะมองคุณประโยชน์ หรือโทษจากด้านใดเท่านั้นเอง
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
และ Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
https://www.aljazeera.com/economy/2022/7/27/russias-new-economic-escape-route/
https://wap.business-standard.com/article/international/explained-instc-the-transport-route-that-has-russia-and-india-s-backing-122071400697_1.html
https://www.eurasiareview.com/08072022-oil-sanctions-explore-new-shorter-corridor-international-north-south-transportation-corridor-instc-oped/
https://theloadstar.com/russia-uses-instc-corridor-to-beat-sanctions-and-drive-trade-with-iran-and-india/
https://m.economictimes.com/news/economy/foreign-trade/russia-launches-trade-with-india-via-eastern-branch-of-instc-involving-asian-states/articleshow/92715733.cms
https://en.m.wikipedia.org/wiki/International_North%E2%80%93South_Transport_Corridor
ข่าวรอบโลก
การลงทุน
2 บันทึก
17
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals
2
17
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย