5 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Interstellar : การเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ทิ้งบางอย่างไว้เบื้องหลัง
ตามกฎข้อที่ 3 ของนิวตัน จะก้าวไปข้างหน้าต้องทิ้งบางอย่างไว้เบื้องหลัง
1
Interstellar หนังที่เล่าเรื่องราวในช่วงที่ทุกอย่างของโลกกำลังจะสิ้นสุดลง มนุษยชาติเผชิญกับความขาดแคลนทรัพยากร และต้องผจญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ จนต้องมีผู้เสียสละเดินทางออกไปหาดาวดวงใหม่เพื่อมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นภารกิจที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีโอกาสสำเร็จหรือไม่
2
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจของเราก้าวไกลไปกว่าศตวรรษที่ผ่านมาอยู่มาก แต่ทรัพยากรหลายๆ อย่างก็เสื่อมถอยและเริ่มจะขาดแคลนไปมากเช่นกัน
เราต่างก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องทรัพยากรขาดแคลนกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้ที่ปัญหาความขาดแคลน เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างตั้งแต่การขาดแคลนพลังงาน ปัจจัยการผลิต อาหาร ชิปผลิตอุปกรณณ์อิเล็กทรอนิกส์
สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกได้ เพราะยิ่งโลกพัฒนาไปเท่าไหร่ ความต้องการของมนุษย์ก็ดูเหมือนจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
มาดูกันว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับความขาดแคลนในด้านใดบ้าง และเราใกล้จะเดินทางไปถึงจุดจบของโลกแบบในเรื่อง Interstellar แล้วหรือยัง
1) น้ำ
ปัจจุบันประชากรโลก 1 ใน 10 ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ คาดว่าในปี 2025 กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยในระยะยาว และทั้งโลกอาจจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำกว่า 40% ในปี 2030
ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 20 - 30% ในปี 2050 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร เมือง และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
2) ความหลากหลายทางชีวภาพและอากาศ
บางคนอาจมองว่าป่าไม้ไม่สำคัญ เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตในป่า แต่รู้หรือไม่ว่าทุกๆ วันนี้ บริษัทเกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อมาผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ให้เราใช้ในทุกวัน
คาดการณ์กันว่ากว่าครึ่งของป่าฝนทั่วโลกจะถูกทำลายภายในเวลาเพียง 1 ศตวรรษ และในปี 2030 เราจะเหลือป่าฝนอยู่เพียงแค่ 10% ของที่เคยมีอยู่แต่เดิมเท่านั้น
ทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนมาจากน้ำมือมนุษย์ ที่สร้างมลพิษและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนเสื่อมคุณภาพ ทำให้ความหลากหลายทางธรณีวิทยาต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
3) แร่หายากและโลหะ
ทุกคนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าในชีวิตประจำวันเราเกี่ยวข้องกับแร่หายากและโลหะต่างๆ อย่างไร แต่รู้หรือไม่ว่าโทรศัพท์ที่คุณถืออยู่ ต้องใช้แร่โลหะกว่า 50 ชนิด กว่าจะประกอบขึ้นมาได้ชิ้นหนึ่ง
แร่ที่มักจะถูกพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือลิเทียมและโคบอลต์ ที่ใช้ทำแบตเตอรี่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
นอกจากนี้ แร่ทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น ยังถูกใช้ในการทำแบตเตอรี่ของรถ EV ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวันๆ
นับตั้งแต่ปี 2010 - 2020 ความต้องการแร่ต่างๆ เพื่อเอาไปใช้กับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้นกว่า 50% และคาดว่าจะเพิ่มไปกว่า 600% ในปี 2050
นี่จึงอาจเป็นสิ่งที่เราต้องยอมแลกมากับเทคโนโลยีเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว คือปริมาณความต้องการแร่เพื่อมาเป็นวัตถุดิบจะต้องเพิ่มขึ้นสวนทางกับปริมาณแร่ที่มีอยู่ในธรรมชาติ
4) เกษตรกรรม
ว่ากันว่า ในอีก 40 ปีข้างหน้า โลกของเราจะต้องผลิตอาหารในปริมาณมากกว่าที่ชาวนาผลิตมาตั้งแต่ 8,000 ปีก่อนรวมกันเสียด้วยซ้ำ
และเมื่อดูจากอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าเกษตรกรรมในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็มองว่าเรากำลังจะถึงจุดสูงสุดของการผลิตอาหารแล้ว ซึ่งก็อาจทำให้ในอนาคตเราจะผลิตอาหารออกมาได้น้อยลง และน้อยกว่าความต้องการของประชากร
อีกทั้งในปัจจุบัน ที่ดินทำกินทั่วโลกกำลังจะหมดลง และก็ไม่ง่ายที่จะพัฒนาที่ดินทำกินใหม่ๆขึ้นมาใช้เพื่อการเพาะปลูก เนื่องจากการเพาะปลูกบนที่ดินใหม่ๆ นั้นต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก
5) ขยะมูลฝอย
โดยปกติเกือบทุกประเทศนิยมใช้วิถีฝังกลบขยะ เนื่องจากง่ายและประหยัดต้นทุน ยกเว้นในประเทศแถบยุโรป และประเทศที่มีพื้นที่จำกัดอย่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์
ในปี 2025 คาดว่าหลุมฝังกลบขยะ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาคิดเป็น 8 - 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์
และทุกๆ 1 นาที จะมีขยะพลาสติกจำนวน 1 รถบรรทุก ถูกถมลงไปในมหาสมุทรทุกวันๆ โดยคาดว่าปริมาณจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 รถบรรทุก ในปี 2030
จนกระทั่งในปี 2050 อาจจะกลายเป็น 4 รถบรรทุกเลยทีเดียว
6) อุปกรณ์ประมวลผล (processing power)
ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ความต้องการเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการชิปเพื่อใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจนเกิดความขาดแคลนเป็นระยะๆ
4
นอกจากนี้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์สำหรับรถ EV ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันคนหันมาสนใจการใช้รถ EV กันมากขึ้น
ในอนาคตอันใกล้ การเติบโตของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร 5G, ไฟฟ้า/พลังงานหมุนเวียน, AI/Cloud, รถ EV/ระบบช่วยขับเคลื่อนรถยนต์,IoT, ศูนย์เก็บข้อมูล จะยิ่งส่งผลให้ความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
3
และคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมรถ EV จะเป็นภาคส่วนที่ความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์เติบโตขึ้นมากที่สุด
7) บริการทางด้านสุขภาพ
ความต้องการบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเกินว่าทรัพยากรที่มี เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย
เมื่อมีผู้ต้องเข้ารับบริการทางสุขภาพมากขึ้น ผู้ให้บริการกองทุนสุขภาพทั้งรัฐและเอกชนก็จะต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในปี 2019 ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพมีมูลค่าสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับสองทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าจะโตเร็วกว่าการเติบโตของ GDP
คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในประเทศร่ำรวย จะมากกว่าการเติบโตของ GDP ซึ่งแนวโน้มนี้ก็จะคล้ายๆ กันกับในประเทศตลาดเกิดใหม่
สำหรับในสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ คาดว่าจะมากกว่า 24% ของ GDP ในปี 2040
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในระยะยาวของประเทศใน EU และนอร์เวย์ จะสูงราวๆ 13% ของ GDP ในปี 2060
8) ทักษะและการศึกษา
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในกว่า 69% ของบริษัททั่วโลก ในปี 2021
คาดว่าการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือนี้ อาจเพิ่มขึ้นเป็น 85.2 ล้านคน ในปี 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่จะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือไปกว่า 8 ล้านคน
เวลาพูดถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เราน่าจะนึกถึงประเทศจีน และก็คิดว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือคงไม่น่าเกิดกับประเทศจีน แต่คาดว่าจำนวนแรงงานเหล่านี้จะถึงจุดสูงสุดในปี 2030 แล้วหลังจากนั้นอาจจะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนในที่สุด
ส่วนสหรัฐฯ ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมรายสำคัญของโลก ก็คาดว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 2.5 ล้านคนในอีกทศวรรษข้างหน้า
9) เยาวชน
ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยส่งผลให้ในอนาคตเราจะมีเยาวชนน้อยลง
คาดว่าจำนวนเด็กที่จะเกิดใหม่จะถึงจุดพีคที่ 2.09 พันล้านคนในปี 2057 และจะลดลงต่ำกว่า 2 พันล้านคนในปลายศตวรรษ ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการเกิดของเด็ก ลดลงเหลือ 1.9 คน ต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 คน ทำให้ประชากรโดยรวมเริ่มลดลง
ในปัจจุบัน อัตราการเกิดของเด็กในไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่ำกว่า 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทาง National Assembly Research Service คาดว่าเด็กคนสุดท้ายของญี่ปุ่นจะเกิดในปี 3011 และประชากรคนสุดท้ายในเกาหลีใต้ จะเสียชีวิตราวๆ ปี 2750
10) เวลา
สิ่งสุดท้ายที่ขาดแคลน และคนเรามักจะไม่ได้นึกถึงคือ “เวลา”
เวลาคือทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และไม่สามารถย้อนกลับมาได้ ในโลกทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาดึงดูดเวลาไปจากเรา ทำให้เวลาที่เรามี 24 ชั่วโมงต่อวันอาจไม่พอเหมือนเคย
5
หัวใจหลักของความขาดแคลนทุกอย่าง ก็มาจากจุดตั้งต้นทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐานคืออุปสงค์นั้นมีมากกว่าอุปทาน
ถ้าสิ่งที่ขาดแคลนเป็นสินค้า สุดท้ายแล้วราคาก็จะเป็นตัวปรับให้ทุกอย่างเข้าสู่ดุลยภาพเอง
1
แต่สิ่งที่เราพูดถึงอยู่นั้นคือทรัพยากร ที่บางครั้งเราก็ไม่อาจรอให้ทุกอย่างเข้าสู่ดุลยภาพเองได้ เพราะถึงเวลานั้นมันอาจจะสายเกินไป
จริงอยู่ว่าหากเราจะก้าวไปข้างหน้า เราอาจต้องทิ้งบางอย่างไว้เบื้องหลัง
นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีต่างๆ ก็ก้าวหน้าไปอย่ารวดเร็ว แต่แลกมากับการที่ทรัพยากรต่างๆ กลับเสื่อมถอยลง
จะดีกว่าไหม หากเราคำนึงถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรไปพร้อมๆ กับการพัฒนา เพื่อให้การพัฒนานั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Paramount Pictures และ Warner Bros. Pictures
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา