15 ส.ค. 2022 เวลา 13:00 • การศึกษา
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน คืออะไร?
รู้หรือไม่ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมีหลายแบบ แล้วของไทยเราเป็นแบบไหน.....
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ก็คือตลาดเงินตราต่างประเทศ หรือตลาดปริวรรตเงินตรา (Foreign Exchange Market) ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่างๆ
โดยที่ราคาของเงินตราต่างประเทศสกุลหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกสกุลหนึ่ง จะเรียกว่า อัตราแลกเปลี่ยน หรือ Foreign Exchange Rates
เช่น อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ หรือเงินบาทกับเงินเยน หรือเงินบาทกับเงินหยวน เป็นต้น
โดยนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมี 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
- แบบผูกค่ากับเงินสกุลอื่นแบบตายตัว (Fixed/Pegged)
- แบบผูกค่าเงินแบบอ่อน (Soft Peg)
- แบบลอยตัว (Free Floating)
- แบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float)
📌 แบบผูกค่ากับเงินสกุลอื่นแบบตายตัว (Fixed/Pegged)
คือการกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนมีมูลค่าที่เทียบกับสถุลเงินหนึ่งหรือมูลค่าตามเงินในตะกร้าสกุลเงินที่กำหนดไว้เท่านั้น และจะปรับมูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่บ่อย
โดยประเทศที่เลือกใช้ ผูกค่ากับเงินสกุลอื่นแบบตายตัว ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย เดนมาร์ก จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง บรูไน
📌 แบบผูกค่าเงินแบบอ่อน (Soft Peg)
คือการจำกัดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีต่างๆ และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดแค่ระดับหนึ่ง โดยจะมีการกำหนดกรอบค่าเงินและภาครัฐหรือธนาคารกลางจะเข้ามาแทรกแซงค่อนข้างมาก เพื่อให้ค่าเงินอยู่ในกรอบ
โดยประเทศที่เลือกใช้ อัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกค่าเงินแบบอ่อน ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว เมียนมา
📌 แบบลอยตัว (Free Floating)
คือการปล่อยให้มูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวขึ้นลงตามกลไกตลาด ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐบาลและธนาคารกลาง
โดยประเทศที่เลือกใช้ อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ยูโร สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย
📌 แบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float)
คืออัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา จะขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่มีการแทรกแซงจากภาครัฐหรือธนาคารกลางบ้าง หากไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ มูลค่าการค้าและกระแสเงินลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการคาดการณ์ของผู้เล่นต่างๆ ในตลาดด้วย
โดยประเทศที่เลือกใช้ อัตราแลกเปลี่ยนแบบนี้ ได้แก่ ตุรเกีย บราซิล แอฟริกา เซาท์ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ซึ่งประเทศไทยนั้นได้เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
(ก่อนหน้านั้นเป็นแบบผูกค่าเงินไว้กับทองคำ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปผูกค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่น และเปลี่ยนไปใช้ระบบผูกค่าเงินบาทกับตระกร้าเงิน ตามลำดับ)
โดย ธปท. มีหน้าที่บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อดูแลเสถียรภาพ โดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ ณ ค่าใดค่าหนึ่งโดยเฉพาะ
แต่จะคอยติดตามและดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ
และไม่ให้ผันผวนมากเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยนั่นเองค่ะ
Cr. BOT, moneyguru
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา