26 ส.ค. 2022 เวลา 07:28 • สุขภาพ
Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 3 ความรุ่งเรืองเคลื่อนมาที่ตะวันออกกลาง
ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในตุรกีปัจจุบัน) ศูนย์กลางของอาณาจักรโรมันตะวันออกเมื่อประมาณ 1 พันกว่าปีที่แล้ว
ได้มีปรากฏการณ์สำคัญคือเกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์เติบโตเข้มแข็งขึ้นอย่างมากที่นี่
ความรู้ทางการแพทย์ดั้งเดิมของกรีกโรมันในคัมภีร์ และตำรายาต่าง ๆ ที่เคยเป็นอุปกรณ์เสริมในการบำบัดรักษาโรค ก็เริ่มถูกแปลไปเป็นภาษาอาหรับ ทำให้มีการทดลอง จดบันทึก และนำมาใช้แพร่หลายที่นั่น
ต่อจากนั้นอีกหลายร้อยปี องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะถูกส่งออกจากตะวันออกกลางที่เป็นอารยธรรมมุสลิม กลับเข้าไปที่ยุโรปอีกมากมายทีหลัง
แต่ช่วงแรกหลังกรุงโรมเสื่อมสลาย ความก้าวหน้าทางวิชาการที่อาหรับและเปอร์เซีย (อิหร่าน) เพิ่งจะเริ่มเจริญขึ้น
จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 กรุงแบกแดด ได้พัฒนาขึ้นมากลายเป็นศูนย์กลางทางวิทยาการทุกสาขา รวมทั้งด้านการแพทย์และวิชาเภสัชศาสตร์ของโลกที่ก้าวหน้าอย่างสูงสุดด้วย
แบกแดด ในศตวรรษที่ 10 (Photo Credit: https://www.theguardian.com/)
เภสัชกรวิชาชีพ ถูกแยกออกจากวิชาชีพแพทย์ มีหน้าที่ปรุงยา ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปน้ำมันสำหรับทาหรือตำรับยาที่ใช้ดื่มกิน
พวกเขาต้องปฏิญาณตนว่าจะรักษาจรรยาบรรณของเภสัชกร และผ่านการเรียนหลักสูตรที่สอนด้วยตำราของกรีกโรมัน รวมทั้งตำราสมุนไพรจากเปอร์เซียและอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
เภสัชกรคนสำคัญของยุคนี้มีชื่อว่า อะบูมูซา ญาบิร บินฮัยยาน (AD 721-815) หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า เกเบอร์ (Geber)
ชายคนนี้เป็นนักเคมีที่ยิ่งใหญ่มาก จนต่อมาได้กลายเป็นบิดาแห่งเคมี
ญาบิรเขียนตำราที่ถูกแปลเป็นภาษาของยุโรปหลายภาษา เช่น ภาษาลาติน ภาษาฮีบรู ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ความรู้ของญาบิรที่สร้างขึ้นมาใหม่ที่ตะวันออกกลางนี้มีอิทธิผลต่อนักเคมีชาวยุโรปต่อมาอีกหลายศตวรรษ
ญาบิรผู้เชื่อมโยงวิชาเคมีเข้ากับการแพทย์ (https://www.arabamerica.com/history-of-arabic-alchemy/)
หนังสือของญาบิรที่มีชื่อว่า Book of Poison ถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อครั้งแรกระหว่างวิชาเคมีกับการแพทย์
ความเชื่อหลักที่ฉีกแนวออกจากตะวันตกในเวลานั้นคือ ญาบิรและแวดวงวิชาการตะวันออกเชื่อว่าสารอนินทรีย์จำพวกแร่ธาตุ (หรือสารประกอบที่ไม่ได้มีที่มาจากสิ่งมีชีวิต) สามารถมีฤทธิ์ในทางยาต่อสุขภาพร่างกายของคนไข้ กล่าวคืออาจนำมาใช้รักษาโรคได้
แร่ธาตุหรือสารประกอบทางเคมีก็ใช้เป็นยาได้
อะบูมูซา ญาบิร บินฮัยยาน
ปราชญ์ฝั่งตะวันตกถือว่านี่เป็นความคิดที่แปลกและท้าทายมาก เพราะพวกตนยังยึดถือปรัชญาของกรีกโรมัน ซึ่งถือคติว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยพลังหรือของเหลวแห่งชีวิต ซึ่งควรต้องมาจากสารอินทรีย์ เป็นคนละเรื่องกับธาตุทางเคมีอย่างแน่นอน
เราจะเห็นว่าความเชื่อ (หรือความงมงาย) นี้ทรงอิทธิพลในตะวันตกมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง
ไม่เท่านั้น แนวคิดดั้งเดิมเรื่องของเหลวทั้ง 4 ของกรีก ก็ได้ถูกนำกลับมาพัฒนาต่อยอดโดยนักปราชญ์ชาวเปอร์เซียในยุคถัดมาอีกคนหนึ่งชื่อ อิบน์ ซีนา หรือแอวิเซนนา (AD 980-1037) เขาได้แต่งตำราการแพทย์อันโด่งดังชื่อ Canon of Medicine ที่ถูกใช้ต่อมาเป็นเวลาหลายร้อยปีทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง
ภาพหนึ่งจากหนังสือ Canon of Medicine เล่มที่ 5 อธิบายอวัยวะภายใน กระโหลกศีรษะและกระดูก (Photo Credit: https://board.postjung.com/735194)
แอวิเซนนาบอกว่าการให้ยาหรือบำบัดรักษาใด ๆ ต้องคำนึงถึงลักษณะความเป็นปัจเจกที่ไม่เหมือนกันของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นยุคนี้ก็คงเรียกว่า การแพทย์เฉพาะบุคคล (personalized medicine) เช่นการให้ยาตามกรุ๊ปเลือดหรือยีน
ตำราของแอวิเซนนาระบุชื่อยาไว้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งรายละเอียดวิธีรักษาโรคชนิดต่าง ๆ ไว้อีก 800 กว่าชนิด
แอวิเซนนา (Photo Credit: Michel Bakni)
อะไรที่เจริญขึ้นสูงสุดก็มีวันเสื่อม
เมื่อวิทยาศาสตร์ในตะวันออกกลางเริ่มเสื่อมลง โดยผู้นำหันไปเคร่งศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ วิทยาการทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์ก็เคลื่อนย้ายกลับไปที่ตะวันตก ณ บริเวณประเทศอิตาลี พร้อมกับหอบเอาอารยธรรมและองค์ความรู้ที่เคยเบ่งบานที่โลกตะวันออกไปด้วย
ด้านหน้าของโรงพยาบาล Santa Maria della Scala ที่เมือง Siena ตอนเหนือของอิตราลี ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ (Photo Credit: Jastrow, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=993352)
แต่โชคไม่ดีที่เวลานั้นยุโรปเริ่มเข้าสู่ยุคกลาง ที่เต็มไปด้วยสงคราม อัศวิน แม่มด และโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของกาฬโรค ชีวิตของผู้คนยากลำบากทำให้ต้องหันกลับไปพึ่งพิงศาสนามากขึ้น พร้อมกับการเรืองอำนาจขึ้นของศาสนจักรโรมันคาธอลิก
ภาพเขียน The Battle of Crécy สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในสงคราม 100 ปี (Photo Credit: From Chapter CXXIX of Jean Froissart's Chronicles)
นักคิดอิสระ นักวิชาชีพด้านเคมีและเภสัชศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองบัดนี้แทบไม่มีที่อยู่ที่ยืน เราจึงแทบไม่เห็นความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
ยาซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นอุปกรณ์เสริม และมีทีท่าว่าอาจจะเติบโตขึ้นมาเป็นเครื่องมือสำคัญทางการแพทย์ได้ ก็กลับฝ่อลงไป
แล้วโลกก็นับเวลาถอยหลังเข้าสู่ยุคมืดทางวิชาการ
References & Further Readings
โฆษณา