2 ก.ย. 2022 เวลา 04:54 • สุขภาพ
Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 2 ยาของกรีก-โรมัน
มาถึงยุคอารยธรรมกรีกโบราณ (ก่อนที่จะเกิดศาสนาคริสต์) ซึ่งต่อมาเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมและวิทยาการของโลกตะวันตกยุคใหม่
ชาวกรีกก็เชื่อว่าเหตุอาเภทภัยรวมทั้งโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นจากความพิโรธของเทพเจ้า (ซึ่งมีหลายองค์ และไม่ใช่พระเจ้าของศาสนาคริสต์)
วิธีเดียวที่จะแก้คือต้องทำให้เทพเจ้าหายโกรธโดย ทำการบูชายัญ หรือใช้การร่ายมนต์คาถา
แต่ไม่นานก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เกิดจากหมอธรรมดาที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง
เขามีชื่อว่าฮิปโปเครติสแห่งโคส (460 – c. 370 BC) มีชีวิตในยุคที่ใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ถือเป็นยุคทองของกรีกด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย
ฮิปโปเครติส หมอสมัยกรีกที่มีหลักฐานพบว่ามีบันทึกการใข้ยาสมุนไพร (Credit: Rafa Damrongchai)
ชายคนนี้เป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่ปฏิเสธอำนาจเหนือธรรมชาติ จัดการแยกการแพทย์ออกจากศาสนาหรือไสยศาสตร์ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ป่วยรวมทั้งสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็นำข้อสังเกตมาพิจารณาหาวิธีรักษาผู้ป่วย
หลักที่ฮิปโปเครติสสอนลูกศิษย์คือให้เก็บประวัติคนไข้ และสอนให้บันทึกข้อมูลการบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบ แล้วใช้ข้อมูลที่มีอยู่จริงในการรักษา
เขามีงานเขียนมากมาย ที่ต่อมาลูกศิษย์ลูกหาได้รวบรวมขึ้นเป็นตำรับการแพทย์ที่ยาวเหยียด
แนวทางของฮิปโปเครติสยังใช้ได้จนถึงปัจจุบันนี้ จึงได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการแพทย์-Father of Medicine” เป็นคนวางรากฐานของการแพทย์ตะวันตกในปัจจุบัน
การเจ็บป่วยไม่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจเหนือธรรมชาติ
ฮิปโปเครติสแห่งโคส
ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ฮิปโปเครติสของเรายังกำหนดเป็นหลักปฏิบัติ ให้แพทย์ใหม่ต้องให้คำปฏิญาณที่จะรักษาจรรยาบรรณแพทย์ โดยสาบานกับเทพอพอลโล่ (ในยุคต่อมาเมื่อเกิดคริสตศาสนาแล้วจึงสาบานกับพระเจ้าในศาสนาคริสต์แทน)
หลักจริยธรรมสำหรับแพทย์ (Hippocratic oath) นี้ยังมีใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน
มีหลักฐานว่าฮิปโปเครติสเองใช้ยาน้อยมาก เขาใช้ยาเป็น "อุปกรณ์เสริม" เช่นกัน
ส่วนหนึ่งเพราะยาเองก็ยังเพิ่งจะมีใชักันไม่มาก
และการรักษาของเขาเป็นแบบภาพรวม และใช้แนวคิดที่ใช้พลังของธรรมชาติในการบำบัดรักษา และการปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขี้น เช่น การบริโภคน้ำผึ้งกับน้ำส้มสายชู จัดการสภาพแวดล้อมอย่างแสงสว่างให้พอดี อากาศให้ถ่ายเท ซึ่งก็จะช่วยให้คนไข้สบายตัวและรักษาโรคบางอย่างที่ไม่ซับซ้อนได้
ทว่ามามีการค้นพบว่าเขาใช้เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือผ่าตัดเป็นจำนวนมากในการรักษาคนไข้ และไม่นานมานี้ยังมีคนไปค้นพบบันทึกสูตรยาสมุนไพรของฮิปโปเครติสที่ปรากฏรูปภาพของสมุนไพรที่เขาใช้ด้วย
ทฤษฎีทางการแพทย์อันหนึ่งที่เป็นหลักมาตั้งแต่ยุคฮิปโปเครติส คือทฤษฎีของเหลว (Humourism) ที่กล่าวไว้ว่า โรคทั้งหลายล้วนเกิดจากความผิดปกติของของเหลว (Humors) ในร่างกายทั้ง 4 ได้แก่ เลือด (Blood), น้ำดีเหลือง (Yellow bile), น้ำดีดำ (Black bile) และเสมหะ (Phelgm)
เชื่อกันว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหมดมาจากความไม่สมดุลของของเหลวเหล่านี้ ทฤษฎีนี้แม้จะไม่ได้มีพื้นฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแพทย์ที่ไม่พึ่งพิงอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ
ปรมาจารย์สำคัญคนต่อมาคือคลาวดิอุส เกแลน (AD 129 - 216) แพทย์และนักปรัชญาชาวกรีกซึ่งมีชื่อเสียงขึ้นมาในยุคโรมัน และได้กลายเป็นแพทย์ประจำตัวของจักรพรรดิโรมันหลายพระองค์
เกแลนได้หยิบเอาทฤษฎีของเหลวทั้ง 4 ของฮิปโปเครติสมาย้ำ ตีความเพิ่ม และแพร่ขยายจนกลายเป็นทฤษฎีกระแสหลักในการบำบัดรักษาโรค
เกแลน ผู้ทรงอิทธิพลทางการแพทย์แห่งโรม (Photo Credit: https://www.sapaviva.com/claudius-galen-of-pergamon/)
อิทธิพลของเกแลนต่อการแพทย์นั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าเกแลนได้เขียนตำราการแพทย์ที่มีความละเอียดไว้ราว 400 เล่ม ความยาวรวมถึง 1 ล้านหน้า ภายในนั้นอธิบายตำรับยาใหม่ ๆ มากมาย
แต่ด้วยอิทธิพลนี้ ก็ทำให้ความรู้และความคิดของแพทย์ตะวันตกที่ยึดถือกันแบบนี้ถูกแช่แข็งไว้อย่างยาวนานต่อมาเกินกว่า 1,300 ปี
เหตุการณ์พาไปหลังจากที่เกแลนตายลง ผ่านไปไม่นาน กรุงโรมก็เสื่อมสลายไป
เชื่อกันว่าสาเหตุหลักของการล่มสลายมาจากการระบาดของโรคมาลาเรีย (ซึ่งยังเป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน เราจะได้หยิบมาคุยกันใน EP หลัง ๆ)
หลักฐานจากฟอสซิลฟันอายุ 2,000 ปีเผยให้เห็นร่องรอยการระบาดของโรคมาลาเรียทั่วคาบสมุทรอิตาลี (Photo Credit: Wired Magazine, 08.12.2016)
แล้วอารยธรรมมนุษย์ก็ได้ย้ายศูนย์กลางไปอยู่บริเวณตะวันออกกลาง ที่ปัจจุบันนี้เป็นประเทศอิรัก อิหร่าน ตุรกี
เพราะที่นั่นจะเกิดนวัตกรรมทางความรู้เรื่องยาของมนุษย์ ที่ลึกล้ำขึ้นไปอีกระดับหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ...
References & Further Readings
Ancient teeth reveal the Roman Empire was rife with malaria
โฆษณา