26 ส.ค. 2022 เวลา 07:27 • สุขภาพ
Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 1 ยาในยุคโบราณ
เราตั้งคำถามประเดิมไว้ว่า ก่อนที่ยาจะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่เติบใหญ่และใช้เทคโนโลยีที่ไปไกลเกินกว่าคนทั่วไปจะคิดฝัน สมัยก่อนยามาจากไหน เราเริ่มใช้ยากันมาอย่างไร?
เริ่มค้นหาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์กันเลย
หลักฐานโบราณที่ขุดค้นได้บอกเราว่า อย่างน้อยอาหารและเครื่องนุ่มห่มเป็นสิ่งที่มนุษย์สมัยนั้นจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต ที่พักอาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็มีพบบ้าง อย่างน้อยก็ในถ้ำ
แน่ละ ความเจ็บป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุย่อมมีอยู่แน่นอน ดังปรากฏหลักฐานจากโครงกระดูกหรือซากฟอสซิลต่าง ๆ ที่บางครั้งเห็นร่องรอยของโรคเหลือค้างอยู่ที่กระดูกและเนื้อเยื่อ
ร่องรอยของโรคมะเร็งที่พบบนฟอสซิลของบรรพบุรุษของมนุษย์ อายุ 1.7 ล้านปี (Photo Credit: Patrick Randolph-Quinney, University of Central Lancashire/University of the Witwatersrand)
ที่อาจยังไม่มีข้อสรุปคือ เราไม่ค่อยแน่ใจว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มียาใช้หรือไม่ เพราะค้นหายาจากกระดูกโบราณนับเป็นเรื่องที่ยากมาก
แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง นักโบราณคดีพบหลักฐานว่า เมื่อราว 8,000-10,000 ปีก่อน มนุษย์ยุคหินใหม่ ในหลายภูมิภาคหลายวัฒนธรรม เริ่ม "เสพ" สารกล่อมประสาทที่ทำให้เคลิบเคลิ้มหรือ "เมา" กันมานานแล้ว ในรูปของพืช เห็ด และเครื่องดื่มที่ทำจากการหมัก
มีการค้นพบแม้กระทั่งไร่ฝิ่นที่ปลูกโดยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ใกล้กรุงโรม ประเทศอิตาลีปัจจุบัน และขุดพบดอกฝิ่นในชุมชนโบราณที่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และสเปน และยังพบดอกฝิ่นติดอยู่ที่ฟันของซากมนุษย์โบราณที่สเปน พบกระบองเพชรที่มีสารมึนเมาที่เปรู และคราบหมากที่ติดที่ฟันของมนุษย์โบราณที่ฟิลิปปินส์ รวมถึงเมล็ดกัญชาที่ชุมชนโบราณในยุโรปและเอเชียหลายแห่งด้วย
ใช่แล้ว มนุษย์เริ่มเสพยามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
พอเริ่มเข้าสู่ยุคที่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ ก้าวแรกในการใช้ยาของมนุษย์ที่เราพบหลักฐาน น่าจะเกิดขึ้นในยุคของอารยธรรมสุเมเรีย (บริเวณประเทศอิรักในปัจจุบัน) และอียิปต์โบราณเมื่อราว 5,000 ปีก่อน
ตัวอย่างอักษรลิ่ม (cuneiform) ของชาวสุเมเรีย ที่กล่าวถึงการใช้พืชสมุนไพรประกอบในการบำบัดรักษาผู้ป่วย (Photo Credit: https://researchoutreach.org/articles/investigating-healing-arts-ancient-mesopotamia/)
ชาวสุเมเรียบันทึกไว้ในจารึกอักษรลิ่มว่า พวกเขาใช้ยาที่มาจากพืช หลายอย่างเป็นพืชมึนเมา เช่นดอกฝิ่น แมนดราโกรา ไธม์ และสะระแหน่ ทั้งในรูปน้ำมันและสูตรตำรับยาปรุง ยุคนั้นมีการรับรู้คุณสมบัติทางการแพทย์ของกัญชาแล้ว นอกจากนี้ยังมีการใช้อวัยวะของสัตว์ในทางการแพทย์ด้วย
ส่วนอิยิปต์นั้นแม้ว่าโลกทรรศน์ของพวกเขาจะให้ความสำคัญกับชีวิตหลังความตาย และมีเทคโนโลยีมากมายในการเก็บรักษาชิ้นส่วนของร่างกาย หรือของใช้ต่าง ๆ ไว้ให้ผู้ตายได้ใช้ในโลกหลังความตาย แต่ก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างละเอียดบนใบปาปิรุสกว่า 100 หน้า
คัมภีร์ที่มีชื่อเรียกว่า Egyptian Pharmaopoiea นี้ มีคนนับได้ว่าระบุถึงอาการของโรคไว้ 877 อย่าง และยังบอกวิธีการใช้หรือวิธีปรุงยาสมุนไพรจากน้ำมันละหุ่ง, ว่านหางจระเข้, กำยาน ฯลฯ ในการรักษาโรคเหล่านั้น
ความเชื่อในเทพเจ้ากับการใช้ยารักษาโรค เป็นของคู่กันใน อารยธรรมอิยิปต์ (Photo Credit: https://www.thearchaeologist.org/blog/medicine-in-ancient-egypt)
รวมทั้งชาวอิยิปต์ก็ได้รับฝิ่นมาจากชาวสุเมเรียด้วย
ตำรับยาอายุรเวทของอินเดียโบราณเมื่อ 3,000-5,000 ปีก่อน ก็บันทึกไว้ถึงวิธีการเตรียมสมุนไพรจำพวกลูกกระวานและอบเชยเพื่อใช้เป็นยา ถึงทุกวันนี้แม้ในโลกตะวันตกก็ยังมีการใช้ยาอินเดียโบราณบางอย่างอยู่
ตำรับยาจีน (The Chinese pharmacopoeia) ก็คล้ายคลึงและเก่าแก่พอ ๆ กัน ล้วนมีบันทึกเกี่ยวกับการใช้ยาไว้ก่อนโลกตะวันตก
มนุษย์ในยุคโบราณเขาใช้ยาเหมือน ๆ กันทั่วโลก คือนำผลผลิตจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุเท่าที่หาได้ (ส่วนใหญ่เป็นพืช) มาใช้แบบลองผิดลองถูก จนกระทั่งค้นเจอคุณสมบัติบางอย่างที่ใช้รักษาโรคได้บ้าง ก็นำมาบันทึกไว้ให้เป็นระบบและถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา
แต่บรรดายาเหล่านี้เป็นได้เพียงส่วนเสริมในการบำบัดทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ ความเชื่อหลักของมนุษย์ต่อสาเหตุการเกิดโรคยังถูกครอบด้วยอิทธิฤทธิ์ทางไสยศาสตร์หรือการกระทำของพระเจ้าที่เหนือธรรมชาติ แม้แต่ยารักษาโรคก็ถือว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า
อย่าลืมว่าพระเจ้าของคนโบราณ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้นจากจินตนาการล้วน ๆ หรือบางกรณีก็อาจเคยเป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริงแต่มีความรู้ความสามารถสูงจนหลังสิ้นชีวิตไปถูกยกย่องขึ้นจนเป็นพระเจ้าก็มี
จึงขอเรียกยุคแรกของยาว่าเป็น "ยุคที่ยาถูกใช้เป็นอุปกรณ์เสริม" ให้กับไสยศาสตร์
[Reference & Further Readings]
Ancient oncogenesis, infection and human evolution
Pharmacopoeia in ancient Egypt
โฆษณา