15 ส.ค. 2022 เวลา 05:02 • ไลฟ์สไตล์
“สิ่งที่ฆราวาสขาด สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอนี้อันหนึ่ง
อีกอันหนึ่งก็คือความต่อเนื่องของการปฏิบัติ”
“ … ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ในโลกมันมีแต่ความทุกข์หรอก มันสุขหลอกๆ
ชีวิตมันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
ไม่มีหลักประกันของชีวิตที่แท้จริงเลย
เราถึงต้องร่อนเร่อยู่ในสังสารวัฏไม่รู้จักจบจักสิ้น
ไม่มีหลักประกันว่าวันข้างหน้า เราจะดีขึ้นหรือจะเลวลง
จะไปเกิดในภพในภูมิอะไร
ไม่มีใครช่วยเราได้ ก็ต้องพยายามช่วยตัวเองให้ได้
ศึกษาปฏิบัติธรรมไป วันละเล็กวันละน้อยก็ยังดี
อย่าหยุดนิ่ง อย่ายอมแพ้
มันเหมือนไฟกำลังไหม้บ้านเราอยู่
ถ้าเรามัวแต่ท้อแท้ หรือมัวแต่หลงเพลิน
สุดท้ายก็โดนไฟคลอกตาย
ฉะนั้นอย่าประมาท
โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย
ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง
อย่างเราไปทางทะเลมันก็มีพวกชูชีพ
พวกเรือลำเล็กๆ เอาไว้อาศัยเวลาเรือใหญ่มันล่ม
ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ
ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง
ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว
ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้
ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ
สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล
สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ
สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา
การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้
จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง
เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
เหมือนเราอยู่ในที่มืดอยู่ในก้นเหวลึกๆ เลย มืดตื๋อเลย
ต้องพยายามสำรวจตรงไหนจะเป็นทางรอดของเรา
มีแสงสว่างปรากฏขึ้นบนยอดภูเขา
เป็นจุดเป็นดวงเล็กๆ
นั่นคือแสงสว่างที่พระพุทธเจ้าท่านทำ ประทานมาให้
ท่านเป็นผู้จุดโคมไฟในความมืด
เพื่อให้คนซึ่งมีปัญญาสำรวจไป
ว่าทางไหนจะออกจากที่มืด
ออกจากหุบเหว ออกจากถ้ำนี้ได้
1
พระพุทธเจ้าพยายามจุดไฟขึ้นมาให้เราเห็น
เรามีหน้าที่ต้องตะเกียกตะกายเข้าไปหาความสว่างนั้น
ในพระไตรปิฎกคนซึ่งเข้าใจธรรมะแล้ว
มักจะเปรียบพระพุทธเจ้าเป็นผู้จุดประทีป
โดยหวังว่าคนซึ่งมีตาจะมองเห็น
ประทีปที่ท่านให้ไว้คือหลักของการปฏิบัตินั่นเอง
คือศีล สมาธิ และปัญญา
ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ให้ดี 5 ข้อเท่านั้น
ไม่ต้องรักษาเยอะหรอก
ในขั้นโสดาบัน สกทาคามี แค่ศีล 5 ก็พอแล้ว
จะฝึกตัวเองระดับพระอนาคามีควรจะถือศีล 8
ฉะนั้นอย่างพวกเรามันเป็นขั้นต้นๆ ของการปฏิบัติ
ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้
แล้วก็ต้องฝึกสมาธิ ละเลยไม่ได้
การฝึกสมาธิไม่ใช่แค่ฝึกให้จิตสงบ
สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ใช่มีแค่ความสงบ
สมาธิที่มุ่งไปด้วยความสงบนั้นมีมาก่อนพระพุทธเจ้า
พวกฤษีชีไพรพวกนี้เขาก็ทำได้
ทำจนกระทั่งเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีอภิญญา
สิ่งเหล่านี้มีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก
สมาธิของพระพุทธเจ้าคือความตั้งมั่นของจิต
เป็นสภาวะซึ่งจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว
เราต้องพยายามฝึกทุกวันๆ
เพราะจิตของเรานั้นมีธรรมชาติร่อนเร่ไปทางตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจตลอดเวลา
เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น
หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย
หลงไปคิดนึกทางใจ
สมาธิคือสภาวะซึ่งจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
จิตเรามันมีธรรมชาติคุ้นเคยที่จะร่อนเร่ไปเรื่อยๆ
เราต้องมาฝึกสมาธิ
สมาธิก็คือสภาวะซึ่งจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
เมื่อไรลืมตัวเอง ลืมกายลืมใจ
เมื่อนั้นฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ
เมื่อไรเพ่งกาย เมื่อไรเพ่งใจ
มีสมาธิแต่มันเป็นสมาธิธรรมดา
ไม่ใช่สัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าสอน
สมาธิสงบ เราเพ่งกายก็สงบ เพ่งใจมันก็สงบ
สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ใช่แค่สงบ
มันสงบด้วยตั้งมั่นด้วย
ตั้งมั่นก็คือไม่หลงไปไม่ไหลไป
เป็นภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เราต้องฝึก
พอจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว
เราถึงจะเจริญปัญญาได้
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ
ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้น
ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จำไชพวกเราเรื่องของสมาธิ
พูดมากเลยเรื่องนี้ มันคือสิ่งที่ฆราวาสขาด
หลวงพ่อพูดมาตลอด
สิ่งที่ฆราวาสขาด สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอนี้อันหนึ่ง
อีกอันหนึ่งก็คือความต่อเนื่องของการปฏิบัติ
ถ้าสมาธิถูกต้องแล้วเพียงพอแล้ว
จะต้องเดินปัญญาต่อให้ได้
ไม่หยุดอยู่แค่สมาธิ ใช้ไม่ได้ สู้กิเลสไม่ได้จริง
ฉะนั้นถึงจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามาก ว่าจิตเราต้องตั้งมั่น
อย่าเผลอ
เผลอก็คือจิตฟุ้งซ่าน มีกายลืมกาย มีจิตลืมจิต
อย่านั่งเพ่งนั่งจ้อง อย่าเพ่งของข้างนอก
เช่น เพ่งเทียน เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ
เพ่งในร่างกายก็เพ่งลมหายใจ
เพ่งกระดูก เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง นี่คือเพ่งทั้งนั้น
สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิไม่ใช่สมาธิเพ่งจ้อง
เป็นความตั้งมั่น
ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นเราไปเพ่งไว้ ปัญญาไม่เกิด
สงบเฉยๆ เรียกว่าสงบโง่ๆ
บางทีโมหะแทรกเลย
นั่งสมาธิไปแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว
อันนั้นเป็นสมาธิที่มีโมหะครอบงำอยู่ ใช้ไม่ได้
เราจะต้องพยายามฝึกจิตใจของเราให้มีกำลัง
ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
วิธีฝึก สอนอยู่เสมอเลย ทำได้ตั้งหลายแบบ
แต่หลักสำคัญก็คือการเรียนรู้จิตตนเอง
เพราะฉะนั้นบทเรียนที่จะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง
ถึงเรียกว่าจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตัวเอง
ตอนหลวงพ่อบวชใหม่ๆ หลวงพ่ออยู่ที่เมืองกาญจน์ฯ ที่สวนโพธิ์ ญาติโยมเข้าไปหาหลวงพ่อสอนบอกให้ไม่เผลอ ไม่เพ่ง รู้เนื้อรู้ตัวไว้
ตอนนั้นก็มีพวกนักปฏิบัติหัวเราะเยาะเลย ทำไมหลวงพ่อไม่สอนศีล สมาธิ ปัญญา
ศีลต้องสอนอยู่แล้ว
แล้วที่สอนว่าไม่เผลอไม่เพ่งนั่นคือสอนสมาธิ
เนื้อแท้ของสัมมาสมาธิมันเป็นสมาธิที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ไม่เผลอไปที่อื่น แล้วก็ไม่นั่งเพ่งนั่งจ้องโง่ๆ อยู่แค่นั้น
ฉะนั้นที่บอกไม่เผลอ ไม่เพ่งนั้นคือเรื่องของสมาธิทั้งนั้นเลย
เพียงแต่ไม่ได้พูดคำว่าสมาธิมากมาย
เพราะว่าฟังแล้วมันน่ากลัว
พวกเราฝึกสมาธิแบบมิจฉาสมาธิ มานานแสนนานนับภพนับชาติกันไม่ถ้วน พอได้ยินคำว่าสมาธิก็จะเพ่งลูกเดียว เพราะมันเคยชิน ตอนนั้นหลวงพ่อเลยเลี่ยง พูดคำว่าไม่เผลอ ไม่เพ่ง
ถ้าเผลอก็มีสติรู้ทัน ถ้าเพ่งก็มีสติรู้ทัน
เบื้องต้นต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งให้จิตมีเครื่องอยู่
มันคล้ายๆ จุดสังเกต
เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
พอจิตเราเผลอมันก็ลืมการหายใจ
หรือลืมพุทโธไปคิดเรื่องอื่น
ถ้าเราเคยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธจนเคยชิน
มันคิดเรื่องอื่นแป๊บเดียว มันก็จะรู้ทันว่า
เฮ้ย นี่หลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว
ทันทีที่เรามีสติรู้ว่าจิตหลงไป เผลอไป
ทันทีนั้นความไม่หลง ความไม่เผลอ
ความรู้เนื้อรู้ตัวก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นพวกเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วถ้าจิตเราหนีไปจากกรรมฐานของเรา เรามีสติรู้ทัน
การที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง
บางทีจิตไม่หนีไปที่อื่นหรอก
แต่จิตไหลเข้าไปอยู่ ไปจม ไปแช่ ในอารมณ์กรรมฐานอันนั้น
อย่างเรารู้ลมหายใจจิตไม่หนีไปที่อื่นแล้ว
แต่จิตไหลเข้าไปจมอยู่ในลมหายใจ
อันนั้นคือการติดเพ่งแล้ว
มันเพ่งอยู่ที่ลม ลืมโลก ลืมกาย ลืมใจ
เหลือแต่ลมอันเดียว
หรือบางคนดูกระดูก พิจารณากระดูก ดูลงไปเรื่อยๆ
หรือบางคนดูผม ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก อันใดอันหนึ่ง
ฝึกให้ชำนาญ
อย่างดูกระดูกอยู่ หรือดูลมอยู่
บางทีจิตมันถลำลงไปอยู่ที่ลมหายใจ
จิตมันถลำลงไปอยู่ที่กระดูก
อันนั้นมีสมาธิแต่เป็นสมาธิที่จิตไปเพ่งอารมณ์อันเดียว
ยังไม่ใช่สมาธิที่เราต้องการที่แท้จริง
สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น
เป็นสมถกรรมฐานเฉยๆ เอาไว้พักผ่อน
เอาไว้ทำให้จิตมีกำลัง
แต่สมาธิที่จะใช้เดินปัญญาได้
เป็นสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น
สมาธิที่จิตตั้งมั่นมันมีลักษณะที่ไม่เผลอไป
แล้วก็ไม่เพ่งเอาไว้
ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนว่าไม่เผลอ ไม่เพ่ง
ถ้าเผลอก็ให้รู้ทัน
เช่นเราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตเผลอไปเรารู้ทัน
จิตที่เผลอก็ดับ จิตที่รู้ขึ้นมาก็จะเกิดขึ้น ตั้งมั่นขึ้นมา
หรือเวลาเราภาวนา
จิตเราถลำลงไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน
ก็รู้ทันว่าจิตถลำลงไปแล้ว
ไม่ต้องไปฝืน แค่รู้เฉยๆ ว่าจิตมันถลำแล้ว
เช่น จิตมันไหลไปอยู่ที่ลม รู้ทัน
จิตมันไหลออกไปอยู่ในความว่างข้างนอก รู้ทัน
จิตไหลลงไปอยู่ที่กระดูก รู้ทัน
ไม่ต้องยุ่งอะไรกับมันหรอก
ให้รู้ทันว่ามันไหลไปแล้ว
แล้วเดี๋ยวมันจะกลับมาเอง จะกลับมาได้เอง
1
จิตผู้รู้ : มหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
จิตหลงไปเรารู้ทัน
จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน
ฝึกบ่อยๆ ในที่สุดเราก็จะได้ตัวรู้ขึ้นมา
จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
จิตชนิดนี้ถ้าพูดภาษาอภิธรรม คือมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง
ฟังแล้วน่ากลัวไม่รู้เรื่องสักคำ
เป็นมหากุศลจิต จิตที่เป็นกุศล
ก็คือจิตซึ่งมันไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
อย่างเรานั่งภาวนาเราอยากสงบ อันนี้จิตโลภ
ภาวนาแล้วจิตเราฟุ้งซ่านนั้นจิตหลง
ภาวนาแล้วก็หงุดหงิดรำคาญนั่นจิตโกรธ
ฉะนั้นตัวจิตผู้รู้ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
แล้วมีลักษณะสำคัญของความเป็นกุศลหลายอย่าง
จิตที่เป็นกุศลมันเบา
ถ้าเราภาวนาแล้วจิตแน่นอึดทึ่ดเลย ไม่ถูก
บางคนแน่นเข้ามาถึงร่างกายเลย
ร่างกายก็แน่นๆ หนักๆ อันนั้นไม่ใช่จิตที่เป็นมหากุศล
จริงๆ จิตต้องนุ่มนวล
1
ถ้าภาวนาแล้วจิตแข็งกระด้างแข็งเป๊กเลย
บางคนภาวนา จิตที่แข็งกระด้างอย่างนั้นไม่ใช่มหากุศลจิต
จิตที่เป็นกุศลมันนุ่มนวล อ่อนโยน เบา
มันเบา มันนุ่มนวล อ่อนโยน มันคล่องแคล่วว่องไว
ไม่ใช่นิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่ตลอดเวลา อันนั้นไม่ใช่
ฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วจิตเราซื่อบื้อนิ่งๆ อยู่ ไม่ใช่
จิตที่เป็นกุศลจริงๆ เป็นผู้รู้จริงๆ มันคล่องแคล่วว่องไว
มันขยันในการเจริญปัญญา
ไม่ได้ไปติดความนิ่งความว่างอยู่
แล้วก็มันซื่อตรง มันซื่อตรงในการรู้อารมณ์
ไม่ได้รู้เพราะอยากรู้
พอรู้แล้วก็ไม่ได้รักษาอารมณ์เอาไว้
หรือก็ไม่ได้รักษาจิตเอาไว้
รู้แล้วยินดี รู้ทัน รู้แล้วยินร้าย รู้ทัน
จิตมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง
มันจะรู้ซื่อๆ รู้อย่างซื่อๆ รู้ตรงไปตรงมา
ไม่ใช่รู้แบบมารยามาก
รู้แบบไม่ซื่อ หาทางจะทำจิตให้ดี ให้สุข ให้สงบ
อย่างนี้รู้ไม่ซื่อ
รู้ซื่อๆ เป็นอย่างไร
จิตไม่ดีรู้ว่าไม่ดี จิตไม่สุขรู้ว่าไม่สุข
จิตไม่สงบรู้ว่าไม่สงบ รู้ซื่อๆ
เพราะฉะนั้นเราต้องค่อยๆ พัฒนา
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตนเองไป
เรียกว่าจิตตสิกขา
แล้วสุดท้ายเราจะได้จิตผู้รู้ เป็นมหากุศลจิต
ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง
มีความเบา มีความอ่อนโยน นุ่มนวล
คล่องแคล่ว ว่องไว ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ขยันทำงาน
ไม่ใช่ขี้เกียจขี้คร้านนิ่งๆ เฉยๆ
นั่นลักษณะของจิตผู้รู้ มันเป็นกุศล ญาณสัมปยุต
เป็นจิตที่เดินปัญญาได้ ประกอบด้วยปัญญา
1
เวลาสติระลึกรู้กายจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้อยู่
แล้วถ้าจิตเราเป็นผู้รู้อย่างดีมันจะเกิดปัญญาขึ้น
มันจะเห็นไตรลักษณ์
เพราะฉะนั้นมันจะมีการเห็นไตรลักษณ์กำกับมาด้วย
ไม่ใช่รู้อารมณ์อยู่เฉยๆ
ถ้ารู้อารมณ์อยู่เฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ฉะนั้นจิตที่จะใช้เดินปัญญา
ที่หลวงพ่อเรียกว่าจิตผู้รู้ๆ ก็เป็นจิตที่เป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต
คือมันมองเห็นไตรลักษณ์
อีกตัวหนึ่งก็คือ อสังขาริกัง
อสังขาริกังนี้เราไม่ได้เจตนา
หมายถึงเราไม่ได้จงใจทำให้เกิด ไม่ต้องเร้าให้เกิด
อย่างบางทีเราอยากมีจิตผู้รู้
ตอนนี้จิตเราหลงไปคิด เราก็พยายามฝืนๆๆๆ
พยายามฝืนตัวเองให้ตื่นขึ้นมา ให้จิตมันรู้ตัวขึ้นมา
อันนั้นจงใจทำให้เกิด
บางทีก็ได้ผู้รู้ขึ้นมา แต่เป็นผู้รู้ที่ไม่มีคุณภาพเท่าไร
เป็นผู้รู้ที่เหน็ดเหนื่อยเกินไป ฝืนๆ
อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน ฝืนจะให้มันสงบ
มันไม่ใช่ตัวผู้รู้ที่ดี
จิตผู้รู้ที่ดีนั้นมันเกิดอัตโนมัติ เรียกว่าอสังขาริกัง
เกิดเอง
วิธีทำให้มันเกิดเองทำอย่างไร
ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตไป
ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่เผลอได้
จิตมันจำสภาวะที่เพ่งได้
พอเกิดการเผลอขึ้นสติระลึกปั๊บ แล้วจิตมันจะเป็นกลาง
มันแค่ระลึกเท่านั้น มันซื่อตรงในการรู้อารมณ์
รู้ว่าจิตเผลอไป รู้ซื่อๆ จิตที่หลงก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด
เกิดเอง เราไม่ได้ทำจิตผู้รู้ให้เกิด
จิตผู้รู้เกิดขึ้นเอง เพราะว่ามันไม่หลง ก็แค่นั้นเอง
เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามฝึก
ให้จิตของเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานที่แท้จริง
หรือเป็นจิตที่เป็นกุศล
ไม่ได้มีจิตโลภ โกรธ หลง แทรกอยู่
จิตนั้นมีลักษณะเบา อ่อนโยน นุ่มนวล
คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน
คือเหมาะที่จะเอาไปเดินปัญญา
แล้วก็ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้ซื่อๆ
ถ้าเรามีจิตอย่างนี้ได้
เราก็จะเข้าไปสู่ขั้นของการเจริญปัญญาได้
ถ้าเรายังไม่มีจิตชนิดนี้ ยังเจริญปัญญาไม่ได้ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 สิงหาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา