17 ส.ค. 2022 เวลา 23:14 • สุขภาพ
#ต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลต่อมน้ำเหลืองตำรวจดักฆ่าเซลล์มะเร็ง
สวัสดีทุกคนครับ วันนี้ คุยเฟื่องเรื่องศัลย์
หมอมีเรื่องราวเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองพิเศษที่มีหน้าที่คอยดักจับตรวจตราเซลล์มะเร็งมาฝากทุกคนครับ เรื่องราวเป็นยังไงมาดูกันเลย
ต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล (SENTINEL LYMPH NODE) คือต่อมน้ำเหลืองแรกที่รับน้ำเหลืองที่ไหลมาจากเต้านมก่อนจะกลับเข้าสู่ระบบท่อทางเดินน้ำเหลืองและกลับเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป
ต่อมน้ำเหลือนี้มีหน้าที่เหมือนเป็นยามรักษาการณ์คอยเฝ้ายามตรวจตราว่ามีเซลล์มะเร็งผ่านมาหรือไม่ ถ้ามีต่อมน้ำเหลืองนี้ก็จะดักจับเซลล์มะเร็งไว้
ในสมัยก่อนการผ่าตัดมะเร็งเต้านมจะมีการผ่าตัดเพื่อเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งซ้ำที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ แต่ก็มีข้อเสียตามมาคือ ทำให้แขนข้างที่ผ่าตัดเกิดอาการบวม เนื่องจากมีการรบกวนการเดินทางกลับของระบบท่อทางเดินน้ำเหลือง
ในปีคศ.2004 ได้มีการทดลองเทคนิคผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองรักแร้ทั้งหมดออกแบบดั้งเดิม (NSABP B-32) ในกลุ่มคนไข้ที่ตรวจแล้วไม่เจอการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ พบว่าอัตราการหายไม่แตกต่างกันแต่คนไข้ที่ผ่าตัดแบบเซนทิเนลมีภาวะแทรกซ้อนที่ต่ำกว่าอย่างมาก ทำให้ในปัจจุบัน การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดในแบบวิธีดั้งเดิมอีกแล้ว
โดยคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลนี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1.ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 5 cm
2.ตรวจไม่พบการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ก่อนการผ่าตัด
และการผ่าตัดนี้มีข้อห้ามในกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้ง
1.เป็นมะเร็งเต้านมที่มีการอักเสบ INFLAMMATORY BREAST CANCER
2.ตรวจพบการกระจายของมะเร็งไปที่เต้านมก่อนผ่าตัด
3.ผู้ป่วยตั้งครรภ์ขณะที่เข้ารับการผ่าตัด
ดังนั้นถ้าคุณเจอมะเร็งเต้านมตั้งแต่ตอนที่ก้อนเล็กๆยังไม่มีการกระจาย การรักษาจะง่ายมาก ไม่ต้องผ่าตัดขนาดใหญ่นานๆ ที่จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้
ถ้าคุณมีความผิดปกติของเต้านมอย่ารอช้า
รีบมาปรึกษาแพทย์โดยไวนะครับ
ด้วยรัก
#หมอโภคิน
#คุยเฟื่องเรื่องศัลย์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา