18 ส.ค. 2022 เวลา 11:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - โอกาสในการลงทุนอยู่ตรงไหน ? เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุค De-Globalization
1
บทความโดย T-Da
"Deglobalization" หรือ กระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำด้วยความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้
แต่ในความเป็นจริงแล้วนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งได้พูดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่มีการลงคะแนน Brexit ในปี 2016 ต่อด้วยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ในปี 2018 ซึ่งอีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นการบัญญัติศัพท์นี้เป็นภาษาไทยว่า "โลกานิวัตน์" ก็เป็นได้ (นิวัตน์ แปลว่า กลับ) แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้จะพัฒนาไปในทิศทางไหน? จะเป็น Deglobalization จริงหรือไม่? เราลองมาพิจารณารายละเอียดกัน
📌 ย้อนไปดูการพัฒนาของกระแสโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ หรือ "Globalization" หมายถึง การเกี่ยวโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ, ประชากร, และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 มีส่วนสำคัญในการผลักดันในการพัฒนาของกระแสโลกาภิวัตน์ในยุคแรกเริ่ม เพราะการนำเอากลจักรไอน้ำมาใช้ในการขนส่งทั้งทางเรือและระบบราง ทำให้การค้าระหว่างประเทศแผ่ขยายออกไปทั่วโลก
อย่างไรก็ดีสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) ทำให้เกิดกระแสการกีดกันทางการค้า (Protectionsim) เข้ามาขวางการพัฒนาของโลกาภิวัตน์ ซึ่งต่อเนื่องมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939-1945) จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์ให้กลับมาอีกครั้ง โดยสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
1
เริ่มด้วยการตั้งข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ขึ้นในปี 1944 พร้อมกับจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญขึ้น เช่น IMF (ปี 1944), World Bank (ปี 1945), และ WTO (ปี 1948) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการค้าเสรี
ในช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา "Globalization" เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพราะมีการขยายวงจากด้านการค้าและประชากร ไปสู่ความเกี่ยวโยงกันด้านวัตนธรรมที่มากขึ้นกว่าสมัยก่อน เพราะมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน อันได้แก่การพัฒนาของระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และได้เร่งตัวมากขึ้นอีกภายหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปลายปี 2001 โดยในปี 1994 ราชบัณฑิตยสถานได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่า "โลกาภิวัตน์" ขึ้นมาบรรจุไว้ในพจนานุกรมไทยด้วย
1
📌 กระแสโลกาภิวัตน์มาถึงจุดทวนกลับ (Deglobalization) แล้วจริงๆ หรือแค่ชะลอตัว (Slowbalization) ?
จากข้อมูลของ World Bank พบว่ามูลค่าการค้าของโลกนั้นเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 25% ของ GDP ในปี 1970 ไปสู่ระดับ 61% ของ GDP ในปี 2008 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ แต่หลังจากนั้นมาก็กลับแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 52%-60% ของ GDP ตลอดช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนที่เคยประหยัดได้จากการไปลงทุน/สร้างฐานการผลิตในต่างประเทศนั้นเริ่มถึงจุดที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว เช่น การประหยัดต่อขนาด ค่าแรงคนที่แพงขึ้นในขณะที่ระบบ automation ถูกลง รวมถึงกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เริ่มเข้าข้างบริษัทในประเทศมากกว่าบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น
หากมองในมุมที่ว่าการล็อกดาวน์จากผลของการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 และความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงจะปะทุเป็นสงครามใหญ่นั้นต่างเป็นปัจจัยเร่งให้ชาติต่างๆ ต้องทบทวนถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเอง (Self sufficiency) ให้มากขึ้น ก็อาจตีความได้ว่ากระแส Deglobalization กำลังจะกลับมาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้งในอดีต
3
อย่างไรก็ดีถ้าลองพิจารณาในอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่าปัญหาการติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ที่เป็นผลมาจากการล็อคดาวน์ในช่วงที่ Covid-19 ระบาด และวิกฤตอุปทานพลังงานในยุโรปที่เป็นผลมาจากความพยายามจะไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากยุโรปนั้นต่างเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นมีความเกี่ยวโยงและพึ่งพิงกันมากเกินกว่าที่จะตัดขาดจากกันแล้วหันมาพึ่งตนเองโดยสมบูรณ์
2
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามกระจายแหล่งผู้จัดหา (diversify suppliers) และกระจายแหล่งที่มาของอุปทาน (diversify sources of supplies) ให้มาจากหลายประเทศ
พร้อมกับหันกลับมาใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานสินค้าแบบ "เผื่อว่าจะต้องใช้" ที่คุณ Raphael Bostic ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้าเรียกว่า "Just-in-case" ซึ่งจะทำให้ต้องเก็บสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นกว่าปกติ แทนทฤษฎีการบริหารสินค้าคงคลังแบบ "Just-in-time" ซึ่งเน้นการเก็บสินค้าคงคลังให้น้อยที่สุด อันเป็นกลยุทธ์แห่งความสำเร็จของ Toyota ในการบริหารสายพานการผลิตมาอย่างยาวนาน
1
จากข้อมูลข้างต้นทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วน่าจะเรียกว่าการชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ หรือ "Slowbalization" ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา มากกว่าที่จะเกิดการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ "Deglobalization" โดยสิ้นเชิงอย่างที่หลายคนกังวลกันอยู่
1
📌 ดึงฐานการผลิตและเงินลงทุนกลับสู่บ้านเกิด (Reshoring) หรือกระจายไปอยู่บ้านมิตรสหาย (Friendshoring) ดีกว่า?
ความพยายามในการ "Offshoring" หรือการไปลงทุน/ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศของบริษัทจำนวนมากในช่วง 30ปีทองแห่งโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมานั้นเป็นการแสวงหาประสิทธิภาพสูงสุดในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีหลายองค์ประกอบ ทั้งการซื้อวัตถุดิบจากแหล่งใดก็ได้ในโลกที่ถูกที่สุด ผลิตในประเทศที่มีค่าแรงถูกที่สุด หรือไปลงทุน/สร้างฐานการผลิตในบางประเทศให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ
ถ้าจะต้องย้ายฐานการผลิต/โยกเงินลงทุนกลับบ้าน หรือ "Reshoring" กันทั้งหมดทุกสินค้าและบริการ แบบปัจจุบันทันด่วนนั้นคงจะทำได้ยาก แต่มีโอกาสที่จะเกิดเฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความสำคัญทางด้านความมั่นคงของประเทศ เช่น อาหาร ยารักษาโรค พลังงาน อาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่
งถ้าเจาะลึกในรายละเอียดก็จะพบว่าอุตสาหกรรม semi-conductor ก็จัดอยู่ในหมวดนี้ด้วย โดยมีไต้หวันเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดที่ผลิต microchips ขั้นสูงให้กับ smart devices อันเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการทหารในโลกยุคปัจจุบัน ดังนั้นความตึงเครียดทางการเมืองเกี่ยวกับไต้หวันจึงเป็นเหมือนสายชนวนที่จะจุดระเบิดให้กระแสโลกาภิวัตน์แห่งยุคดิจิตอลสั่นคลอน
1
ดังนั้นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมากกว่าคือ "Friendshoring" หรือ การโยกย้ายเงินลงทุน/ฐานการผลิตไปในประเทศที่เป็น "มิตร" กันซึ่งยังมีประสิทธิภาพ (ในเชิงต้นทุนการผลิต) ที่ดีกว่า Reshoring และยังช่วยกระจายความเสี่ยงของการติดขัดในห่วงโซ่อุปทานได้ดีกว่าด้วย
1
ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ได้ทำให้เกิดการจับกลุ่มกันของมิตรประเทศเป็นขั้วต่างๆ นอกจากนี้เราน่าจะได้เห็นการแย่งประเทศที่เป็นมิตรกับขั้วอื่นมาเป็นมิตรกับตนเองด้วย ซึ่งประเทศไหนที่เข้าได้กับหลายขั้ว (เข้ากับเพื่อนได้หลายกลุ่ม) ก็จะยิ่งมีความได้เปรียบ
สิ่งที่พึงระวังไม่ว่าจะเป็นกรณี Friendshoring หรือ Reshoring ก็ตาม คือประสิทธิภาพในการผลิตจะลดลงกว่าการ Offshoring ภายใต้การค้าเสรีที่ไม่มีการแบ่งขั้ว ดังนั้นต้นทุนที่แพงขึ้นจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพลดลงนั้น ที่สุดแล้วย่อมถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
ซึ่งจะทำให้ "เงินเฟ้อ" ที่เป็นศัตรูตัวร้ายของรัฐบาลและธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศอยู่ในตอนนี้ อาจไม่กลับลงมาที่ระดับต่ำเท่ากับในยุคเฟื่องฟูของโลกาภิวัตน์ แต่อาจขยับฐานสูงขึ้นกว่าในอดีตอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านตั้งข้อสังเกตุไว้
📌 เลือกลงทุนในประเทศที่ใครๆ ก็อยากผูกมิตรด้วย
1
การจับกลุ่มกันของมิตรประเทศเป็นขั้วพันธมิตรทางการค้า (trading blocs) นั้นมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งการกำหนดมาตรการ/นโยบายที่เอื้อสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือด้านต้นทุนการค้าให้กับ "มิตรประเทศ" ในกลุ่มเดียวกันมากขึ้น เช่น Carbon tax ของสหภาพยุโรปที่จะทำให้วัตถุดิบราคาถูกจากบางประเทศถูกเก็บภาษีจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้ราคาไม่ได้ถูกที่สุดอีกต่อไป, หรือ Labor welfare ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากีดกันสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า เป็นต้น
ดังนั้นประเทศที่จะเป็นที่น่าสนใจในการลงทุนเพื่อเป็นฐานการผลิต และมีโอกาสที่จะ "ผูกมิตร" ได้กับหลายขั้วพันธมิตรทางการค้า เพื่อทำตัวเป็นสะพานในการเชื่อมโยงการค้าข้ามขั้วได้นั้น ย่อมเป็นประเทศที่จะได้ประโยชน์จากกระแส "Slowbalization" และ "Friendshoring" ที่กำลังจะก่อตัวขึ้นนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้บริหารกองทุนที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ก็ให้น้ำหนักกับตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชียเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเราควรหมั่นศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับทั้งสองประเทศนี้เพิ่มเติมเพื่อจับโอกาสลงทุน
1
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็จัดว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจในลำดับถัดมา ขึ้นอยู่กับความสามารถของภาครัฐว่าจะสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศของตนเองมีความน่าสนใจในมุมมองของนานาชาติได้โดดเด่นกว่าคู่แข่งอื่นได้มากแค่ไหน
🔊 นักลงทุนท่านใดสนใจเข้ามาร่วมกลุ่ม LINE เพื่อศึกษาการลงทุนที่ดีไปกับทีม Trader KP
สามารถติดต่อได้ที่ LINE Official @traderkp (https://lin.ee/a3S9iGv) ได้เลยครับ การลงทุนที่ดีอยู่ห่างจากคุณเพียงไม่กี่คลิก 👍😊
1
หรือรับการแจ้งเตือนข่าวด่วนทาง LINE กับ Trader KP ได้ที่ - https://bit.ly/3OPOvYV
#ทันโลกกับTraderKP #BlockditExclusive #TDa
โฆษณา