23 ส.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
กระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude intervention) ส่งผลดีต่อสุขภาพกายหรือไม่
การแสดงความรู้สึกขอบคุณ หรือ Practice of gratitude เป็นการแสดงความความขอบคุณและรู้สึกซาบซึ้งใจต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ผู้คน สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่า แนวทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ของกระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude intervention) นั้นช่วยให้สุขภาวะทางจิตดีขึ้น ลดความเครียด ลดความรู้สึกกังวลลง มีความสุข และมีความพึงพอใจกับชีวิตมากขึ้น
กระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณ อาจทำได้โดยแสดงความขอบคุณและซาบซึ้งใจต่อเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงบวก ณ ขณะเวลานั้น ๆ เช่น รู้สึกขอบคุณที่สามีมารับที่ทำงาน รู้สึกขอบคุณตนเองที่ทำงานได้สำเร็จ และอีกแบบหนึ่งเป็นการแสดงความซาบซึ้งใจต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะดีหรือร้าย แต่มองมันในมุมบวก เช่น เวลาขับรถแล้วรถติด ก็สามารถรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งได้ กล่าวคือ นั่งในรถทำให้ได้คุยกับลูกมากขึ้น ได้ฟังเพลง ฟังพ็อดคาสต์ เป็นต้น
สำหรับกระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณนั้น ทำได้หลายแนวทาง ตัวอย่างเช่น การทำ Gratitude Journal เป็นการเขียนบันทึกแสดงความรู้สึกขอบคุณ ซาบซึ้งใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หรืออาจเขียนรายสัปดาห์ก็ได้ การฝึกสมาธิ เจริญสติ พินิจพิจารณาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และทำความขอบคุณและรู้สึกซาบซึ้งไปกับมัน การพูดคุยกับคนใกล้ตัวและแสดงความขอบคุณในสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน เป็นต้น จะเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ที่ซับซ้อน มีเพียงสมอง สองมือ หรือตัวเราเท่านั้นเอง
กระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณนั้น สามารถทำได้ง่าย และส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตได้จริง มีการศึกษาการวิจัยทางวิทยศาสตร์รองรับ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า นอกจากผลจะเกิดขึ้นในระดับจิตใจแล้ว สุขภาพกายจะได้รับผลที่ดีตามมาหรือไม่
มีงานวิจัยการทบทวนวรรณกรรม รวบรวมการศึกษาวิจัยหลาย ๆ ชิ้น เกี่ยวกับการทำ Gratitude intervention กับสุขภาวะทางกายและพฤติกรรมสุขภาพ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Psychosomatic Research ในปี ค.ศ. 2020 มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 19 ชิ้น
ผลการศึกษาแสดงประโยชน์ของกระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อสภาวะสุขภาพกายดังนี้
คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น (5 ใน 8 การศึกษา)
ควบคุมความดันโลหิตดีขึ้น (การศึกษา 1 ชิ้นงาน)
ควบคุมเบาหวานดีขึ้น (การศึกษา 1 ชิ้นงาน)
ควบคุมโรคหอบหืดได้ดีขึ้น (การศึกษา 1 ชิ้นงาน)
พฤติกรรมการกินอาหารดีขึ้น(การศึกษา 1 ชิ้นงาน)
และมีการศึกษาเกี่ยวกับการลดภาวะอักเสบในร่างกาย พบว่าลดได้ 1 ใน 2 งานวิจัย
แม้ว่างานวิจัยที่ออกมาจะมีการศึกษาหรือชิ้นงานค่อนข้างน้อยชิ้นมาก และยังไม่มีคำอธิบายชัด ๆ ว่ากระบวนการแสดงความรู้สึกขอบคุณนั้นมีกลไกทำงานกับร่างกายเราเช่นไร แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นอาจคาดเดาได้ว่า เมื่อจิตใจเราดี ร่างกายของเราน่าจะดีตาม
ดังนั้นแล้วไม่เสียหายเลยที่จะลองทำดู ถ้ามีโอกาส แนะนำว่าลองทำดู ง่าย ๆ อาจเริ่มต้นด้วยการเขียนขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน วันละ 3 เรื่อง ก่อนนอน ทำให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ท่านอาจเห็นความแตกต่าง ๆ ของสภาวะสุขภาพ นอนหลับได้ดีขึ้น นานขึ้น ไม่ตื่นมาฝันร้าย มีพฤติกรรมทางสุขภาพทั้งการกินหรือออกกำลังกายดีขึ้น รวมทั้งมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย มาลองทำดูกัน
อ้างอิง
Anna L. Boggiss, Nathan S. Consedine, Jennifer M. Brenton-Peters, Paul L. Hofman, Anna S. Serlachius, A systematic review of gratitude interventions: Effects on physical health and health behaviors, Journal of Psychosomatic Research, Volume 135, 2020, 110165, ISSN 0022-3999,

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา