20 ส.ค. 2022 เวลา 14:27 • สุขภาพ
🕔"พักซะเบรคบ้างเพื่อสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ" เพราะพลังความตั้งใจของเรามีจำกัด
เพื่อน ๆ ทำงานได้ต่อเนื่องนานสุดกี่นาทีกันครับ?
หลายคนอาจโฟกัสได้นานเป็นชั่วโมง บางคนอาจทำได้ไม่นานนักก็ต้องพักซะแล้ว
ซึ่งจริง ๆ การพักเบรคบ้างหลังจากทำงานมาซักระยะหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพียงแต่ว่า "เราพักเป็นเวลามั้ย?" "และพักได้มีคุณภาพจริง ๆ รึเปล่า?"
#การพัก ที่ดี แน่นอนว่าไม่ใช่การไถมือถือเสพสื่อโซเชียลอย่างแน่นอน เพราะถ้าทำแบบนั้นแทนที่สมองเราจะได้พักจากการทำงานจากความเหนื่อยล้า กลายเป็นว่าสมองของเราจะเหนื่อยล้ายิ่งกว่าเก่า เพราะยังรับ #Input เข้ามาอยู่เสมอ ถึงบางคนจะบอกว่าดูคลิปตลก ๆ น่ารัก ๆ คลายเครียดก็ตามแต่สมองเราไม่ได้คลายการทำงานลงเลย
แถมบางทีเรายังควบคุมตัวเองไม่อยู่เล่นไปโดยไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว จากที่จะแค่พักเบรคกลายเป็นพักยาวซะงั้น จะกลับมาทำงานอีกทีก็ขี้เกียจไปเสียแล้ว
"แล้วเราควรพักตอนไหน?" "นานเท่าไหร่?" "และพักยังไง?" เราจะมาทำความเข้าใจกันครับ😄
ก่อนอื่น "สมองของคนเราจะโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่อย่างเต็มที่ได้นานสุดประมาณ 90-120 นาที ก่อนที่ร่างกายจะต้องการการพักผ่อน" นั่นหมายความว่าโฟกัสหรือสมาธิและความตั้งใจของเราจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่เราทำงานครับ ดังนั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าเวลาในการทำงานคือ "เวลาในการพัก" ครับ
เพราะถ้าเราฝืนทำงานต่อไปในสภาพที่สมองของเราล้าเต็มที่หรือมีโฟกัสเหลือน้อยแล้ว ก็จะเท่ากับว่าประสิทธิภาพของงานนั้นอาจลดลงหรือกลายเป็นว่าเวลาที่ใช้ไปนั้นเปล่าประโยชน์
#การพักเบรค สั้น ๆ ระหว่างการทำงานจึงเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนระยะไกลที่เราต้องหยุดพักหรือผ่อนแรงตัวเองลงบ้าง เพื่อให้มีแรงทำงานได้ตลอดทั้งวัน
การแบ่งเวลาพักเองก็มีหลายหลักหลายแนวคิดให้เพื่อน ๆ ได้ลองนำไปปรับใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคคลาสสิคที่ชื่อว่า #Pomodoro คือการแบ่งเวลาทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที 4 รอบแล้วค่อยพักยาวประมาณ 20-30 นาที
เทคนิค 48:12 ทำงาน 48 พัก 12 นาที ระยะเวลาทำงานก็จะยาวขึ้นมาหน่อย
เทคนิคการแบ่งเวลาทำงานออกเป็นช่วงสั้น ๆ แบบ #dash ทำ 10 พัก 2 ทำ 10 พัก 2 ก็จะเหมาะกับงานง่าย ๆ หรืองานที่จุกจิกไม่ต้องการเวลาในการทำมาก
เทคนิคการแบ่งเวลาโฟกัสระยะยาว ทำงาน 90 พัก พัก 30 อันนี้ก็จะเหมาะกับงานที่ใช้เวลานานและต้องการความละเอียดรอบคอบอย่างมาก
ซึ่งเวลาเหล่านี้ก็อยู่ที่เพื่อน ๆ จะลองนำไปปรับใช้ได้เลย ตัวเลขอาจจะไม่ต้องเป๊ะ ๆ ตามนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดงานและความพร้อมในการทำงานของเราในแต่ละวันด้วย แต่หลักการของทุกเทคนิคมีเหมือนกันคือ "เวลาทำงานคือทำงานอย่างเต็มที่" และ "เวลาพักก็พักอย่างมีประสิทธิภาพ"
คือให้เราจับเวลาในการทำงานและการพักเสมอ และที่สำคัญคือทำให้ได้ตามนั้น ต่อให้งานกำลังไปได้ดีก็อย่าฝืนทำต่อจนไม่หยุดพัก เพราะถ้าฝืนทำต่อไปสมาธิมาหมดเอาทีหลังจะกู้กลับมาได้ยาก
หรือถ้าเราตั้งเวลาไว้แต่ทำ ๆ ไปชักหลุดโฟกัสบ่อยเข้าเริ่มวอกแวกไม่มีสมาธิ ก็ให้เราหยุดทำงานซักพักไม่ฝืนทำต่อทั้งแบบนั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างคือเวลาทำงานเราต้องตัดสิ่งรบกวนออกไปให้ได้มากที่สุด ปิดเสียงโทรศัพท์ ปิดแจ้งเตือน ใส่ที่อุดหู และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เรามีสมาธิมากที่สุด เพื่อให้เราสามรถใช้เวลาทำงานที่เราแบ่งไว้ได้อย่างเต็มที่
ตอนพักเองก็เช่นกัน อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการพักแบบไถโทรศัพท์เล่นโซเชียลมีเดียร์หรือการเปิดเกมเล่นไม่นับเป็นการพักที่ดี เพราะเราควรพักแบบที่สมองและร่างกายของเราได้พักแบบจริง ๆ
โดยการลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายซักหน่อย เดินไปกินน้ำ เดินไปสูดอากาสรับแสงแดดซักนิด ทำสมาธิ ปรับลมหายใจ หรือแค่นั่งหลับตาอยู่เฉย ๆ ซัก 5 นาที ก็ช่วยให้สมองของเราได้พักและกลับมาทำงานต่อได้อย่างมีประสิธิภาพ แถมยังช่วยลดโอกาสการเป็น #ออฟฟิศซินโดรม จากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานได้อีกด้วย
เพื่อน ๆ น่าจะเห็นถึงความสำคัญของการพัก รวมไปถึงวิธีพักที่ดีว่าควรทำอย่างไรกันไปบ้างแล้ว ยังไงอ่านบทความนี้เสร็จก็อย่าลืมหาเวลาพักเบรคกันบ้างนะครับ
"Let's take a break." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor
#psychology #จิตวิทยา #พัฒนาตนเอง #selfdevelopment #selfgrowth #Productivity #Productive #Priority #Timemanagement #Focus #Flow #POMODORO #Rest | 069/2022 (มนุดปอ Ep.109)
👨🏻‍🏫อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
📙หนังสือ
- LIFE HACKS มูฟออนชีวิต เริ่มคิดแบบเล็ก ๆ | Masatake Hori
📃บทความ
- โฟกัสกับงานนานๆ ไม่ได้ทำอย่างไรดี? | learninghubthailand
🎧พอดแคส
- นั่งทั้งวันแต่งานไม่เดิน แก้ได้ด้วย 'เทคนิค Pomodoro' | Mission To The Moon EP.1254
โฆษณา