29 ส.ค. 2022 เวลา 10:41 • ประวัติศาสตร์
“ยากูซ่า (Yakuza)” อาณาจักรโลกใต้ดินของญี่ปุ่น
5
องค์กรอาชญากรรม เป็นกลุ่มคนที่เข้าไปพัวพันกับงานผิดกฎหมายเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเงินและอำนาจ
5
โดยกลุ่มเหล่านี้ต่างแทรกอยู่ฉากหลังของสังคมในประเทศต่างๆ มาอย่างยาวนาน...
3
สโมสร Hell's Angels ในสหรัฐอเมริกา...
2
องค์กรบรัตวาในรัสเซีย...
1
D Company ในอินเดีย...
1
แก๊งค้ายาซินาลัวในเม็กซิโก...
3
กลุ่มซันเหอในจีนและฮ่องกง...
1
แก๊งมาเฟียโคซานอสตราในอิตาลี...
ซึ่งบางกลุ่มก็พยายามหลบซ่อนไม่ทำตัวเด่นเพื่อให้งานของตัวเองเดินต่อไปได้อย่างสะดวก...
แต่บางกลุ่มก็เปิดเผยตัวตน เพราะมีสายสัมพันธ์กับข้าราชการและรัฐบาลของประเทศ...
3
และในครั้งนี้ ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับองค์กรอาชญากรรมกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ
เรื่องราวของพวกเขาเกิดขึ้นในประเทศเกาะทางตะวันออก...
พวกเขาถูกมองว่าเป็นทั้งวีรบุรุษและวายร้าย...
1
พวกเขาถูกมองว่าเป็นทั้งนักธุรกิจมือทองและนักต้มตุ๋นมือฉมัง...
2
พวกเขาถูกมองว่าเป็นทั้งผู้ผดุงความยุติธรรมและผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม...
1
พวกเขาถูกมองว่าเป็นทั้งเครื่องมือชั้นดีของรัฐบาลและเนื้อร้ายที่ต้องกำจัด...
3
และพวกเขาก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกันกับประเทศนี้...
ระบอบโชกุนและปฏิวัติเมจิ...
1
จอกร่วมสาบานและระบบอุปถัมภ์...
รอยสักแห่งสายสัมพันธ์และความแปลกแยก...
อิทธิพลที่เกิดจากสงครามโลก...
1
พ่อค้าตลาดมืด...
ผู้คุมวงการพนัน...
1
นายหน้าค้าประเวณี...
1
เอเยนต์ยาเสพติด...
กองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์...
ผู้มีอิทธิพลในวงการบันเทิง...
ผู้รักษาความสงบในสังคม...
เจ้าพ่อเงินกู้นอกระบบ...
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอาณาจักรโลกใต้ดิน ภายใต้องค์กรอาชญากรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น
โดยชื่อของพวกเขาคือ "ยากูซ่า (Yakuza)"
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
เริ่มแรก ผมอยากให้ทุกท่านรู้จักลักษณะของกลุ่มคนที่เรียกว่ายากูซ่ากันก่อน...
โดย "ยากูซ่า (Yakuza)" เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในญี่ปุ่น ที่แบ่งพรรคแบ่งพวกออกเป็นหลายๆ แก๊ง ปกครองในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เราจะมองยากูซ่าว่าเป็นอันธพาล ผู้ทรงอิทธิพล และพวกนอกกฎหมาย
แต่ภาพลักษณ์ของยากูซ่านั้น เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยครับ
บางยุคเป็นพ่อค้า...
บางยุคเป็นแก๊งอาชญากรรม...
หรือบางยุคเป็นผู้รักษาความสงบในสังคมเลยก็มี...
แต่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ยากูซ่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาโดยตลอด และเป็นกลุ่มคนที่เคยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย
1
ซึ่งหากเราจะทำความรู้จักกับยากูซ่าให้มากยิ่งขึ้น ผมจำเป็นต้องเล่าย้อนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกลับไปถึง 400 ปีที่แล้ว...
3
ภาพจาก Bored Panda (จุดเด่นของยากูซ่าคือการสักลายทั่วตัว)
เรื่องของเรื่องเริ่มต้นในยุคที่ญี่ปุ่นเกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกว่าเซนโกคุ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ "เซนโกคุ (Sengoku)" มหาสงครามรวมแผ่นดินญี่ปุ่น)
1
โดยผู้ที่รวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งคือ "โทกุกาวะ อิเอยาสึ" ซึ่งกลายเป็นโชกุนและตั้งรัฐบาลที่เมืองเอโดะ เราเลยเรียกช่วงนี้ว่า "ยุคเอโดะ" นั่นเอง
แน่นอนครับว่า สภาพสังคมที่เพิ่งผ่านสงครามใหญ่มาหมาดๆ กฎระเบียบอะไรต่างๆ เลยยังไม่เข้าที่เข้าทาง จนเกิดกลุ่มนักเลงอันธพาลที่ตามรังแกชาวบ้าน
1
โดยกลุ่มอันธพาลที่ว่า มีทั้งสามัญชนทั่วไปที่อับจนหนทางทำมาหากิน…
1
หรือนักรบชั้นสูงที่ว่างงานเพราะสงครามจบลงแล้ว และปรับตัวตามยุคตามสมัยไม่ได้ เลยรวมตัวกันกร่างกับชาวบ้านไปทั่ว
กลุ่มคนเหล่านี้จะมีลักษณะต่อต้านสังคมทั้งรวมตัวเล่นการพนัน กินข้าวแล้วชักดาบหนี เมาแล้วทะเลาะวิวาท หรือถึงขนาดไล่ฟันชาวบ้านเลยก็มี
3
ซึ่งอันธพาลจอมกร่างนี้มีอยู่หลากหลายกลุ่มตามเมืองต่างๆ แต่มี 2 กลุ่มที่ผมจะเน้นเป็นพิเศษ คือ “บาคุโตะ” และ “เทกิยะ”
1
โดยกลุ่มแรกที่ชื่อว่า “บาคุโตะ” พวกนี้จะเป็นชาวนาตกอับที่รวมตัวกันใช้ช่องว่างกฎหมายสมัยหลังสงครามสร้างธุรกิจการพนันและงานบริการลูกค้าหรือเรียกง่ายๆ คือบ่อน ตามเส้นทางต่างๆ
1
ซึ่งบ่อนก็ทำเงินให้กับบาคุโตะไปไม่น้อยเลยล่ะครับ ทำให้พวกนี้เติบโตเรื่อยๆ และมีเครือข่ายธุรกิจเชื่อมโยงกัน กลายเป็นผู้มีอิทธิพลของประเทศในเวลาไม่ถึง 100 ปี
1
กลุ่มต่อมาคือ “เทกิยะ” เป็นพวกพ่อค้าแผงลอยตามงานวัด ที่เดินทางไปขายของทั่วประเทศ ซึ่งการตระเวนไปเรื่อยๆ ก็อาจเจอเจ้าถิ่นมารังแกหรือไถเงิน เทกิยะเลยรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกัน ทำให้พวกนี้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันสุดๆ จนเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกันเลยล่ะครับ
3
และด้วยสภาพงานที่มักเจอนักเลงอันธพาลมาป่วน ทำให้เทกิยะก็ต้องทำตัวเป็นอันธพาลเพื่อปกป้องพวกพ้องตัวเองด้วยเหมือนกัน แต่พวกนี้จะต่างจากอันธพาลอื่นๆ คือ เทกิยะเป็นพวกมีเงิน แถมยังมีคอนเนกชั่นกับทั้งไดเมียวและโชกุน
2
ซึ่งเทกิยะจะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นไปอีกในยุคที่ชาวตะวันตกเข้ามา เพราะพวกนี้กลายเป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนญี่ปุ่นกับชาวตะวันตกเข้าด้วยกัน
1
เรียกได้ว่าทั้งบาคุโตะและเทกิยะ ได้สร้างอิทธิพลของตัวเองตั้งแต่ยุคเอโดะไว้พอสมควรเลยล่ะครับ
3
จนช่วงปลายยุคเอโดะ ที่โชกุนและไดเมียวขัดแย้งกันเรื่องเปิดประเทศ ทำให้ไดเมียวบางส่วนอยากโค่นอำนาจโชกุนแล้วไปสนับสนุนจักรพรรดิ ซึ่งทั้งบาคุโตะและเทกิยะก็มีส่วนเป็นสปอนเซอร์ให้กับฝ่ายจักรพรรดิ
2
ท้ายที่สุดระบอบโชกุนก็ถูกโค่น ญี่ปุ่นเปิดประเทศและเข้าสู่ยุคเมจิ ซึ่งจากที่เทกิยะและบาคุโตะเคยเป็นสปอนเซอร์ ทำให้พวกนี้ก็ได้รับผลประโยชน์จากผู้ชนะด้วย
1
แต่บาคุโตะจะลำบากกว่านิดหน่อย เพราะญี่ปุ่นที่เปิดประเทศจำเป็นต้องปฏิรูประบบทุกอย่างใหม่หมด และส่วนหนึ่งคือออกกฎหมายทำให้บ่อนการพนันเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคม
บาคุโตะเลยเปิดบ่อนแบบลับๆ พร้อมหันไปหาธุรกิจอย่างอื่นที่ตอบโจทย์จากการเปิดประเทศอย่างธุรกิจบันเทิง เช่น ผับบาร์และซ่องโสเภณี
1
ส่วนเทกิยะก็หารายได้เพิ่มเติมเหมือนกันทั้งการค้าของเถื่อนและเปิดตลาดมืด
4
โดยในเวลาต่อมาทั้งบาคุโตะกับเทกิยะก็จะเชื่อมโยงอิทธิพลกันจนเกิดเป็นกลุ่มคนที่เรียกว่ายากูซ่าในศตวรรษที่ 20 นั่นเอง
2
ภาพจาก nippon (โทกุกาวะ อิเอยาสึ)
ภาพจาก Japan Avenue (บาคุโตะกับธุรกิจบ่อนการพนัน)
ภาพจาก Factinate (จักรพรรดิมัตสึฮิโตะ ในยุคเมจิ)
ในยุคเมจิ ถือเป็นช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนครับว่าสิ่งสำคัญคือแรงงาน โดยทั้งบาคุโตะและเทกิยะก็มีการทำงานร่วมกันโดยเป็นนายหน้าจัดหาแรงงานมาทำงานในโรงงานและสร้างทางรถไฟให้กับรัฐบาล
1
ด้วยการทำงานร่วมกันนี่แหละครับ ทำให้ทั้งบาคุโตะกับทากิยะเริ่มหลอมรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน จนถูกเรียกว่ายากูซ่า
(คำว่า “ยากูซ่า” เป็นคำศัพท์ในวงไพ่ และบาคุโตะชอบใช้เป็นคำด่าแปลว่าพวกไร้ค่าไร้ราคา คนทั่วไปได้ยินเลยเรียกบาคุโตะว่ายากูซ่าจนติดปากในที่สุด ซึ่งต่อไปนี้ผมจะขอเรียกทั้งบาคุโตะและเทกิยะว่ายากูซ่า)
3
และเมื่อเข้าสู่ยุคไทโช (1912-1925) ยากูซ่ายิ่งมีบทบาทสำคัญเข้าไปอีก เพราะยุคนี้เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นบูมถึงขีดสุด และยิ่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป ญี่ปุ่นเลยกลายเป็นมหาอำนาจของโลกควบคู่กับสหรัฐอเมริกาหลังสงคราม
1
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อแรงงานตามชนบทหลั่งไหลเข้าเมืองมากขึ้นจนล้นตลาด ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานพวกนี้ค่อนข้างแย่ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำแถมยังถูกกดค่าแรง เลยเกิดการรวมตัวประท้วง
รัฐบาลเลยตัดสินใจใช้ยากูซ่าเป็นเครื่องมือ เพราะพวกนี้มีอิทธิพลสูงมาก ซึ่งงานของยากูซ่ามีทั้งสลายการชุมนุม ข่มขู่แรงงาน และลอบสังหารแกนนำ!
2
เรียกได้ว่า บทบาททางการเมืองของยากูซ่าเริ่มเด่นมากขึ้น แต่ด้วยเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 การเงินของยากูซ่าเลยติดขัดไปด้วย แถมช่วงทศวรรษ 1930 ญี่ปุ่นกลายเป็นจักรวรรดินิยมแล้วบุกยึดประเทศต่างๆ อย่างเกาหลีและจีนจนลากยาวไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
2
ทำให้พวกยากูซ่าก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร และกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังสงคราม ซึ่งช่วงเวลาหลังจากนี้นี่แหละครับ จะเป็นช่วงยุคทองของยากูซ่าอย่างแท้จริง!
2
ภาพจาก sojitz (เมจิ-ไทโช ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น)
ขอบเขตของจักรวรรดิญี่ปุ่น
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงแบบสมบูรณ์เมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้ในวันที่ 2 กันยายน 1945
1
โดยหลังสงคราม ญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งในตัวการหลักของฝ่ายอักษะ ถูกศูนย์บัญชาการของสัมพันธมิตรที่ชื่อว่า SCAP เข้าควบคุม ซึ่ง SCAP ก็มีสหรัฐอเมริกาเป็นคนคุมอยู่อีกที เรียกง่ายๆ คือ สหรัฐฯ เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นหลังสงครามผ่าน SCAP นั่นเอง
3
ญี่ปุ่นหลังสงครามถือว่าเสียหายอย่างหนักหน่วงเลยทีเดียวครับ บ้านเมืองและโรงงานหลายแห่งถูกระเบิดบอมยับเยิน คนว่างงานและอดอยากเต็มประเทศ แถมยังเจอปัญหาประชากรเพศชายขาดแคลนเพราะไปตายในสงครามกันหมด
ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปิดรับประชากรจากที่อื่นๆ เข้ามาในประเทศด้วย โดยเฉพาะคนจีน เกาหลี ไต้หวัน
1
แต่แล้ว นานวันเข้า คนต่างชาติเหล่านี้ก็รวมตัวกันเป็นแก๊งขยายอิทธิพลในญี่ปุ่น ทำให้เหล่าคนที่เคยเป็นยากูซ่าก่อนสงครามก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อคานอำนาจกับแก๊งต่างชาติ!
2
ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จำนวนคนที่เข้ามาเป็นยากูซ่าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
1
และตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ภาพลักษณ์ของยากูซ่าดูดีสุดๆ เลยล่ะครับ เพราะหากคนญี่ปุ่นมีเรื่องขัดใจกับแก๊งต่างชาติเมื่อไหร่แล้วล่ะก็ ยากูซ่าก็จะเป็นวีรบุรุษเข้ามาปกป้องคนญี่ปุ่นเมื่อนั้น
5
ด้านสังคม ยากูซ่าว่าเด่นแล้ว แต่ด้านการเมืองยากูซ่าก็เด่นไม่แพ้กัน!
เพราะในช่วงเวลานั้นเทรนด์ของคอมมิวนิสต์เริ่มขยายตัวมากขึ้น และในญี่ปุ่นก็ร้อนแรงไม่แพ้ที่อื่นๆ เกิดพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและขบวนการใต้ดินที่ยึดหลักคอมมิวนิสต์ขึ้นมา
2
คราวนี้ สหรัฐฯ ก็เลือกใช้ยากูซ่าเป็นเครื่องมือเหมือนที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยใช้ โดยให้เป็นหูเป็นตาและข่มขู่คนที่มีท่าทีเป็นคอมมิวนิสต์ กลายเป็นกองกำลังต่อต้านฝ่ายซ้ายแบบย่อมๆ เลยทีเดียว
2
และด้วยภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างดีในสายตาประชาชน พร้อมการหนุนหลังของสหรัฐฯ ยากูซ่าก็สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ง่ายขึ้น ผันตัวเองไปเป็นองค์กรอาชญากรรมที่ทำธุรกิจสีดำสนิทอย่างคนคุมตลาดมืดและพ่อค้ายาเสพติด
1
โดยเฉพาะยาเสพติดอย่างแอมเฟตามีนที่ทำเงินให้ยากูซ่าแบบถล่มทลาย เพราะคนญี่ปุ่นในยุคนั้นโดยเฉพาะทหารผ่านศึกนิยมใช้แอมเฟตามีนเยียวยาจิตใจและต่อสู้กับความหิวโหย
3
จะเห็นได้เลยครับว่า สภาพสังคมและการเมืองของญี่ปุ่นหลังสงครามที่ผมได้เล่าไป ได้ผลักดันยากูซ่าให้มีบทบาทหลายด้านมาก
1
สำหรับคนทั่วไปยากูซ่าถูกมองเป็นวีรบุรุษปกป้องคนญี่ปุ่น
สำหรับสหรัฐฯ และรัฐบาลญี่ปุ่นยากูซ่าถูกมองเป็นเครื่องมือต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
และจากการที่ยากูซ่าเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทำให้ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มค่อนข้างมีระบบและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
1
ภาพจาก The Japan Times (โตเกียวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
ภาพจาก Ranker
ยากูซ่าแบ่งออกเป็นหลายๆ แก๊งที่คุมแต่ละโซนแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละแก๊งอาจถูกกันหรือเขม่นจนมีกระทบกระทั่งกันแล้วแต่ช่วงเวลา
แต่แทบทุกแก๊งต่างมีวัฒนธรรมร่วมที่เป็นเหมือนตัวบ่งชี้ว่า "นี่แหละ คือยากูซ่า!"
อย่างแรกเลยคือความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์...
คนที่อยู่จุดสูงสุดคือ "หัวหน้าแก๊ง" ที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณและหัวเรือหลักของแก๊ง
รองลงมาจะเป็น "ผู้บริหารอาวุโส" ที่เป็นเหมือนมือขวามือซ้ายคอยให้คำปรึกษาหัวหน้าแก๊ง
รองลงมาอีกคือ "ผู้บริหารระดับสูง" ที่จะบริหารแก๊งย่อยๆ ซึ่งแตกแขนงออกไปอีกที
ต่ำสุดคือ "สมาชิกแก๊ง" ซึ่งเป็นมือเป็นเท้าของแก๊ง ทำงานสารพัดเท่าที่ผู้บริหารหรือหัวหน้าแก๊งจะสั่ง
สุดท้ายคือ "พาร์ทเนอร์" ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับแก๊ง แต่จะมีความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจมากกว่า ซึ่งพาร์ทเนอร์มีความสำคัญในการสร้างคอนเนกชั่นระหว่างแก๊งกับนักธุรกิจและนักการเมือง
2
โดยการรับสมาชิกใหม่เข้าแก๊ง จะมีพิธีกรรมดื่มสาเกในจอกเดียวกันระหว่างสมาชิกน้องใหม่กับผู้บริหารหรือหัวหน้าแก๊งต่อหน้าแท่นบูชาของชินโต เพื่อแสดงว่าเป็นพี่น้องหรือพวกพ้องกันแล้ว เป็นเหมือนการเชื่อมสายสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งยากที่จะตัดขาดของแก๊ง
ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ของยากูซ่าจะจงรักภักดีต่อหัวหน้าแก๊งและตายได้เพื่อแก๊งไม่ต่างจากซามูไรที่ภักดีต่อเจ้านายเลยล่ะครับ
1
อีกทั้งยากูซ่าแต่ละแก๊งก็จะมีบทลงโทษสำหรับสมาชิกที่ทำผิด โดยมีตั้งแต่การกักบริเวณ จ่ายค่าปรับ ลดตำแหน่ง กร้อนผม และไล่ออก
2
แต่การลงโทษที่มีชื่อเสียงที่สุดของยากูซ่าคือ "การตัดนิ้ว"
ซึ่งการตัดนิ้วที่ว่า อาจไม่ใช่แค่การลงโทษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อบางสิ่งบางอย่าง เช่น ตัดนิ้วเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุให้ต้องตีกับแก๊งอื่น
ทำให้การตัดนิ้วกลายเป็นเหมือน Signature ของยากูซ่าไปโดยปริยาย ถึงขนาดหากเห็นคนที่นิ้วกุดให้สันนิษฐานก่อนเลยว่าคนนี้ต้องเป็นยากูซ่าหรือไม่ก็ต้องเคยเป็นยากูซ่ามาก่อน
1
นอกจากนิ้วที่กุดแล้ว อีก Signature ของยากูซ่าคือรอยสัก
3
เรียกได้ว่ายากูซ่าแทบทุกคนต้องมีรอยสัก เหตุผลแรกเลย ยากูซ่าเชื่อว่ารอยสักคือสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชาย เพราะการสักต้องใช้ความอดทนต่อความเจ็บปวดสูง
2
เหตุผลต่อมา รอยสักเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความผูกพันธ์ของแก๊ง
2
เหตุผลสุดท้าย รอยสักเหมือนเป็นตัวตนของยากูซ่า ที่พอเป็นแล้วก็ยากที่จะลบออกไปได้
1
จะเห็นได้เลยครับว่า การปกครองของยากูซ่าค่อนข้างเป็นระบบระเบียบ มีลักษณะเป็นทั้งลัทธิความเชื่อ กลุ่มนักเลงอันธพาล และองค์กรธุรกิจผสมกัน
2
ภาพจาก All That’s Interesting (พิธีดื่มสาเก)
ภาพจาก Nikkei Asia (ยากูซ่าในยุค 1970 จะเห็นได้ว่ายากูซ่าแต่งตัวดูดีมีภูมิฐานเพราะภาพลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งสำคัญของยากูซ่า)
ภาพจาก Quora (การตัดนิ้วของยากูซ่า)
ภาพจาก Quora (การตัดนิ้วของยากูซ่า)
ภาพจาก All That’s Interesting (รอยสักของยากูซ่า)
ภาพจาก All That’s Interesting (รอยสักของยากูซ่า)
หลังจากเห็นโครงสร้างและความเชื่อไปแล้ว คราวนี้ เรากลับมาดูบทบาทของยากูซ่าในสังคมญี่ปุ่นกันต่อ…
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากปี 1955 เป็นต้นมา และเริ่มพัฒนาแบบติดจรวดช่วงทศวรรษ 1960
1
แต่การเมืองกลับตรงข้ามกับเศรษฐกิจครับ เพราะทศวรรษ 1960 การเมืองญี่ปุ่นวุ่นวายอีรุงตุงนังเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ให้อิสรภาพกับญี่ปุ่น แต่ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ก็ทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกัน โดยญี่ปุ่นยอมให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์
1
แต่เรื่องนี้ประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่กลับต่อต้าน เพราะคิดว่าสหรัฐฯ อาจนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามใหญ่อีกครั้ง เลยเกิดม๊อบประท้วงสนธิสัญญาสันติภาพขึ้นมาและถึงจุดพีคในปี 1960 ที่จะมีการต่อสัญญาอีกครั้ง
1
โดยม๊อบใหญ่ในปี 1960 คือกลุ่มที่ชื่อว่า "เซ็งงะกุเร็ง" ซึ่งเป็นนักศึกษาที่รวมตัวกันเดินขบวนทั่วประเทศ
1
คราวนี้ รัฐบาลก็สั่งทั้งตำรวจและหน่วยปราบจราจลเข้าต่อต้านม๊อบที่เกิดขึ้น และแน่นอนว่างานนี้รัฐบาลก็ใช้บริการยากูซ่าอีกครั้งให้ไปข่มขู่ม๊อบ ลักพาตัวแกนนำ รวมถึงร่วมกับตำรวจสลายการชุมนุมในบางครั้ง
1
บทบาทของยากูซ่าที่มากขึ้น ก็ทำให้จำนวนยากูซ่าเพิ่มมากตามไปด้วย โดยในปี 1963 มียากูซ่าอยู่ทั่วประเทศประมาณ 5,200 แก๊ง และมีคนที่เป็นยากูซ่าอยู่เกือบ 200,000 คนเลยทีเดียว!
1
แต่ทว่า เมื่อรัฐบาลดึงยากูซ่ามาเอี่ยวกับการเมืองมากเกินไป ก็ทำให้ยากูซ่ามีอิทธิพลมากขึ้นไปด้วย
เพราะยากูซ่าแก๊งต่างๆ เริ่มแทรกแซงการเมือง ทั้งส่งคนที่เป็นพาร์ทเนอร์ของแก๊งตัวเองลงเล่นการเมือง หรือเป็นกระเป๋าเงินให้พรรคการเมืองในการหาเสียง
เรียกได้เลยครับว่า ความสัมพันธ์ของทั้งนักการเมือง พรรค รัฐบาล และยากูซ่าในช่วงนี้คือถ้อยทีถ้อนอาศัยกัน
แต่ด้วยยากูซ่าเป็นองค์กรอาชญากรรม และประชาชนเริ่มได้รับความเสียหายจากธุรกิจมืดของยากูซ่า รวมถึงแต่ละแก๊งบางทีก็ทำธุรกิจทับเขตอิทธิพลขัดแข้งขัดขากันจนเปิดสงครามกลางเมืองยกพวกตีกันอยู่หลายครั้ง
ทำให้เหล่านักการเมืองก็ออกตัวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับยากูซ่า หรือรัฐบาลก็สั่งตำรวจให้ปราบปรามยากูซ่าบ้างเป็นระยะๆ
แต่เมื่อสงครามเย็นเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ฝ่ายซ้ายในญี่ปุ่นเริ่มอ่อนแอ และม๊อบเริ่มโรยรา รัฐบาลก็เริ่มเห็นแล้วครับว่าอิทธิพลของยากูซ่าส่งผลเสียมากกว่าผลดี และผลักดันให้เรื่องยากูซ่ากลายเป็นปัญหาระดับชาติมากขึ้น!
2
ภาพจาก Timeline (การสลายชุมนุมของญี่ปุ่นในปี 1960)
ภาพจาก Timeline (การปะทะในรัฐสภาปี 1960)
การเริ่มแข็งข้อของรัฐบาลต่อยากูซ่า ทำให้จำนวนแก๊งเริ่มลดลงเรื่อยๆ
1
โดยตั้งแต่ปี 1965 แก๊งเล็กแก๊งน้อยก็พากันยุบไปรวมตัวกับแก๊งใหญ่ๆ ที่รัฐบาลและตำรวจยังไม่กล้าแตะต้อง
ส่วนแก๊งใหญ่ๆ ที่เห็นท่าทีของรัฐบาล ก็เริ่มเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของตัวเอง จากการทำเงินในธุรกิจสีดำก็หันไปทำธุรกิจสีเทามากขึ้น เช่น เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบหรือรับจ้างข่มขู่ต่างๆ นานา
และบางแก๊งก็หันไปทำธุรกิจถูกกฎหมาย (แต่ส่วนใหญ่ก็เปิดบังหน้าและเอาไว้ฟอกเงิน)
อย่างเช่นแก๊งยามากูชิ-กูมิ ที่มีหัวหน้าแก๊งชื่อคาซูโอะ ทาโอกะ ซึ่งหันไปเปิดบริษัทภาพยนตร์และเอเจนซี่ดารา เพื่อควบคุมสื่อและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับยากูซ่าผ่านวงการบันเทิง
1
หรือแก๊งโทเซไค ที่มีหัวหน้าแก๊งคือฮิซายูกิ มาชิอิ ก็หันไปทำธุรกิจกีฬาอย่างมวยสากลและมวยปล้ำ
1
ทั้งแก๊งยามากูชิ-กูมิและโทเซไค ถือเป็นแก๊งใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมากในยุคนั้น และมีพาร์ทเนอร์คือชายที่ชื่อว่าโยชิโอะ โคดามะ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่เชื่อมสะพานระหว่าง 2 แก๊งเข้ากับพรรคการเมืองและรัฐบาลอีกด้วย
3
และหากพูดถึงผู้นำของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง คงไม่พ้นชายที่ชื่อว่า “ทานากะ คะคุเอ” ที่มาจากพรรค LDP และเป็นนายกในปี 1972
1
โดยรัฐบาลของทานากะได้รับความนิยมจากประชาชนสูงมาก มีผลงานที่โดดเด่นอย่างการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ญี่ปุ่นมีตลาดส่งออกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น
2
แต่แล้ว เมื่อเป็นนายกได้ไม่ถึงปี ก็มีการขุดคุ้ยแล้วเจอการคอร์รัปชั่นและหนีภาษีของรัฐบาลซึ่งทำให้ทานากะประกาศลาออกไปในที่สุด
3
แต่แม้จะลาออก เรื่องก็ยังไม่จบแค่นี้ครับ เมื่อมีการขุดลึกลงไปอีก…
และคราวนี้ ก็พบการทุจริตจนกลายเป็นเคสใหญ่อย่างคดีล็อกฮีด ที่บริษัทเครื่องบินล็อกฮีดจ่ายใต้โต๊ะให้กับรัฐบาลทานากะ
2
ซึ่งเผอิญว่าล็อกฮีดกับรัฐบาลทานากะมีตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์คือโยชิโอะ โคดามะ ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของยากูซ่านั่นแหละครับ ทำให้มีการสาวไปจนพบความสัมพันธ์ระหว่างพรรค LDP และแก๊งยากูซ่า
3
ซึ่งเมื่อสื่อตีข่าวมากขึ้น ก็ทำให้ประชาชนเห็นแล้วว่ายากูซ่ามีความสัมพันธ์ที่หยั่งรากลึกในวงการการเมืองญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีส่วนทำให้การเมืองญี่ปุ่นตกต่ำสวนทางกับเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า
1
และในปี 1992 ก็มีกฎหมายที่ชื่อว่าโบโทไฮ ที่ต่อต้านยากูซ่าโดยตรงและกำหนดให้ยากูซ่าเป็นกลุ่มคนอันตรายต่อสังคม
1
กระแสแอนตี้ต่างๆนานา ก็ทำให้ยากูซ่าอยู่ยากขึ้น และในทศวรรษ 1990 จำนวนคนที่เข้ามาเป็นยากูซ่าก็ลดน้อยลงไปมากเลยล่ะครับ รวมถึงจำนวนแก๊งก็ลดลงเหลือไม่ถึง 5 แก๊ง
1
ภาพจาก Wikipedia (คาซูโอะ ทาโอกะ)
ภาพจาก Amino apps (คาซูโอะ ทาโอกะ กับแก๊งยามากูชิ-กูมิ)
ภาพจาก Find a Grave (ฮิซายูกิ มาชิอิ)
ภาพจาก Personality Database (โยชิโอะ โคดามะ)
The Japan Times (ทานากะ คะคุเอ)
ถึงแม้จะถูกมองในแง่ลบ และถูกต่อต้านมากแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้าย ยากูซ่าก็ไม่ถูกปราบปรามแบบหมดจด
1
เพราะประวัติศาสตร์อันยาวนานของยากูซ่า ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกทั้งในการเมืองและในสังคมญี่ปุ่น
1
โดยเฉพาะในวงการการเมือง ที่แม้จะออกหน้าปราบปรามยากูซ่ามากแค่ไหน แต่ความสัมพันธ์ลึกๆ ของยากูซ่ากับพรรคการเมืองก็ยังคงอยู่
พรรคการเมืองก็ได้ประโยชน์จากเงินบริจาคและอิทธิพลของยากูซ่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง…
1
ยากูซ่าก็ได้ประโยชน์จากพรรคการเมืองในเรื่องของเส้นสาย…
และจะเห็นได้ว่า จากอดีตจนปัจจุบัน กลุ่มคนที่เรียกว่ายากูซ่ามีการปรับตัวตามบริบทของสังคมอยู่ตลอดเวลา…
ในยุคเอโดะ พวกเขาใช้ช่องว่างทางกฎหมายสร้างธุรกิจและอิทธิพลของตัวเองขึ้นมา…
ในยุคเมจิและไทโช พวกเขาเป็นเหมือนแขนขาของรัฐบาลทั้งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างการจัดหาแรงงาน และในเรื่องการเมืองอย่างการปราบปรามม๊อบ…
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขากลายเป็นองค์กรอาชญากรรมเต็มรูปแบบที่หาเงินจากการค้ายาเสพติด การพนัน และการค้าประเวณี…
ในยุคสงครามเย็น พวกเขาเป็นเครื่องมือชั้นดีของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลญี่ปุ่นในการต่อต้านฝ่ายซ้าย…
ในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มบูม พวกเขาก็ผันตัวมาสร้างธุรกิจถูกกฎหมายของตัวเองและแทรกแซงพรรคการเมืองเป็นหลัก…
1
ในยุคที่ถูกต่อต้าน พวกเขาก็ปรับตัวไปอยู่ฉากหลังมากขึ้น และยังรักษาความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองเอาไว้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ…
สุดท้าย ความสามารถในการปรับตัวนี้ก็ทำให้พวกเขาคงอยู่มาอย่างยาวนานกว่า 400 ปี…
และ ชื่อของ “ยากูซ่า” ก็ยังสร้างความหวั่นเกรงให้กับคนที่ได้ยินในฐานะแก๊งหรือองค์กรอาชญากรรม ผู้เป็นราชาอาณาจักรโลกใต้ดินของญี่ปุ่นจนปัจจุบัน
References
คงศักดิ์ สันติพฤกษวงศ์. วิวัฒนาการทุนนิยมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528.
1
Hill, Peter. The Japanese Mafia: Yakuza Law and the State. Oxford : Oxford University Press, 2003.
Kaplan, E. David. Yakuza: Japan's Criminal Underworld. Oakland : University of California Press, 2012.
Kaplan, E. David. Yakuza: The Explosive Account Of Japan's Criminal Underworld. Da Capo Press, 1986.
Saga, Junichi. Confessions of a Yakuza. ‎Kodansha International, 2013.
Whiting, Robert. Tokyo Underworld: The Fast Times and Hard Life of an American Gangster in Japan. New York : Vintage, 2000.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา