2 เม.ย. 2023 เวลา 23:51 • สุขภาพ

Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 8 ยุคทองของบริษัทยายุโรป

ใน EP ที่แล้วเราได้เห็นถึงกำเนิดของอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่ ซึ่งเริ่มจากอุตสาหกรรมสีย้อมผ้าเคมีที่ประเทศเยอรมัน ในปลายคริสตศตวรรษที่ 19
สำหรับ EP นี้เราจะจับความตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมยาที่เกิดขึ้นบนฝั่งแม่น้ำไรน์ในยุโรป เล่าถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เรื่อยไปจนถึงสงครามโลกที่เปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมไปอีกขั้นหนึ่ง
ธุรกิจโรงงานสีย้อมผ้าเกิดขึ้นและตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำไรน์ จนกลายเป็นโรงงานยาขนาดใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรปชอบตั้งอยู่ริมแม่น้ำแห่งนี้ ทำให้ง่ายต่อการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้วทางน้ำ ผ่านประเทศเยอรมัน ยุโรปตะวันออก ยุโรปเหนือ และกระจายออกสู่ทั่วโลกผ่านปากแม่น้ำที่ทะเลเหนือ
นอกจากเยอรมันแล้ว ยังมีกลุ่มบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว ทำสีย้อมผ้าเคมี ณ เมืองบาเซิล (Basel) บริเวณแม่น้ำไรน์ ที่หันเหมาทำธุรกิจยาสังเคราะห์ เช่น บริษัท Roche, Ciba-Geigy และ Sandoz ทุกวันนี้ล้วนกลายเป็นบริษัทยาข้ามชาติไปหมด
เหตุที่บรรดาบริษัทสีย้อมผ้าเคมีเหล่านี้ สามารถสับเปลี่ยนมาผลิตยารักษาโรค จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมยาสมัยใหม่ อธิบายได้ว่า ก็เพราะหากุญแจมาได้ครบสามดอก
กุญแจที่ว่านั่นคือ "ความรู้" ในสามวิชา ได้แก่วิชาแพทย์ วิชาเคมี และวิชาจุลชีววิทยา
1
นอกจากนี้ บริษัทพวกนี้ยังมีลักษณะร่วมกันอีกอย่างคือ ล้วนต่างทุ่มเทในงานวิจัยและพัฒนา ไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อรากฐานเป็นบริษัทเคมี ยาทั้งหมดที่ผลิตจึงเป็นยาเคมีสังเคราะห์หรือกึ่งสังเคราะห์ (คือสังเคราะห์โดยอิงกับโครงสร้างเคมีของสารธรรมชาติ)
นับได้ว่าปฏิรูปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือจากการคิดค้นและพัฒนายาวิธีเดิมที่ใช้สารธรรมชาติแท้ ๆ เป็นวัตถุดิบ ที่มักซับซ้อนและมีราคาแพง
ในเวลาไม่นานบริษัทเหล่านี้ก็จับจุดได้ว่า ยาที่เป็นที่ต้องการมากในหมู่ผู้บริโภคคือ พวกยาแก้ปวดลดไข้ (analgesics), ยาชาและยาสลบ (anesthetics), กับยานอนหลับ (hypnotics)
ในยุคนั้น พวกเขาใช้กองทัพนักเคมีของบริษัท ทุ่มคิดค้นยาใหม่ จนสามารถสังเคราะห์และผลิตออกมาได้มากมาย
1
"ยาชาและยาสลบ เริ่มใช้กันตั้งแต่เมื่อไหร่?"
ผู้เขียนเพิ่งไปถอนฟันมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ หมอฟันจะเริ่มจากฉีดยาชาให้เราไม่เจ็บทรมาณเวลาที่ถูกหมอดึงหรืองัดฟันออกมา แม้จะเจ็บจากเข็มฉีดยาตอนแรกแต่ก็ต้องยอม
เป็นเรื่องยากที่คนในยุคปัจจุบันจะเข้าใจการใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ต้องถอนฟันโดยไม่ใส่ยาชา หมอผ่าตัดต้องตัดขาคนโดยไม่มียาสลบ ฯลฯ คนสมัยนั้นเขาอยู่กันได้อย่างไร?
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.​1846 เรื่องราวของการใช้ยาสลบเคมีในการผ่าตัดครั้งแรกในโลก ถูกบันทึกไว้เมื่อครั้งที่มีการใช้ diethyl ether และคลอโรฟอร์ม (chloroform) ในการผ่าตัด การวางยาสลบครั้งนั้นได้ผล บรรดาแพทย์จึงหันมาใชัสารกลุ่มนี้แทนสารในกลุ่มฝิ่น (opiates) และ tropane alkaloids ที่สกัดได้จากพืช เนื่องจากค่อนข้างมีความปลอดภัยกว่า และที่สำคัญคือพิสูจน์ได้ว่าคนไข้สลบจริง ๆ
การจำลองเหตุการณ์การใช้ยาสลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดย William T. G. Morton เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1846 ที่โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital เมืองบอสตัน, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2220536
ตั้งแต่นั้นมา ether ก็ปฏิรูปการผ่าตัดไปอย่างสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นมาตรฐานในการผ่าตัด ทำให้เปิดประตูไปสู่ปฏิบัติการทางการแพทย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในและนอกร่างกาย อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
"ยุคของยาแก้ปวดลดไข้"
ในช่วงแรกของยุคแห่งยาเคมี นอกจากเฮโรอินที่กล่าวถึงไปแล้วใน EP ก่อน ก็มียาที่ส่งผลต่อระบบประสาทในทำนองคล้ายคลึงกันหลายตัวออกมาป้อนตลาด นำโดยบริษัท Hoechst และ Bayer ที่ประสบความสำเร็จพอ ๆ กัน เริ่มมีผลงานทยอยออกสู่ตลาด และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และต่างมีโรงงานเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วยุโรป
เมื่อเริ่มมียาใช้ ผลข้างเคียงนานาชนิดก็เริ่มปรากฏให้เห็น (เฮโรอินเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา) โจทย์สำคัญกลายเป็นว่า ทำอย่างไรให้ได้ยาที่มีประสิทธิผลดี แต่ผลข้างเคียงไม่มากจนเกินไป (เพราะยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง) และไม่มีฤทธิ์เสพติด
ฝ่ายผู้ผลิตก็แอบหวังว่า ฤทธิ์ของยาเคมีสังเคราะห์จะแรงกว่าและก่อผลข้างเคียงน้อยกว่ายาจากสารธรรมชาติ​ ที่มนุษย์รู้จักฤทธิ์กันดีมาก่อนนั้นแล้ว เช่น มอร์ฟีน และ acetysallicylic acid
จนมาวันหนึ่ง ในปี 1899 นักเคมีของบริษัท Bayer หลายกลุ่ม ที่เพียรปรับโครงสร้างโมเลกุลของมอร์ฟีนกับกรด Salycilic acid ก็ได้ยาแก้ปวดออกมาสองขนาน หนึ่งคือเฮโรอิน อีกชนิดหนึ่งคือแอสไพริน ซึ่งอย่างหลังเคยสกัดจากใบของต้นหลิว (willow) แต่ในทางอุตสาหกรรมใช้การสังเคราะห์ทางเคมี ที่เลียนแบบและปรับปรุงให้ออกฤทธิ์ดีขึ้นและปลอดภัยกว่า
1
ยาแอสไพรินบรรจุกล่องแบบเก่า 20 เม็ด (Photo Credit: Nikolay Korarov)
ในขณะที่เฮโรอินมีผลข้างเคียงคือเสพติดรุนแรง จนต้องเลิกผลิต แต่แอสไพรินได้กลายเป็นยามหัศจรรย์ที่ใช้แก้ปวด ลดไข้ ลดอักเสบ ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันมะเร็ง และอื่น ๆ สารพัด เป็นยาที่ใช้กันมากที่สุดในโลก ติดตลาดและสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ผลิตมาจนถึงในปัจจุบันนี้
"ยาที่ผลิตโดยเครื่องจักร"
ในห้วงเวลาที่อุตสาหกรรมเริ่มเติบโตจากความสำเร็จของยาเคมี เป็นช่วงเวลาเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ที่ทำให้เกิดความนิยมในการใช้เครื่องจักรในการผลิต จึงมีอีกนวัตกรรมหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวเร่งความนิยมในสินค้า นั่นก็คือ เครื่องอัดเม็ดยา
เครื่องอัดเม็ดยาเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นโดยฝรั่งเศส ทำให้เกิดความสะดวกเป็นอย่างมากในการนำตัวยาที่เป็นสารออกฤทธิ์ มาผสมเข้ากับสารปรุงแต่งยาอัดขึ้นรูปเป็นเม็ดกลม ๆ เพื่อให้จับตัวและคงสภาพได้นาน ขนส่งไปได้ไกล รวมทั้งกำหนดปริมาณการกินยาแต่ละครั้งได้แม่นยำขึ้น
เครื่องอัดเม็ดยารุ่นแรก ๆ (Photo Credit: ,Fantus, Bernard, Wikipedia.org)
เครื่องอัดเม็ดยา กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถผลิตยาเม็ดออกมาเป็นอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมาก คุณภาพสม่ำเสมอ และง่ายต่อการรับประทาน ส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัวออกไปอีก
"มหาสงครามที่นำมาซึ่งความตกต่ำ ก่อนที่จะรุ่งเรืองสุดขีด"
ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมยากำลังสดใส เงามืดได้ก่อตัวขึ้นที่จะส่งผลกระทบ "ป่วน" อุตสาหกรรมยาในเวลานั้นไปในหลายทิศทาง นั่นคือมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มขึ้นที่ยุโรป
เมื่อเยอรมันแพ้สงคราม สิทธิบัตรของบรรดาบริษัทเยอรมันที่สหรัฐอเมริกาถูกยกเลิกการคุ้มครอง เปิดโอกาสให้บริษัทสัญชาติอเมริกันเข้ามายึดครองทั้งพื้นที่ตลาดและเทคโนโลยี ผลิตและขายยาที่เยอรมันเคยเป็นเจ้าของได้ตามอำเภอใจ
ประเทศต่าง ๆ ที่ชนะสงครามระงับการนำเข้ายาจากเยอรมัน และสาขาของบริษัทเยอรมันนอกประเทศถูกปิด
หนึ่งในบริษัทยาเก่าแก่ของเยอรมันคือ Merck (เราเคยพูดถึงเมื่อหลาย EP ที่แล้ว) ที่ต่อมาเป็นยักษ์ใหญ่เจ้าของยากลุ่มโอพิออยด์ เช่น มอร์ฟีนและออกซิโคโดน
ขอหมายเหตุตรงนี้สักนิด ออกซิโคโดน ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นตัวยาสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเสพติดยาถึงขั้น วิกฤตทั่วอเมริกา แต่เหตุการณ์นั้นตัวละครหลักคือบริษัทยาอเมริกันชื่อ Perdue Pharma และมาเกิดขึ้นในยุคหลังทศวรรษ 1990 เราคงจะได้เรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังต่อไป
ย้อนไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 Merck ได้ขยายฐานการผลิตและวิจัยไปทั่วโลก รวมทั้งไปเปิดสาขาที่ชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา
หลังสงคราม สาขาของ Merck ที่สหรัฐอเมริกาแยกออกจากบริษัทแม่กลายเป็นลูกกำพร้า และที่สุดถูกกลืนให้กลายเป็นบริษัทอเมริกันที่วันนี้รู้จักกันในชื่อ Merck, Sharpe and Dome (MSD)
จากนั้นมา MSD และบริษัทยาค่ายอเมริกันอีกหลายแห่งก็เริ่มเติบโตจากการลงทุน วิจัย และพัฒนามาจนครองตลาดโลกได้ไม่น้อยในปัจจุบัน
ด้านเยอรมันเองก็พลิกฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากสงครามผ่านไป นอกจากนี้ยังรวมเอา Hoechst, Bayer เข้ามาตั้งขึ้นเป็นกลุ่มบริษัทเคมีขนาดยักษ์ชื่อ IG Farben (ในกลุ่มยังมีรายใหญ่อื่น ๆ อย่าง BASF, Agfa, Casella, Kalle ด้วย)
สำนักงานใหญ่ของ IG Farben ปัจจุบันเป็นของมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต (Photo Credit: By Eva K. - Eva K., GFDL 1.2, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=7475533)
ปี ค.ศ. 1926 IG Farben กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ทรงอิทธิพลระดับโลก เป็นเจ้าของตลาดมูลค่าถ้าเทียบเป็นเงินปัจจุบันคือ 6 พันล้านยูโร และมีแรงงานถึง 1 แสนคน ที่ประชุมผู้บริหารบริษัทมีอำนาจย่ิงใหญ่ ถึงขนาดถูกเรียกว่า "สภาแห่งพระเจ้า"
1
เยอรมันพร้อมที่จะผงาดกลับขึ้นมาอีกครั้ง และคราวนี้งานวิจัยที่ IG Farben กำลังนำไปสู่กำลังอำนาจของประเทศภายใต้การปกครองของนาซี และการถือกำเนิดขึ้นของยาปฏิชีวนะเคมีตัวแรกของโลก
เราจะคุยกันเรื่องนี้ใน EP ต่อไป
ข้อมูลอ่านเพิ่มเติม
โฆษณา