5 ก.ย. 2022 เวลา 00:22 • สุขภาพ
Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 7 เรื่องราวของควินิน กับกำเนิดบริษัทยาข้ามชาติ
ช่วงเวลาที่ยาถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคน รับใช้สังคมเป็นภารกิจหลักนั้น เอาเข้าจริงช่างแสนสั้น เพราะถูกแทนที่ด้วยภารกิจ "สร้างความมั่งคั่ง" อย่างรวดเร็ว
ใน EP นี้ เราจะไปทำความรู้จัก "มือ" ที่เอื้อมไปเปิด "ประตูสู่ความมั่งคั่ง" ​นี้
โลกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เหตุการณ์เริ่มจากเรื่องราวที่มาของ "ยาควินิน" ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย
มาลาเรียเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์มาตลอด เป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของโลกมาตั้งแต่ยุคโบราณ
อาการมากมายหลายอย่างที่เกิดจากโรคมาลาเรีย (Photo Credit: Häggström, Mikael (2014). "Medical gallery of Mikael Häggström 2014". WikiJournal of Medicine 1 (2). DOI:10.15347/wjm/2014.008. ISSN 2002-4436. Public Domain)
โรคนี้เกิดจากจุลินทรีย์ประเภทปรสิต ที่อาศัยเม็ดเลือดแดงของมนุษย์เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และติดต่อโดยอาศัยยุงเป็นพาหะ และเป็นโรคที่ไม่มียารักษา
เราเคยผ่านตาไปใน EP ต้น ๆ ของซีรีส์ว่า กรุงโรมอันเลื่องลือ คาดว่าล่มสลายไปด้วยเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ การแพร่ระบาดของมาลาเรีย
มาถึงยุคที่นักล่าอาณานิคมและหมอสอนศาสนาชาวสเปน เดินทางไปแสวงเมืองขึ้นที่อเมริกาใต้บริเวณประเทศเปรูปัจจุบัน
จึงพบว่าชาวพื้นเมืองใช้เปลือกไม้ของต้นซิงโคนา (Cinchona) ที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ควินา-ควินา" มาต้มกับน้ำแล้วดื่มกิน ใช้รักษาไข้ที่เกิดจากโรคประหลาดในท้องถิ่นได้
ภายหลังชาวยุโรปก็พบว่า โรคประหลาดนั้นก็คือมาลาเรียนั่นเอง และเปลือกไม้จากแดนไกลใช้ก็รักษาโรคได้จริง
จึงได้เกิดอุตสาหกรรมนำเข้าเปลือกไม้ของต้นซิงโคนามายังยุโรปกันขนานใหญ่ ไม่นานป่าที่เปรูก็แทบไม่เหลือหลอ ทางการเปรูรีบประกาศห้ามส่งออกเมล็ดและต้นกล้าของไม้นี้
อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้ลอบฉวยเมล็ดจำนวนมากมาปลูกที่ศรีลังกา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
กลายเป็นชาวดัทช์ที่ซื้อเมล็ดจากอังกฤษไปปลูกที่เกาะชวาได้เป็นล่ำเป็นสัน และนี่คือความลับที่ช่วยให้ดัทช์ยึดครองดินแดนอาฟริกาใต้และกาน่าได้
นักเคมีชาวยุโรปลองนำเปลือกไม้มาสกัดสารออกฤทธิ์ได้ และพบว่าที่แท้มันก็คืออัลคาลอยด์ชนิดหนึ่ง (อีกแล้ว) จึงเรียกว่า "ควินิน" และนำไปรักษาชีวิตของคนได้นับล้านทั่วโลกเพราะไม่ได้มีการจดสิทธิบัตร
1
ยาควินิน (Photo Credit: Mary Evans Picture Library)
แต่ไม่นานยาควินินก็ขาดตลาด นี่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับมหาอำนาจจักรวรรดินิยม เพราะขาดยาก็ยากที่จะไปยึดครองดินแดนในเขตร้อนที่มียุงชุกชุมได้ต่อไป (ยาเป็นอุปกรณ์เสริมในการล่าอาณานิคม)
1
จึงเริ่มมีความคิดขึ้นมาว่าน่าจะสังเคราะห์ขึ้นมาในห้องแลปเคมีได้ไม่ยาก ถึงกับมีการตั้งรางวัลให้แก่คนที่สังเคราะห์ยาควินินได้ครึ่งปอนด์
แต่ก็ไม่มีใครประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ด้วยวิธีทางเคมี เพราะความรู้ทางเคมีอินทรีย์ของวงการยุคนั้นยังต่ำต้อยอยู่มาก แม้แต่อะตอมกับโมเลกุลเราก็ยังไม่เข้าใจมันเลย
จนกระทั่งมาถึงมือของนายวิลเลียม เพอร์กิน (AD1838-1907) หนุ่มอังกฤษวัย 18 ปีที่ขณะนั้นมีอาชีพเป็นนักไวโอลิน แต่หลงรักวิชาเคมี
William Perkin ในวัยหนุ่ม ภาพนี้ถ่ายเมื่ออายุ 14 ปี (Photo Credit: Science History Institute)
เพอร์กินมีห้องแลปที่บ้าน จึงพยายามสังเคราะห์ยาควินินในบ้านของตัวเอง จนกระทั่งทำไปทำมาไม่ได้ยาควินิน แต่กลับได้สารเคมีสังเคราะห์ที่มีสีม่วงฉูดฉาด
สารนี้ทนทานมาก ติดเสื้อก็ซักไม่ออก ต้มก็ไม่ออก จึงยอมแพ้และเรียกสารนี้ว่า aniline purple แล้วขอเงินพ่อตั้งบริษัทผลิตสีย้อมผ้า แล้วเปิดโรงงานผลิตเสียเลย
สารนี้คือสีสังเคราะห์ชนิดแรกของโลก ต่อมามีชื่อว่า Mauveine ปรากฏว่ากลายเป็นนวัตกรรมสำคัญแห่งยุค
ถึงขนาดสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่ใส่เสื้อย้อมสีของเพอรืกิน ก็กลายเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์คนสำคัญ ส่งผลให้ยอดซื้อหลั่งไหลเข้ามาถล่มทลายจากทั่วโลก
พระราชีนีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ในชุดผ้าย้อมสีม่วง mauveine
อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ทางเคมีจึงเริ่มขึ้นที่อังกฤษ แตกแขนงมาจากความพยายามสังเคราะห์ยาในยุคนั้น
แต่ต่อมาไม่กี่สิบปีจักรวรรติเยอรมันก็สร้างความเข้มแข็งขึ้นมาจากความเก่งในวิชาเคมีที่ถือว่าเป็นที่สุดของโลก และกลายเป็นศูนย์กลางเคมีของยุโรป กลบรัศมีของอังกฤษไปเสียสิ้น
ส่วนเพอร์กินในช่วงท้ายของชีวิต หลังจากได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นเซอร์ และร่ำรวยจากโรงงานที่ขยายสาขาไปทั่วยุโรป
แต่สุดท้ายต้านกระแสของค่ายเยอรมันไม่ไหว เขาได้ขายบริษัทให้กับเยอรมันและกลับไปเป็นศาสตราจารย์ทางเคมี สร้างชื่อที่เป็นที่จดจำมาถึงวันนี้ด้วย "ปฏิกิริยาเพอร์กิน" (นักเคมีทุกคนรู้จัก)
Sir William Perkin ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง (Photo Credit: Unknown author - English Wikipedia. - Scanned photograph from F. J. Moore's book, A History of Chemistry (1918). - Popular Science Monthly Volume 69, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6343060)
ระหว่างนั้นเยอรมันได้ตั้งกองทัพโรงงานผลิตสีเคมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ระดมจ้างนักเคมีเป็นพัน ๆ คน เพื่อคิดค้นสีเคมีใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก
เหตุผลที่เยอรมันชนะ ก็เพราะพลังอำนาจของทุนนิยมที่พัฒนาถึงขั้นสูง ที่ตั้งอยู่ชุกชุมบริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์
บริษัทที่ตั้งขึ้นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็เช่น BASF ที่เมือง Ludwigshafen, Hoescht ที่เมือง Frankfurt (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทยา Sanofi), และ Bayer แห่งเมือง Leverkusen ที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว
ไม่นานบรรดาบริษัทผู้ผลิตสีสังเคราะห์เหล่านี้พบว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว ขณะที่มีนักเคมีนับเป็นพัน ๆ คนเริ่มนั่งตบยุงว่างงาน
ผู้บริหารบริษัทเหล่านี้จึงหันกลับมาแสวงหาโอกาสในตลาดยารักษาโรคอีกครั้ง ด้วยการใช้นักเคมีคิดค้นยาสังเคราะห์แทน
นี่คือกำเนิดของอุตสาหกรรมยายุคใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จากการวิจัยเพื่อค้นหายาต้านมาลาเรีย
จนค้นพบและสังเคราะห์สีย้อมผ้าโดยบังเอิญของหนุ่มเพอร์กินชาวอังกฤษ เกิดเป็นอุตสาหกรรมเคมีขนาดใหญ่
แล้วจึงเลี้ยวกลับมากลายเป็นอุตสาหกรรมยา
และต่อมา ยาก็เข้าสู่ยุคของการรับใช้ผู้มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้สร้างความมั่งคั่งอย่างเต็มตัว แต่สงครามที่ก่อตัวขึ้นในยุโรปกำลังจะพลิกหน้าประวัติศาสตร์ต่อไป
แถมท้ายนิดหนึ่ง ในที่สุดการสังเคราะห์ยาควินิน มาทำได้สำเร็จภายหลังต่อมาอีกนาน โดยศาสตราจารย์วู้ดเวิร์ด (R.B. Woodward, AD1917-1979) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดในปี 1944
เขาได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา แต่ในทางอุตสาหกรรมต้นทุนการสังเคราะห์ก็ยังสู้การสกัดจากธรรมชาติไม่ได้
Robert Woodward ผู้สังเคราะห์ยาควินินได้สำเร็จ (Photo Credit: The Nobel Foundation - http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/chemistry/laureates/1965/, https://en.wikipedia.org/w/index.php?curid=34664939)
อนิจจา... ควินินแม้จะยังผลิตและใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยมูลค่าตลาดเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
แต่ก็ไม่ใช่ยาตัวเดียวที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียอีกต่อไป และไม่ใช้ตัวที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ เพราะโรคนี้ดื้อยา จึงต้องการยาใหม่อยู่เสมอ
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรวมทั้งนักวิจัยไทย ก็ยังคงแสวงหายามาลาเรียที่ดีที่สุดกันอยู่
References & Further Readings
Quinine and the Birth of the Dye Industry
โฆษณา