22 ส.ค. 2022 เวลา 13:30 • หนังสือ
💥เพียง 3 วินาที สมาธิก็แตกกระเจิงได้!
บทความก่อนผมเขียนถึงการแบ่งช่วงเวลาทำงานและช่วงเวลาพักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทำให้เรามีสมาธิโฟกัสได้ดีกับงานตรงหน้า
แต่สมาธิ โฟกัส หรือความตั้งใจเหล่านั้นจะหายไปใน 3 วินาที! หากเราไม่ลดสิ่งรบกวนสมาธิของเราออกไปเสียก่อน!!
งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ในระหว่างที่เรากำลังทำงานอย่างมีสมาธิอยู่นั้น โดยเฉพาะงานที่มีความยากและซับซ้อนมาก ๆ หากมีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้นมาแล้วเราหันไปมองข้อความแจ้งเตือนนั้นแค่เพียง 3 วินาที เราอาจต้องกลับมาทำสมาธิเพื่อเริ่มต้นงานใหม่อีกครั้งและกว่าจะกลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพดังเดิมก็อาจใช้เวลากว่า 23 นาทีเลยทีเดียว (หรืออาจจะมากกว่านั้นถ้าเราเผลอไปไถโทรศัพท์เล่นต่อ)
แต่ถ้างานนั้นไม่ได้ยากนักและสิ่งที่เข้ามารบกวนสมาธิเราเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานที่เรากำลังทำอยู่ก็อาจจะใช้เวลาไม่มากเท่า "แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าเราทำงานได้เต็มที่ไม่เสียสมาธิไปกับสิ่งรบกวนใด ๆ ?"
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือการจัดการกับเรื่องไม่จำเป็นที่จะเข้ามาแทรกและรบกวนสมาธิในการทำงานของเราออกไปให้ได้มากที่สุด
Level 1. เริ่มจากการปิดแจ้งเตือนก่อนเลย กับทุกแอปฯ ในโทรศัพท์และทุกโปรแกรมในอุปกรณ์เรากำลังใช้ทำงาน อันไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่เรากำลังทำ ไม่ใช่แค่ปิดเสียงหรือเปิดสั้นแต่ควรเข้าไปตั้งค่าปิด Notification ไปเลย เพราะถึงเราจะไม่ได้ยินเสียงแต่หากเราเหลือบตาไปเห็นก็อาจเสียสมาธิได้เช่นกัน
Level 2. ปิดอินเทอร์เน็ตหรือเปิดโหมดห้ามรบกวน อันนี้ก็จะได้ไม่ต้องมี Notification เด้งขึ้นมาให้รบกวนสายตา หรือทางที่ดีก็เอาโทรศัพท์ของเราไปไว้ในที่ไกลตาเพื่อลดการมองเห็นของเราด้วยก็ได้ เราจะได้ไม่วอกแวกอย่างเล่นอยากเช็คโทรศพัท์ขึ้นมา
Level 3. ปิดโทรศัพท์ อันนี้อาจจะดูหักดิบไปซะหน่อยแต่จะช่วยให้เรามีสมาธิเพิ่มมากขึ้นและไม่โดนรบกวนได้แน่ ๆ เพราะเมื่อเรารู้ว่าจะไม่มีใครโทรมาหรือติดต่อมาได้ชัวร์ ๆ เราจะทำงานได้อย่างเต็มที่และมีสมาธิที่มากขึ้น
แต่หลายคนก็อาจจะเกิดความกังวลใจขึ้นมาว่า "แล้วถ้ามีเรื่องด่วนเรื่องสำคัญล่ะจะทำยังไง?"
ก่อนอื่นเลย Level 0. หลังจากที่เราตัดสินใจได้แล้วว่าจะใช้วิธีเหล่านี้ให้เราประกาศกออกไปบออกกล่าวให้คนรอบตัวหรือเพื่อนร่วมงานได้รู้รวมถึงขอความร่วมมือจากพวกเขาว่าช่วงเวลาไหนที่เราอยากใช้สมาธิในการทำงานจริง ๆ จะไม่สามารถติดต่อได้ชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น "ช่วงครึ่งวันเช้าอยากจะใช้สมาธิในการทำงาน ถ้าไม่มีอะไรเร่งด่วนขอให้ติดต่อมาในช่วงบ่ายแทน" รวมถึงเตรียมช่องทางติดต่อด่วนหรือ hotline เอาไว้ด้วยจะได้สบายใจกันทั้งสองฝ่าย
ส่วนใครที่ต้องทำงานติดต่อกับผู้คนบ่อย ๆ ต้องโทรศัพท์ต้องเช็คอีเมลบ่อยครั้ง วิธีก็อาจจะไม่เหมาะ แต่ก็อาจจะลองนำไปปรับใช้ได้กับในช่วงเวลาอื่น เช่นเวลาพัก เวลาส่วนตัวของเรา
วิธีนี้อาจต้องใช้เวลากันซักหน่อยในการสร้างความเข้าใจกับคนรอบข้าง รวมถึงใช้เวลากับตัวเราเองในการทำใจที่จะไม่เช็คโทรศัพท์ไม่ไถโซเชียลมีเดียเล่น แต่พอเริ่มทำไปได้ซักพักเราจะพบว่า "จริง ๆ แล้วไม่มีใครติดต่อมาในช่วงเวลานั้นหรอก บางคนก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราหายไปจากโลกโซเชียลในตอนนั้น"
สุดท้ายนี้คือให้คิดอยู่เสมอว่า "เราต้องรู้จักรักษาช่วงเวลาของเราเอาไว้ด้วยตัวเราเอง เคารพกฎเคารพข้อตกลงที่เราตั้งขึ้นมากับตัวเอง" แล้วเราจะรู้สึกว่า "เราสามารถกำกับและดูแลชีวิตตัวเองได้"
"." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor
#psychology #จิตวิทยา #พัฒนาตนเอง #selfdevelopment #selfgrowth #Productivity #Productive #Priority #Timemanagement #Focus #Flow #POMODORO #Rest | 070/2022 (มนุดปอ Ep.110)
👨🏻‍🏫อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
📙หนังสือ
- LIFE HACKS มูฟออนชีวิต เริ่มคิดแบบเล็ก ๆ | Masatake Hori
- Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น" | James Clear
📃บทความ
- "พักซะเบรคบ้างเพื่อสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ" เพราะพลังความตั้งใจของเรามีจำกัด | มนุดปอ Ep.109
- โฟกัสกับงานนานๆ ไม่ได้ทำอย่างไรดี? | learninghubthailand
โฆษณา