24 ส.ค. 2022 เวลา 08:47 • สุขภาพ
มารู้จักการรักษาโดยคลื่นกระแทกกัน (Extracorporeal ShockWave Therapy for musculoskeletal disorders)
การรักษาโดยคลื่นกระแทก (Extracorporeal ShockWave Therapy, ESWT) คนไข้ที่มารักษาส่วนใหญ่มักจะยังไม่รู้จัก และไม่ทราบว่า การรักษานี้คืออะไร รักษาได้อย่างไร ได้ผลหรือไม่
แต่เดิมการรักษาโดยวิธีนี้เริ่มจากการใช้สลายนิ่วในไต จากนั้นได้มีการพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษาภาวะเกี่ยวกับ กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกต่างๆ (Musculoskeletal Medicine) ที่มีการอักเสบ หรือ บาดเจ็บ รวมถึง กล้ามเนื้อตึงหรือจมยึด (Myofascial pain) ด้วย ปัจจุบันเราจะเห็นการใช้ ESWT บ่อยๆ ในการบาดเจ็บจากการกีฬา ในงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด หรือ แม้แต่ใน office syndrome
Q: ESWT มักใช้ในภาวะใด
A: ในกลุ่มของโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก (musculoskeletal disorder) ได้แก่ ภาวะเอ็นอักเสบต่างๆ (tendinitis) เช่น tennis elbow ที่ศอก, patellar tendinitis ที่เข่า, ผังผืดอักเสบ เช่น รองช้ำ (plantar fasciitis), กล้ามเนื้อตึงจมยึด (myofascial pain หรือ trigger point), หินปูนเกาะเอ็น (calcific tendinitis) ในบางครั้งมีการนำมาใช้ในกระดูกที่ติดไม่ดี (non-union) หรือ กระดูกขาดเลือด (avascular necrosis)
Q: ESWT รักษาโรคได้อย่างไร
A: เป็นคลื่นกระแทกที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีการอักเสบหรือบาดเจ็บ เกิดการกระตุ้นบริเวณที่บาดเจ็บทำให้เร่งการซ่อมแซมบริเวณดังกล่าว กระตุ้นให้เนื้อเยื่อหลั่งสารลดการอักเสบ ลดอาการปวด และ รักษาฟื้นฟูเนื้อเยื่อ
Q: การรักษาด้วย ESWT มีข้อดี และข้อเสียอย่างไร
A: ข้อดี ของการรักษาโดย ESWT เป็นการใช้คลื่นกระแทกทำให้ร่างกายเกิดการกระตุ้นการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อ (tissue repair) ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากสารภายนอก ข้อเสีย คือ ขณะที่ทำการรักษาจะมีอาการเจ็บ ตรงตำแหน่งที่มีการอักเสบ หรือ บาดเจ็บ เพื่อให้เกิดการรักษาตัวบริเวณนั้น แต่สามารถปรับพลังงานขณะยิง ให้เหมาะสม ให้อาการเจ็บอยู่ในระดับที่ทนได้ (tolerable level)
Q: ESWT มีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร
A: Focus & Radial ทั้งคู่ให้คลื่นกระแทกออกมาเหมือนกัน เพียงแต่จะเลือกชนิด และพลังงานที่ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง และความลึกของบริเวณที่ทำการรักษา
Q: การรักษานี้ มีข้อควรระวังหรือไม่
A: เรามักหลีกเลี่ยงการใช้ ESWT ในหญิงตั้งครรภ์​ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีไข้ไม่สบายอยู่ หรือโรคของกล้ามเนื้อกระดูกที่เป็นโรคจากปัญหาภาวะภูมิคุ้มกันต่างๆ (rheumatological disease) บริเวณที่รักษาไม่ควรมีอาการชา การรับรู้ความรู้สึกลดลง (neuropathy) หรือมีความไวต่อความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น (hypersensitivity) หรือ มีแผลเปิด
Q: คำแนะนำอื่นๆ
A: การรักษาโดย ESWT อาจต้องทำต่อเนื่องหลายครั้งจึงจะได้ผลดี ขึ้นกับอาการ และการวินิจฉัย ในแง่ของระยะห่างในการรักษาแต่ละครั้ง อาจอยู่ในช่วง 5–10วัน นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ ESWT เป็นเพียงการรักษาเบื้องต้น เมื่อปวดลดลงแล้ว ควรรักษาสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนั้นๆ เช่น เอ็นกล้ามเนื้อตึง หรือ ไม่แข็งแรง ต้องทำท่าบริหารออกกำลังกายกายภาพบำบัดต่างๆ ให้ฟื้นฟูกลับมา
fb : @RehabYourLife
References
Reilly JM et al., Narrative Review on the Effect of Shockwave Treatment for Management of Upper and Lower Extremity Musculoskeletal Conditions., PM R. 2018 May 31.
Ching Jen Wang, Extracorporeal shockwave therapy in musculoskeletal disorder, J Orthop Surg Res, 2012; 7:11.
โฆษณา