27 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ภัยแล้งครั้งสำคัญของมนุษยชาติ
“ภัยแล้ง” เป็นเพียงไม่กี่เหตุการณ์เท่านั้นในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่สร้างความเสียหายรุนแรง จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างใหญ่หลวงซ้ำแล้วซ้ำอีก
นอกจากนี้ ภัยแล้งยังไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้คนแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่มันสร้างความเสียหายให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่แทบทุกมุมโลก
แม้กับอาณาจักรที่รุ่งโรจน์หลายแห่งในอดีต ที่สามารถสร้างอารยธรรม และความยิ่งใหญ่ ก็ไม่สามารถหลีกหนีปัญหาภัยแล้งไปได้ หลายที่เมื่อเผชิญกับภัยแล้ง สุดท้ายต้องพบกับจุดจบที่การล่มสลายทีเดียว
📌 ภัยแล้งกับอาณาจักรในอดีต
โดยภัยแล้งครั้งใหญ่ครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมของมนุษย์ ต้องย้อนกลับไปไกลถึง 70,000 - 130,000 ปีก่อนที่ทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นอารยธรรมตั้งต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ปัจจุบัน
ที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากการขุดเจาะชั้นหินบ่งชี้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว แหล่งน้ำสำคัญของทวีปแอฟริกาลดลงอย่างมาก จนยากต่อการอยู่อาศัย และหลังจากนั้นก็เกิดการ “อพยพครั้งใหญ่ออกจากทวีปแอฟริกา”
ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยทางด้านภัยแล้งนี่เอง ทำให้เกิดการขยายตัวของเผ่าพันธุ์มนุษย์มาสู่บริเวณทวีปอื่นๆ
ต่อมา ในยุคที่มนุษย์เริ่มรวมตัวกันเป็นสังคมใหญ่ ถึงขั้นเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ปัญหาภัยแล้งก็ยังตามมาหลอกหลอนหลายอาณาจักร จนกระทั่งอ่อนแอลง และแพ้สงครามจากผู้รุกราน
สองตัวอย่างที่สำคัญ คือ จักรวรรดิอียิปต์โบราณ ที่ถูกบั่นทอนกำลังจากภัยแล้งจนมีส่วนให้แพ้สงครามกับโรมัน ตอน 30 ปีก่อนคริสตกาล
และอาณาจักรมายันที่เจอกับภัยแล้ง จากการที่ปริมาณน้ำฝนตกลดลงกว่าครึ่ง ประกอบกับการรุกรานจากชนเผ่ารอบข้าง จนนำมาซึ่งการละทิ้งอาณาจักรเก่าของตนเอง และการล่มสลายในที่สุด
📌 ภัยแล้งกับมหาอำนาจในปัจจุบัน
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 2 แห่ง คือ สหรัฐอเมริกา และจีน กำลังเผชิญกับภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของทั้งคู่
อันที่จริง ทั้งสองมหาอำนาจก็พึ่งเจอกับวิกฤติภัยแล้งครั้งรุนแรงมา เมื่อย้อนกลับไปไม่ถึง 100 ปีเท่านั้นเอง
อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา พวกเขาเคยเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ที่เรียกว่า “The Dust Bowl” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภัยแล้งที่กินเวลานานประมาณถึง 6 ปี ทำลายทั้งพืชผลและชีวิตของผู้คนมหาศาล
ภัยแล้งในครั้งนี้ ยังตามมาด้วยการกระจายตัวของโรคทางเดินหายใจกระจายไปตามอากาศ ซึ่งสุดท้ายทำให้เกิดการอพยพของคนกว่า 2 ล้านคนออกจากดินแดน US Midwest และ Canada ที่เคยเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชขนาดใหญ่
แต่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กระทบไปทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณตะวันตกของประเทศ ที่บันทึกว่า ภัยแล้งครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่าร้อยปี
ส่วนในประเทศจีน ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา พวกเขาก็เผชิญกับภัยแล้งครั้งใหญ่มาถึง 2 ครั้ง ในช่วงปี 1928-1930 และครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2017
ซึ่งความแห้งแล้งครั้ง 1928 – 1930 ถูกเรียกโดยหลายคนว่า เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งประมาณกันว่า ภัยแล้งครั้งนี้ ทำให้เกิดภาวะอดยากกับผู้คนประมาณมากถึง 3-10 ล้านคน
ส่วนในครั้ง 2017 นั้น ก็เป็นภัยแล้งครั้งใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือสุดของประเทศจีน ที่ระบุไว้ว่า เป็นภัยแล้งที่แย่ที่สุดในบันทึกของภูมิภาคทีเดียว
อย่างไรก็ดี ภัยแล้งที่เกิดขึ้น 2 ครั้งก่อนหน้าได้เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือของประเทศจีน ซึ่งเป็นดินแดนที่ไม่ได้มีแม่น้ำใหญ่สำคัญที่ไหลผ่าน
แต่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในจีนปัจจุบัน ดันมาเกิดขึ้นในบริเวณแม่น้ำแยงซี ที่เป็นแม่น้ำสายหลักที่ยาวที่สุดในประเทศ ไหลผ่านตัดตอนกลางของจีน ที่เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ตอนหนึ่งของประเทศ
แต่ในปีนี้ เมื่อองค์ประกอบทั้งด้านความร้อนและฝนที่ไม่ตกตามปกติ ทำให้แม่น้ำสายหลักของประเทศเส้นนี้ แห้งขอดลงไปอย่างน่าใจหาย
สิ่งที่น่ากังวลใจ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งทั้งในสหรัฐฯ และจีน มีโอกาสที่จะซ้ำเติมต่อภาวะขาดแคลนและราคาที่สูงของอาหารโลก ที่พึ่งได้รับผลกระทบมาจากสงครามในยูเครน ที่เหมือนจะเริ่มฟื้นกลับมาแล้ว ให้แย่กลับลงไปอีกครั้งหนึ่ง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : United States Department of Agriculture (USDA)
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา