20 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
บทเรียนจากอดีต อะไรจะเกิดขึ้น? หากเงินเฟ้อสูงแล้วธนาคารกลางไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย
ในช่วงที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ
2
อย่างไรก็ดี หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่ว่า ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นแบบนี้ ธนาคารกลางไม่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ไหม?
อดีตที่ผ่านมา มีคนทดสอบเรื่องนี้หลายครั้งทีเดียว และก็ต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ไม่อภิรมย์ร่ำไป ซึ่งมันเกิดขึ้นกับทั้งประเทศเล็ก และประเทศมหาอำนาจ
อันที่จริง เหตุการณ์ตัวอย่างที่เราจะยกมาในบทความ เป็นตัวอย่างจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ในปัจจุบันอย่างสหรัฐอเมริกา
ที่เคยเลือกเดินทางที่ผิด คงอัตราดอกเบี้ยต่ำในภาวะเงินเฟ้อสูง และเรื่องนี้ก็ขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วในช่วงทศวรรษที่ 1970 นั่นเอง
📌 มรดกการใช้จ่ายมหาศาลจากประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson
ในยุคของประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายสำคัญที่ต้องใช้งบประมาณอย่างสูง 2 โครงการ คือ สงครามเวียดนาม และโครงการ Great Society
โดยโครงการ Great Society เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อลดความยากจน และเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนต่างๆ ในสหรัฐฯ ด้วยโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ เช่น โรงเรียน และการแพทย์
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายวาระของคุณ Johnson ก็เริ่มมีสัญญาณของเงินเฟ้อก่อตัวขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งคาดว่า มาจากการใช้จ่ายขาดดุลมากเกินไปของภาครัฐ
แต่ในตอนนั้น ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ พอดี คนที่ขึ้นมารับตำแหน่งแทนในปี 1969 ก็คือ คุณ Richard Nixon
📌 การว่างงานคือเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
คุณ Nixon พอเข้ามาเห็นภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อนๆ ในช่วงปี 1969 – 1970 ก็ต้องเริ่มตัดสินใจแล้วว่า จะดำเนินนโยบายไปอย่างไรต่อ
โดยในตอนนั้น เขาก็ตัดสินใจที่จะคงนโยบายการใช้จ่ายแบบขาดดุลของคุณ Johnson ต่อไป
แต่ก็ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันในช่วงนั้นในปี 1971 อย่าง “Nixon Shock” ที่ทางอเมริกาได้ประกาศเลิกตรึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ กับทองคำ
พร้อมทั้งยังประกาศตรึงค่าจ้างของแรงงานและปรับภาษีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเกินไป ป้องกันเงินเฟ้อ และป้องกันการแข่งขันจากสินค้าต่างชาติด้วย
การใช้จ่ายเกินดุลมหาศาล และนโยบายทางค่าเงินทั้งหมด ก็ส่งให้คุณ Nixon ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง
แต่ในสมัยที่สองนี่เอง การใช้จ่ายที่เกินตัว และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มจะแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็น กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่คุณ Nixon กังวลมากที่สุด ไม่ใช่การใช้งบขาดดุล หรือเงินเฟ้อ สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ ในตอนนั้นอยากได้มากที่สุด คือ
การที่ไม่มีคนตกงาน
และไม่มีสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง
แนวคิดนี้ดันไปขัดแย้งกับประธานธนาคารกลางสหรัฐในขณะนั้น ผู้มีชื่อว่า
William McChesney Martin ทำให้ประธานาธิบดี Richard Nixon ตัดสินใจไล่ประธานธนาคารกลางออก
และแต่งตั้งที่ปรึกษาของตนเองเข้าไปแทน ผู้มีชื่อว่า Arthur Burns
และเมื่อมีการแต่งตั้งคนเข้าไป ก็ทำการบีบให้นโยบายการเงินเป็นไปอย่างผ่อนคลายต่อไป เพื่อที่ภาครัฐจะได้สามารถใช้จ่ายเงินจำนวนมากโดยมีดอกเบี้ยที่ไม่แพง
เป็นตัวอย่างสำคัญ ที่แม้ความกังวลเงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่ธนาคารกลางก็ยังเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากเพียงพอ
สุดท้าย การใช้จ่ายที่ประธานาธิบดี Richard Nixon เชื่อว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปได้ตลอดจนไม่มีคนตกงาน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะ เงินเฟ้อเข้ากัดกร่อนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของทุกคน
เงินเฟ้อกลายมาเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และยิ่งมีการแบนการส่งออกน้ำมันจากชาติตะวันออกกลางมาสู่ตะวันตกในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 อีกก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหานโยบายการคลังและการเงินที่ไม่เหมาะสมในประเทศ
1
ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เลือกใช้นโยบายที่ไม่ต่อสู้ดูแลเงินเฟ้อมากเพียงพอ ก็ต้องไปเร่งกู้ความเชื่อมั่นจากผู้คนคืนมา แต่ราคาที่ต้องจ่ายไปก็แพงมาก
โดยหลังจากที่เงินเฟ้อเริ่มจะคุมไม่อยู่ ก็ถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
มีการแต่งตั้งคุณ Paul Volcker ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แทน คุณ Arthur Burns
Paul Volcker ได้รับการยอมรับเป็น นายธนาคารผู้ซึ่งยึดมั่นกับการจัดการเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม ในตอนนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Effective Rate) ไปสูงถึง 19%
ซึ่งการที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปมากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า ช่วงก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ยอมทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงก่อนหน้าเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง...
1
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : AP Photo via The Financial Times
บทเรียนจากอดีต อะไรจะเกิดขึ้น? หากเงินเฟ้อสูงแล้วธนาคารกลางไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา