Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิด.ตระ.ธานี #ให้ภาพเล่าเรื่อง
•
ติดตาม
29 ส.ค. 2022 เวลา 17:03 • ศิลปะ & ออกแบบ
วันก่อนเห็นโพสต์ใน facebook กลุ่มลายไทยกลุ่มหนึ่ง จั่วหัวได้น่าสนใจคือ #ลายไทยกำลังตายจากสังคมไทยจริงหรือ? อ่านไปอ่านมา จนใกล้จะจบ...อ้าว...ไหง? กลายเป็นบทความที่ผมเคยเขียนไว้นานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ที่ถูกนำกลับมาโพสต์ซ้ำอีกครั้ง...... ไม่โกรธเลยนะครับ เข้าใจว่า...ผู้โพสต์คงสนใจประเด็นที่ผมเคยแสดงความคิดเห็นไว้ ขอบคุณมากครับ
ทุกวันนี้ผมยังยืนยันว่า “ลายไทยจะไม่ตายไปจากสังคมไทยหรอกครับ” เพียงแต่...จะแตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.
#กลุ่มที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ : กลุ่มนี้จะเรียนและฝึกวาด ประกอบกับการใช้เทคนิคให้เหมือน หรือใกล้เคียงกับงานครูช่างโบราณให้มากที่สุด (ส่วนจะเหมือนกับครูช่างยุคไหน? ก็ว่ากันไปอีกทีนะ)
2.
#กลุ่มพัฒนาต่อยอด : กลุ่มนี้จะเรียนงานครูช่างโบราณเหมือนกัน แต่เพราะความคัน 555+ คืออยากดัดแปลง พัฒนาในแนวทางใหม่ๆ ให้ถูกกับจริตตัวเอง เพื่อต่อยอดงานโบราณให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น
ศิลปะไทยมีอายุยืนยาวมานานกว่า 700 ปี แต่...กลับไม่เคยหยุดนิ่ง มีพัฒนาการ เปลี่ยนแปลง และปรับปรุงรูปแบบของตัวเองอยู่ตลอดเวลา อาจมียุคหนึ่งที่นักวิชาการศิลปะบางท่านเรียกว่า #ยุคทองของศิลปะไทย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้น แต่ส่วนตัวผมคิดว่า...ลายไทยได้พัฒนาจนสุดขีดในสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะสามารถแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างชัดเจนมาก
ส่วนสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 - 3) คือการสืบทอดงานช่างจากสมัยอยุธยา แต่ยังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ไม่เคยหยุดเช่นกัน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ไทยได้รับอิทธิพลรูปแบบศิลปะตะวันตกมากขึ้น ทำให้อัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง
ทุกวันนี้สถาบันการศึกษาศิลปะในเมืองไทย ยังคงมีการเรียนการสอน “วิชาศิลปะไทย” อยู่ ส่วนความเห็นหนึ่งที่กล่าวว่า “ลายไทยไม่ตายหรอก แต่คนทำอาชีพลายไทยกำลังอดตาย” นั่นก็อีกประเด็นหนึ่งครับ ขอให้แยกกัน ผมคงตอบแบบฟันธงชัดๆ ลงไปไม่ได้ว่า หากเลือกเรียนลายไทยในยุคนี้แล้ว จบออกมาจะประกอบอาชีพอะไร?
แต่...ข้อเท็จจริง ที่แม้แต่รุ่นผม (คือ Gen X) ยังมีน้อยคนที่จะประกอบอาชีพด้วยลายไทยตรงๆ (ถ้าเอาแบบนับตัวได้ ทั้งรุ่นผมไม่น่าเกิน 3 - 4 คน จากทั้งหมดประมาณ 50 คน) แต่กลับกระจายไปอยู่ในสายอาชีพต่างๆ ทั้งออกแบบกราฟิก ออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงทำสื่อต่างๆ โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจทางศิลปะที่ตัวเองมี (ที่ไม่ใช่ลายไทยเลยสักนิด) ไปประยุกต์ใช้เพื่อประกอบอาชีพได้
ส่วนตัวผมคิดว่าเด็กๆ ยุคนี้ ควรมีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษมากกว่า 1 อย่าง และควรมีความรู้ที่หลากหลายประกอบกัน เพราะในยุคเทคโนโลยี โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความรู้เดิมๆ ที่เคยเรียนมา อาจตกรุ่นภายในไม่กี่ปี หูตาก็ต้องกว้างไกล เพราะยุคนี้คนที่เรากำลังแข่งขันด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนภายในประเทศอีกต่อไป อาจหมายถึงคนทั้งโลก เพราะความเจริญรุดหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้คนทุกวันนี้...ยิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น จำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทันครับ
ฝอยมาซะยาว ต่อไปขอเชิญชวน...ย้อนอ่านบทความเก่าของผมอีกครั้ง ในหัวข้อ “ลายไทย” กำลังตายจากสังคมไทยจริงหรือ.? หากท่านใดมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร กระทืบเมนท์กันได้ตามสะดวกเลยครับ ^_^!
เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ย. 2558 มีรุ่นน้องจาก มทร.ธัญบุรี (ต้องบอกว่ารุ่นหลานแระ เพราะเพิ่งจบหมาดๆ ป้ายแดงเลย) มาขอสัมภาษณ์และถ่ายวิดีโอ เพื่อนำไปใช้ประกอบ Thesis ก่อนจบ ป.โท ของพี่ชาย ที่เรียน Graphic Design ที่ Raffles ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับ “ลายไทย”
มีคำถามหนึ่ง ผมว่าน่าสนใจ เลยอยากจะนำมาแชร์ให้ออกความเห็นกันต่อนะครับ เพราะข้างล่างนี้เป็นเพียงความเห็นของผมคนเดียว
“ลายไทย” กำลังตายจากสังคมไทยจริงหรือ.?
จริงๆ กระแสโลก ที่ทำให้คนไทยหลายๆ คน มองด้วยความวิตกปนกังวลว่า “ศิลปะลายไทย” กำลังค่อยๆ ถูกกลืนหาย ไปในกระแสสังคมสมัยใหม่ ที่วิ่งตามตูดตะวันตก หรือผู้นำในเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ที่กำลังมาแรง แซงโค้ง และดูเหมือนกำลังค่อยๆ กลืนกินวัฒนธรรมของเรา ไปทีละน้อยๆ
แต่ผมมองว่า “ไม่หาย ไม่ตายหรอก” เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ รากเหง้าความเป็นไทย ที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทยแท้ๆ ยังไงก็ยังคงอยู่ ถึงแม้คนไทยส่วนใหญ่อาจจะดูเหมือนลืมๆ ไป หรือไม่ลึกซึ้งเท่า ถามไปก็ตอบ “ไม่รู้ๆ” ด้วยสีหน้างงๆ แต่ยังไง…ผมก็คิดว่า…เค้ายังมีสำนึกเกี่ยวกับศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สำหรับชาวต่างชาติเอง ที่มาเที่ยวเมืองไทย ก็คงไม่ได้อยากเห็นความเป็นอเมริกัน หรือความเป็นกรุงปารีส ลอนดอน ที่เมืองไทยหรอกนะ ไม่งั้นเค้าคงไม่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา เพราะการมาเมืองไทย ก็เพื่อต้องการซึมซับอะไรๆ ที่แสดงเอกลักษณ์ประจำชาติเรามากกว่า
ส่วนตัวผมรู้สึกเฉยๆ กับเรื่องนี้ เพราะสังคมมันเปลี่ยน อะไรมันก็เปลี่ยนไปตามระบบ อีกทั้งประเทศเราเอง ก็อ้าแขน เปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
บางทีกระแสโลกที่จำต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ อาจฟังดูแล้วไม่น่ากลัว เท่ากับ “ค่านิยมของคนไทยด้วยกันเอง” ที่มองเห็น และตราหน้าไว้ก่อนแล้วว่า อะไรไทยๆ ไม่ค่อยดี ไม่มีคุณภาพ ล้าหลัง แบบนี้มากกว่า ยกตัวอย่าง ศิลปินไทย ที่ต้องไปดังที่เมืองนอก ให้ฝรั่งยอมรับกันก่อน คนไทยด้วยกันเองถึงจะเปิดใจยอมรับ เป็นต้น
กรณีนี้..มันคืออะไร ? ไม่ใช่เพราะแสดงว่า พื้นฐานเราคิดดูถูกกันเองหรอกหรือ
บางทีอะไรๆ ที่มันแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดูเก่าแก่ ดูล้าหลัง หรือเชยๆ หน่อย ก็อาจถูกมองข้ามไป แต่ก็ไม่ทั้งหมดหรอก ผมแค่รู้สึกว่า….มันเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลง เป็นปกติของสังคมคนในโลก ที่จำต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างงั้น ไปบังคับ ไปหัก ไปฝืน ไปแช่แข็งให้หยุดอยู่กับที่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก
แต่..ผมมักจะเน้นหรือโฟกัสมาที่ตัวเราเองมากกว่า ซึ่งอยู่ในขอบข่ายที่เราทำได้เองอยู่แล้ว ผมเรียนจบลายไทยมาโดยตรง และทุกๆ วันนี้ ก็มีสัมมาอาชีพที่เกิดจากลายไทยนี่แหละ ไม่ได้แตกแถวไปทำอย่างอื่นมากเท่าไหร่ ผมมีแต่คิดพัฒนา เพื่อให้เข้ากับงานและสิ่งที่เราต้องการ แต่ยังคงมีรากและกลิ่นไอความเป็นไทยอยู่ สำหรับผม “ลายไทยไม่เคยตาย แต่กำลังถูกพัฒนา” คำว่า “นักออกแบบลายไทย” แบบที่รายการ “อาชีพนอกกระแส” ช่อง ทรูปลูกปัญญา ตั้งให้ผม ก็ดูเหมาะสมดีกับแนวทางที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้
และถ้าดูจากสมาชิกในกลุ่ม “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” (เว็บสอนวาดลายไทยเป็นวิทยาทาน ที่ทำมาเป็นปีที่ 7 แล้ว) ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็มีหลากหลายอาชีพ อาทิ หมอ นักเรียนประถม ผู้รับเหมา ช่างไฟฟ้า โปรแกรมเมอร์ ชาวนา นักออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงอาชีพแปลกๆ ที่ผมไม่คิดว่าเค้าจะสนใจลายไทย ก็ยังมี และมีหลากอายุตั้งแต่เด็ก 10 ขวบ ยันผู้ใหญ่ใกล้เกษียณ
ที่เรามารวมกลุ่มกันได้ เพราะมีความรักในศิลปะลายไทยเป็นพื้นฐาน และจากสมาชิกกลุ่มเล็กๆ นี้ ผมก็พอจะยืนยันได้แล้วว่า อย่างไรก็แล้วแต่ “ศิลปะลายไทย ยังคงอยู่ในสำนึกรักของคนไทย” และยังมีคนโหยหาสิ่งนี้อยู่………
อย่างน้อยๆ ถึงกลุ่มผมจะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ก็จริง แต่เราก็ยังทำมันอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบ เราสนใจ เราสนุกไปกับมัน ไม่เคยเบื่อ และไม่รู้สึกว่าเชย หรือล้าหลัง แต่อย่างใด “มันไม่หาย ไม่ตายหรอกครับ” เพราะอย่างน้อยๆ พื้นที่แบบนี้ ยังมีคนต้องการอยู่
อีกอย่างถ้าเกิดมันหายจริงๆ ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่… “มันจะถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน”
จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee
ที่มา/อ้างอิง :
●
“ลายไทย” กำลังตายจากสังคมไทยจริงหรือ.? จาก blog “พ่อไก่อูเดินเล่น” เมื่อ 9 กันยายน 2558 (2015) :
https://jitdrathanee.com/gaiu/thai-design/
●
Playlist รายการ “อาชีพนอกกระแส ตอน นักออกแบบลายไทย : Thai’s Graphic Master” :
https://www.youtube.com/watch?v=sziOK7LfZJA&list=PLiPDOtR72VDRm9FPjPq0smHkOEuDZ-0Vg
●
เว็บไซต์ “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” :
https://www.jitdrathanee.com/Learning/
●
Facebook group “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” :
https://www.facebook.com/groups/146935972023961
facebook:
www.facebook.com/jitdrathanee
Youtube:
www.youtube.com/Jitdrathanee?sub_confirmation=1
instagram:
www.instagram.com/jitdrathanee
twitter:
https://twitter.com/jitdrathanee
website:
www.jitdrathanee.com
blockdit:
www.blockdit.com/jitdrathanee
ศิลปะไทย
ศิลปะ
ลายไทย
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ลายไทย รู้หมือไร่? : งามอย่างไร-อย่างไรเรียกงาม
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย