25 ต.ค. 2022 เวลา 08:48 • ศิลปะ & ออกแบบ
#ลายไทย_รู้หมือไร่? : ผมเคยตั้งคำถามเรื่อง ความแตกต่างระหว่าง ‘ลายไทยสมัยอยุธยา’ กับ ‘ลายไทยสมัยรัตนโกสินทร์’ ใน facebook
แฟนเพจหลายท่านตอบคำถามกลับมาได้อย่างน่าสนใจ บางท่านก็รู้ลึก สนใจลองคลิกเข้าไปอ่านได้ครับ : https://www.facebook.com/jitdrathanee/posts/pfbid0Unm4QPQM69ChrnVeCnSw47ufp75iPeQpFEV8h6VAKnREhU8nhamvvgHJPPwz1Ce5l
และต่อไปนี้คือ คำเฉลย! ..... ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ร่วมสนุกตอบคำถามกันมานะครับ ผิดหรือถูกไม่ใช่ปัญหาใดๆ เลยครับ ถือว่าการได้ร่วมสนุกตอบคำถาม คือ...สิ่งที่สำคัญที่ซู๊ด.ด.ด.ด....
ภาพ ก. (ซ้ายมือ) คือ จิตรกรรมบนสมุดข่อย (ไม่ทราบที่มา) สมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 4
ภาพ ข. (ขวามือ) คือ จิตรกรรมบนสมุดข่อย วัดศรีษะกระบือ สมัยอยุธยาตอนปลาย
จริงๆ ภาพตัวอย่างที่ผมยกมาให้ดูคู่นี้ สามารถแยกความแตกต่างได้ค่อนข้างชัด แต่ยังมีอีกหลายภาพที่คล้ายหรือใกล้เคียงกัน จนแยกยุคสมัยลำบาก ต้องอาศัยการหมั่นดูงานเยอะๆ ถึงจะแยกออกครับ เพราะลายไทยเองไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่กลับมีพลวัติ มีพัฒนาการที่คลี่คลายตัวเองออกไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ตามค่านิยมและวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ไม่ต่างอะไรกับภาษา อาหารการกิน หรือวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกันนั่นเองครับ
ต่อไปมาฟังข้อแตกต่างกันนะครับ
1. #การวาดสายรัดคางมงกุฎหรือชฎา จะพบเห็นได้บ่อยในศิลปะสมัยอยุธยา แต่จะไม่พบเลย (หรือพบได้น้อยมากๆ) ในศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
2. #การวาดหน้าพระ (หรือหน้านาง) ศิลปะแบบอยุธยาจะเห็นความแตกต่างชัด ซึ่งจะไม่เหมือนกับใบหน้าพระ-นาง ในสมัยรัตนโกสินทร์ (ตรงนี้สำหรับคนที่เพิ่งหัดดูงานใหม่ๆ อาจแยกออกได้ยาก แต่เมื่อใดชำนาญเข้า จากการหมั่นหัดสังเกตบ่อยๆ จะแยกออกได้เองครับ ในภาพคู่นี้ เราก็จะเห็นความแตกต่างได้ค่อนข้างชัด)
3. #ชายไหวชายแครง (ชายผ้านุ่งที่ช่างวาดเลยจากหน้าขา พาดสะบัดลอยไหวไปมา 1 คู่ด้านหลัง) ในภาพทั้งคู่นี้จะเห็นว่า ชายไหวชายแครงมีความแตกต่างกันชัดเจน โดยชายไหวสมัยอยุธยา (ภาพ ข.) จะใหญ่กว้างและบานมากกว่า ในขณะสมัยรัตนโกสินทร์จะแคบ ลีบ เล็กลง
4. #การวาดใบไม้ ศิลปะสมัยอยุธยาช่างจะตัดเส้นใบไม้ ให้เห็นเป็นใบๆ ชัดเจน แต่ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ (โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะพบเทคนิคนี้ได้ชัดในสมัยรัชกาลนี้) ช่างจะใช้ “แปรงที่ทำมาจากเปลือกกระดังงา” (หรือรากลำเจียก) นำมาทุบปลายให้แตกเป็นเส้นฝอยๆ แล้วนำมาผึ่งตากแดดจนแห้ง
และช่างจะใช้พู่กันเปลือกไม้นี้จุ่มสี จิ้ม กระทุ้ง หรือ แจะๆ สำหรับวาดส่วนที่เป็นใบไม้โดยเฉพาะ ซึ่งจะดูใกล้เคียงกับใบไม้ที่เรามองเห็นไกลๆ ในสภาพแวดล้อมจริงมากกว่า (สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นยุคที่ศิลปะไทย ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบตะวันตกมาก) ในภาพ ก. จะเห็นใบไม้ที่วาดด้วยเทคนิคนี้อยู่ที่มุมบนด้านซ้าย
ปัจจุบันเราสามารถใช้พู่กันทำเทคนิคแบบนี้แทนได้ ดูตัวอย่าง แปรงจากเปลือกกระดังงาทุบ และเทคนิคการวาดใบไม้ลักษณะนี้ ได้ที่บล็อก *ครูแผน สอนสุพรรณ* ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2555 ได้ครับ : https://www.oknation.net/blog/sornsuphan/2012/02/19/entry-1
5. #การวาดลวดลายเครื่องประดับ ในศิลปะสมัยอยุธยา ช่างจะวาดลวดลายแบบฟรีสไตล์มากกว่า และลายจะไม่ค่อยซ้ำกัน ในขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ จะมีความเป็นระเบียบแบบแผน ซ้ำๆ กันเป็น pattern มากกว่า สิ่งที่เห็นจากรูปเทียบคู่นี้ ภาพ ก. (สมัยรัตนโกสินทร์ ร.4) ช่างวาดลวดลายเครื่องประดับ ไปจนถึงลายผ้านุ่ง จะมีความละเอียดน้อยกว่า (แต่ไม่เสมอไป บางวัดในยุคเดียวกัน ก็วาดลวดลายละเอียดกว่านี้) ในขณะที่ภาพ ข. (สมัยอยุธยาตอนปลาย) ลาดลายรวมถึงลายผ้านุ่งจะมีรายละเอียดมากกว่า และลวดลายมีความฟรีสไตล์มากกว่า
6. ภาพ ก. (สมัยรัตนโกสินทร์ ร.4) ช่างใช้เส้นสีดำ ตัดเส้นขอบรอบนอกเพื่อเน้นส่วนที่เป็นเครื่องประดับทั้งหมด (ลายเครื่องประดับด้านใน ช่างใช้เส้นสีแดงตัดบนทองคำเปลว) แต่จะไม่พบเทคนิคตัดขอบเครื่องประดับ ด้วยเส้นสีดำแบบนี้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย (ภาพ ข.)
7. #เทคนิคการใช้สี ในภาพคู่นี้จะเห็นไม่ค่อยชัด แต่ถ้าหมั่นฝึกสังเกตบ่อยๆ จะพบว่าภาพวาดในสมัยอยุธยา (โดยเฉพาะสมัยอยุธยาตอนปลาย) ช่างจะเลือกใช้สีสันสดใสมากกว่า บางแห่งก็เลือกใช้สีอ่อนๆ รองพื้นภาพก็มี จะแตกต่างกับสมัยรัตนโกสินทร์ (โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 ลงมา) ที่ช่างจะเลือกใช้สีเข้มๆ เป็นหลัก (สีสดๆ หวานๆ สว่างๆ แบบสมัยอยุธยาตอนปลายไม่ค่อยมี) ทำให้ภาพวาดโดยรวมมีบรรยากาศที่ดูมืดครื้มลง
การอธิบายความต่างด้วยตัวอักษรล้วนๆ อาจทำให้เข้าใจยากสักนิดนะครับ โดยเฉพาะผู้สนใจมือใหม่ แต่หากมีภาพตัวอย่างประกอบหลายๆ ภาพ พร้อมกับชี้ให้ดูทีละจุดๆ ไปเลย น่าจะเข้าใจได้มากกว่า จริงๆ ยังมีส่วนที่ผมสามารถอธิบายได้อีก แต่อาจจะทำให้ยิ่งงงกันเข้าไปใหญ่ (ฮา) ไว้ถ้ามีโอกาสทำเป็นคลิปอธิบายให้ฟังเพิ่มเติม น่าจะเข้าใจกันได้มากขึ้นนะครับ แต่....จะมีคนดูมั้ยเนี่ย? 555+
จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee
Photo credit : @Sippavish Boonyapornpaviz
โฆษณา