30 ส.ค. 2022 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
ขอให้โลกนี้ไม่มีพันธุฆาต (No More! Genocide)
EP4: พยานแห่งความบ้าคลั่งขนาดหลายพันเอเคอร์ 🚧
วันที่สี่ …
ของ Holocaust and Genocide studied workshop
วันนี้ขอเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “จงปล่อยสถานที่แห่งนี้ไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและเศร้าโศกไปตลอดกาลว่า ครั้งหนึ่ง กองทัพนาซีเคยเข่นฆ่า ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวจากหลายประเทศทั่วยุโรป กว่า 1.5 ล้านคน ที่นี่ - Auschwitz II Birkenau”
ใช่ครับ … วันนี้ได้มีโอกาสไปค่ายกักกัน Auschwitz แห่งที่สอง หรือ Birkenau (Brzezinka ในภาษาโปแลนด์) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากค่าย Auschwitz แรกที่ไปมาเมื่อวานเท่าไรนัก ประวัติคราวๆคือ เนื่องจากค่ายแรกมีความแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการที่ฮิตเลอร์ต้องการแรงงานและดำเนินนโยบายกำจัดชาวยิวให้มี “ประสิทธิภาพ” มากขึ้น
ค่าย Birkenau จึงถูกสร้างโดยแรงงานเชลยศึกโซเวียตที่จับมาได้ และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือน มีนาคม ค.ศ.1942 ในฐานะ “ศูนย์กลางการสังหารชาวยิวในยุโรป” (นอกจากนี้ยังมีคนกลุ่มอื่นๆอีกที่ถูกส่งมาค่ายนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Roma people, Soviet POW, กลุ่มคำพยานแห่งพระยะโฮวา เป็นต้น)
และต่อไป คือ
ภาพของสถานที่แห่งนี้ ครับ … Auschwitz II Birkenau
1
ค่าย Auschwitz II - Birkenau อยู่ไม่ใกล้จากค่าย Auschwitz I เท่าไรนัก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 20 นาที ก็ถึง (ในภาพด้านบนคือสะพานข้ามเขตเมือง Oświęcim ไป Brzezinka (หรือ Birkenau)
1
ระหว่างทางจะเจอกับป้ายที่บอกว่า ช่วงสมัยนาซียึดครอง ได้เผาทำลายบ้านเรือนละแวกนี้จนเกือบหมด โดยเหลือไว้เพียงแค่ 6 หลัง ที่ยังตั้งอยู่ถึงปัจจุบัน
ชานชาลาแรกที่ถูกสร้างขึ้นก่อนถึงค่าย Birkenau โดยรถไฟที่บรรทุกชาวยิวจะมาลงที่นี่ จากนั้น ทหาร Nazi หน่วย SS ก็จะทำการคัดแยกผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ออกจากผู้ชาย แล้วก็บังคับให้ขึ้นรถบรรทุกเพื่อตรงไปยังห้องรมแก๊สทันที ส่วนผู้ชายก็ให้เดินเท้าเข้าไปในค่ายที่อยู่ห่างออกไปอีกช่วงถนน
ภาพวาดแสดงกระบวนการคัดแยก และถ้าหากใครเคยอ่านหนังสือของ Tadeusz Borowski นักเขียนชาวโปแลนด์ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาชวิตซ์อย่าง This Way for the Gas, Ladies and Gentlemen สถานที่ในบทแรกของหนังสือที่เขาบรรยายถึง ก็คือชานชาลาแห่งนี้ นี่แหล่ะ
รถไฟไม่มีหน้าต่างและช่องอากาศใดๆ หนึ่งโบกี้มีชาวยิวจากทั่วยุโรปถูกบรรทุกมาอย่างต่ำ 100 คน ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร ตลอดการเดินทาง หลายวัน หรืออาจจะหลายสัปดาห์ จึงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างทางหลายราย
แต่ชานชาลานี้ก็ได้เลิกใช้ไปเมื่อ นาซีตัดสินใจสร้างทางรถไฟอีกสายให้ตัดตรงเข้าไปในค่าย Birkenau ได้เลย
ทางเข้าหลักของค่าย Auschwitz II- Birkenau
ถ้าดูจากแผนที่ จะเห็นว่า ค่าย Auschwitz II - Birkenau (จุด B) นั้นใหญ่กว่า ค่าย Auschwitz I (จุด A) มากๆ
เมื่อรถไฟผ่านประตูค่ายเข้ามา
ขบวนรถไฟก็จะเลี้ยวไปทางขวาเพื่อเข้าสู่ ชานชาลาคัดแยก (Selection Ramp)
ณ ชานชาลาคัดแยก ที่นี่จะมีแพทย์ SS หนึ่งคนคอยยืนชี้นิ้วไปที่ชาวยิวผู้ซึ่งเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ว่าให้ส่งตรงไปห้องรมแก๊สเลย หรือว่าจะให้เข้าไปใช้แรงงานหนักในค่าย (ซึ่งส่วนใหญ่เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ จะถูกเลือกให้เดินไปห้องรมแก๊สทันทีที่มาถึง)
ที่เห็นคนใส่เสื้อแดงเดินอยู่ไกลๆนั้น คือทางเดินไปห้องรมแก๊ส
ส่วนประตูนี้ สำหรับผู้ที่ถูกเลือกให้ใช้แรงงานในค่ายจะต้องเดินผ่านไป
รูปถ่ายของเด็กๆที่ถูกสั่งให้เดินไปยัง Gas Chamber (โดยทหารนาซีหลอกพวกเขาว่าจะพาไปอาบน้ำ และหาเสื้อผ้าใหม่มาเปลี่ยนให้)
ทางเดินในค่าย สำหรับผู้ที่ถูกเลือกให้อยู่เพื่อใช้แรงงาน
ซากของอาคารที่พัก ซึ่งเค้าเดิมทำจากไม้ ส่วนที่เห็นสูงๆนั้นคือปล่องไฟของอาคาร
รั้วไฟฟ้าแรงสูงถูกตั้งอยู่รอบค่าย
ที่ตรงนี้เคยถูกใช้ให้เป็นจุดนั่งรอก่อนจะเข้าห้องรมแก๊ส
ส่วนบ่อน้ำนี้ถูกทหารนาซีเปลี่ยนให้เป็นที่เทเถ้ากระดูก หลังจากเผาร่างของเหยือที่ถูกสังหารในหัองรมแก๊สแล้ว
บางครั้งเตาเผาในอาคารไม่เพียงพอ จึงต้องนำร่างผู้เสียชีวิตมาเผาด้านนอก (เหตุการณ์ในรูป เกิดขึ้น ณ จุดเดียวกับทุ่งหญ้าสีเขียวด้านหลัง)
ภาพที่แอบถ่ายไว้โดยเชลยชาวยิวหน่วย Sonderkomando (หน่วยกำจัดศพ) แสดงให้เห็นถึง ผู้คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าออก เพื่อเตรียมส่งเข้าห้องแก๊ส
ซึ่งต้นไม้ที่เห็นนี้ คือสถานที่เกิดเหตุการณ์ในภาพดังกล่าว
ภาพถ่ายของห้องรมแก๊ส ส่วนด้านหลังคือซากของห้องที่หลงเหลืออยู่ หลังจากที่ทหารนาซีวางระเบิด เพื่อหมายปกปิดหลักฐานการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ซากของห้องรมแก๊สเดิม
ซากของคลังเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่ยึดมาได้จากชาวยิวทั่วยุโรป โดยที่ห้องเก็บของเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า Canada Barrack
ภาพถ่ายของ Canada Barrack ซึ่งค่าย Birkenau นี้มีอยู่ 16 เรือนด้วยกัน
ข้าวของเครื่องใช้ใน Canada Barrack
เมื่อชาวยิวที่ถูกเลือกให้ใช้แรงงานเดินตามทางเลียบค่ายมาถึง เรือนอาบน้ำ
พวกเขาก็จะถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ แล้วทิ้งไว้ที่ห้องนี้ โดยที่ทางทหาร SS ก็จะตรวจดูอีกรอบว่า ในบรรดาชาวยิวที่มาใหม่ มีใครท้องอยู่บ้าง หรือเป็นผู้พิการบ้าง - ถ้าเจอก็จะส่งออกไปยังห้องรมแก๊สที่อยู่ด้านนอก เยื้องๆกันทันที
แล้วก็จะถูกบังคับให้เดินเข้าไปยังประตูถัดไป โดยที่ห้องด้านหลังที่มีหน้าต่างนั้น ถูกใช้สำหรับคัดแยกเสื้อผ้าต่างๆ
แล้วเดินผ่านโถงทางเดินนี้ (ด้านขวาคือเครื่องอบผ้า ฆ่าเชื้อโรค)
ตะแกรงใส่ผ้า
ตู้อบผ้า
พอชาวยิวผ่านประตูนี้เข้ามาแล้ว พวกเขาทั้งหมดจะถูกโกนขนทั่วร่างกาย แล้วถูกสั่งให้เดินไปอีกห้อง
ห้องนี้ถูกใช้เป็นห้องอาบน้ำของชาวยิวที่มาถึงใหม่
รูปถ่ายการอบผ้า
รูปถ่ายการแขวนผ้า
ห้องสุดท้ายคือห้องที่ถูกใช้สำหรับการสักหมายเลย (รูปมากมายที่เห็นอยู่ไกลๆ คือรูปถ่ายของเหยื่อชาวยิวที่ถูกพบในกระเป๋าเดินทางของพวกเขา)
สภาพภายในค่ายพักนักโทษ (ภาพแรกคือห้องน้ำ//ภาพที่สองคือเรือนนอน)
รูปถ่ายของอาคารที่มี Gas Chamber และเตาเผาศพ
เยี่ยมชมจบแล้ว ส่วนตัวรู้สึกว่า คนเราต้องบ้าขนาดไหนถึงลงทุนสร้างอะไรใหญ่โตแบบนี้ เพื่อที่จะเปลี่ยนให้เป็นโรงงานสำหรับการฆ่าคนด้วยกัน …
และแน่นอนเหตุการณ์แบบนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไปในอีกหลายต่อหลายมุมบนโลกใบนี้ เพราะหากเราลองดูเคสที่รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ หรือเคสพม่าที่กระทำต่อชาวโรญิงยา … มันก็มี intention คล้ายๆกับที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว … แบบแทบจะพิมพ์เดียวกัน
คำถามคือ แล้วเราจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันแบบไหน ถึงจะส่งผลให้เกิดการป้องกัน Genocide ได้อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมเสียที
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามนะครับ
ปล. Series เกี่ยวกับ Workshop ครั้งนี้จะมี 8 EP
ซึ่งผมจะทยอยลงทุกๆวัน อังคาร กับ ศุกร์
ตอนสองทุ่มครับ
1
#aDailyBread 🍞
#NeverForget #NeverAgain 💧💧

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา