30 ส.ค. 2022 เวลา 08:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมผู้ลงทุนในหุ้นกู้ต้องเข้าใจ “Covenant”
Image Credit: The Blue Diamond Gallery
หากเรากำลังมองหาหุ้นกู้สักตัวเพื่อลงทุน ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนก็มักจะมองกันที่ผลตอบแทน อันดับความน่าเชื่อถือขององค์กร/ตราสารหนี้ หรือตัวผู้ออกหุ้นกู้รายนั้นๆ เป็นหลักว่ามีชื่อเสียง และน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน
จนบางครั้งก็ไม่ได้เข้าไปดูถึง “ข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่” (Covenant) ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขประกอบที่ผู้ออกฯ ได้กำหนดไว้และต้องทำตามเพื่อลดความเสี่ยงต่อคุณภาพของเครดิตหุ้นกู้
## Covenant คืออะไร? ##
“Covenant” เป็นข้อกำหนด หรือข้อตกลงประกอบหุ้นกู้ซึ่งมักมีระบุอยู่ในหนังสือชี้ชวนว่าผู้ออกหุ้นกู้จะต้องทำหรืองดเว้นอะไรบ้าง ทั้งนี้ก็ เพื่อควบคุมคุณภาพของเครดิตหุ้นกู้ และเป็นเครื่องมือให้ผู้ลงทุนสามารถใช้วิเคราะห์สถานะทางการเงิน หรือการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ได้
แน่นอนว่าหากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ทำตามไม่ได้ก็น่าจะเป็นการสะท้อนความเสี่ยงถึงการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นไม่ได้ตามกำหนด หรืออาจถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ไปเลยก็ได้
Image Credit: Pixabay
## ประเด็นหลักๆ ของ Covenant มีอะไรบ้าง? ##
1. การจำกัดโครงสร้างเงินทุนของกิจการ
รูปแบบที่นิยมนำมาใช้คือ “การจำกัดในส่วนของหนี้สิน” เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินระดับที่เหมาะสม เพราะในมุมของผู้ลงทุนในหุ้นกู้ = เจ้าหนี้ของบริษัทผู้ออก ย่อมไม่อยากให้ก่อหนี้มากเกินไปจนเป็นภาระผูกพันในอนาคต กระทบต่อความสามารถในการชำระคืนเงินต้น/ดอกเบี้ยแก่ผู้ลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนด
ส่วนใหญ่วิธีที่นำมาใช่ควบคุมระดับการก่อหนี้ให้เหมาะสมมักจะใช้ “อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” (Debt to Equity: D/E) ซึ่งคำนวณได้จากงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั่นเอง
อย่างไรก็ตามวิธีนี้มักจะวัดได้แค่ระดับความเสี่ยงที่เกิดจากการก่อหนี้ของผู้ออกฯ เท่านั้น ไม่ได้เข้าไปลงลึกถึงรายละเอียดของการนำกระแสเงินสดจากการก่อหนี้ว่าไปใช้ประโยชน์ และจะเพียงพอต่อการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ไหม
Image Credit: Adobe Stock
บางกรณีบริษัทผู้ออกฯ อาจมีการควบคุมด้านสินทรัพย์ หรือเงินทุนสำรองไว้เองเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ เช่น มีการทำประกันภัยสินทรัพย์ไว้ หรือจัดตั้งกองทุนสำรองจากเงินทุนสะสม (Sinking Fund) เพื่อทยอยเก็บเงินไว้ให้พอเมื่อถึงกำหนดจ่ายคืนก็เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง
2. การกำหนดเงื่อนไขเรื่องการจ่ายเงินปันผล
เป็นการควบคุมส่วนของสินทรัพย์ไม่ให้ลดลงมากเกินความเหมาะสมจากการจ่ายเงินปันผล เพราะหากกิจการจ่ายปันผลผลมากเกินไปแทนที่จะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปก่อให้เกิดรายได้ ก็อาจจะกระทบต่อเงินสดที่จะชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้
หรือหากในกรณีเลวร้ายถึงขั้นปิดกิจการลง อย่างน้อยก็ยังมีสินทรัพย์ให้ผู้ถือหุ้นกู้มีโอกาสเรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้ได้ครบถ้วนมากขึ้นด้วย
หรือในบางกรณีจะเป็นการห้ามไม่ให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ซึ่งข้อกำหนดนี้จะเป็นหลักประกันว่าลำดับสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับสิทธิประโยชน์คืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
Image Credit: Pixabay
3. การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
แม้ว่าการควบรวมกิจการจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความแข็งแกร่ง ถ่ายโอนเทคโนโลยี/Know-how ระหว่างกัน อีกทั้งยังประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) รวมถึงลด หรือปิดความเสี่ยงด้านต่างๆ ลงไปได้
ซึ่งหากมองกันแบบผ่านๆ ไม่ลงรายละเอียดอาจจะดูเหมือนผู้ถือหุ้นกู้น่าจะได้ประโยชน์ แต่ต้องอย่าลืมพิจารณาว่าแต่ละบริษัทที่มาควบรวมกันนั้น มีภาระหนี้สินที่ครบกำหนดชำระติดตัวมาด้วยหรือไม่ เพราะหากมีก็จะทำให้กระทบต่อสภาพคล่องที่เตรียมไว้สำหรับไถ่ถอนหุ้นกู้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าการควบรวมจะทำให้แย่เสมอไป ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณาร่วมกันด้วย เช่น กำลังการผลิต อัตรากำไรขั้นต้น อัตรากำไรสุทธิ ROE ROA หรือความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทนั้นๆ เป็นต้น
Image Credit: Pixabay
4. การกำหนดเงื่อนไขในเรื่องการใช้ทรัพย์สิน
ยิ่งสินทรัพย์มากพอ = ความสามารถในการสร้างรายได้/กำไร และชำระหนี้ได้ตามกำหนดก็มากยิ่งขึ้น อีกทั้งหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหรือถูกบังคับให้ปิดกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้ก็สามารถเรียกร้องให้ชำระหนี้จากการขายสินทรัพย์ได้
ความสำคัญของ “ระดับสินทรัพย์” จึงถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งข้อกำหนดสิทธิครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้สินทรัพย์ของกิจการผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งสัมพันธ์กับระดับความเสี่ยงของเครดิตหุ้นกู้นั้นๆ เช่น การจำหน่ายจ่ายโอน การจำนอง การจำนำ หรือการให้เช่าสินทรัพย์ กับบุคคลอื่น
ซึ่งเงื่อนไขนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้สิทธิเรียกร้องของผู้ถือหุ้นกู้ต้องน้อยลงหรือต้องไปแบ่งกับคู่สัญญาอื่นๆ ของผู้ออกหุ้นกู้ที่ไปสร้างภาระผูกพันไว้ก่อนหน้านั่นเอง
Image Credit: Pixabay
ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นสิทธิและหน้าที่หลักๆ ที่ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ควรที่จะต้องศึกษากันเพิ่มเติมก่อนที่จะลงทุนในหุ้นกู้สักตัวหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเภทกิจการ หรือแต่หมวดธุรกิจก็อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณากันให้รอบครอบแตกต่างกันออกไป
เบื้องต้นที่ง่ายที่สุดคือการ “อ่านหนังสือชี้ชวน” ให้เข้าใจอย่างละเอียดที่สุด ไม่เข้าใจส่วนไหนก็สอบถามไปยังผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Underwriters) หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Debenture Holder Representatives) ก็จะยิ่งได้ข้อมูลที่ปลอดภัยและลดความเสี่ยงในแง่มุมต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้นด้วย.
Source:
- ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
- บล.กรุงศรี
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา