8 ก.ย. 2022 เวลา 07:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“วอร์เรน บัฟเฟตต์” เลือกผู้บริหารบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนแบบเน้นคุณค่าอย่างไร?
Image Credit: www.thestrive.co
“วอร์เรน บัฟเฟตต์” สมัยทำงานกับเบนจามิน เกรแฮม ผู้ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และต้นแบบการลงทุนเน้นคุณค่าของเขา บัฟเฟตต์ได้ปรับแต่งวิธีการคัดสรรหุ้นของเขาจากแบบที่เป็นคณิตศาสตร์เน้นๆ ของเกรแฮม
พ่วงเอาหลักการที่มี 3 ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ และอีก 1 ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเข้ามาไว้ด้วยกัน เกิดเป็นกฎ 4 ข้อ ในการเลือกผู้บริหารของบริษัทที่ควรค่าลงทุนเน้นคุณค่าสไตล์ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ขึ้นมา
• ผู้นำที่รอบคอบในแบบของบัฟเฟตต์เป็นอย่างไร?
สำหรับบัฟเฟตต์ ผู้บริหารของบริษัทเหมือนเป็นตัวแทนของเขาผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทนั้น (ผู้ถือหุ้น) ที่จะทำเพื่อประโยชน์จากการลงทุนของเขาได้อย่างสูงสุด
รวมถึงต้องรอบคอบระแวดระวังอันตราย หรือผลลบที่จะเกิดกับบริษัทเสมอ ไม่ใช่คนที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตน หรือพยายามสร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นมา
โดยหลักการในข้อนี้จะมีกฎเกณฑ์อยู่ 4 ข้อย่อยที่จะทำให้รู้ได้ว่าผู้คุมบังเหียนบริษัทนั้นๆ เป็นผู้นำที่รอบคอบและควรค่าแก่การลงทุนหรือไม่
### กฎข้อที่ 1 - หนี้น้อย ###
หุ้นที่มีหนี้มาก = การที่ผู้บริหารเร่งเวลาของการมีทรัพย์สินเพื่อให้บริษัทแข่งขันได้ในอุตสาหกรรม หรือการที่สินทรัพย์ที่เป็นของบริษัทแต่ถูกซื้อด้วยเงินคนอื่น ซึ่งหากเป็นช่วงเศรษฐกิจดีก็คงโอเค แต่ถ้าไม่ละ...ความเสี่ยงก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว
หนี้ทำให้การเคลื่อนตัวของบริษัทนั้นๆ เป็นไปได้ช้าลง เพราะทิศทางถูกกำหนดไว้หมดแล้ว จะเปลี่ยนแปลงก็อาจทำได้ด้วยความลำบากเพราะมีหนี้ที่หนักอึ้งที่แบกอยู่
บัฟเฟตต์จึงเลือกเลี่ยงบริษัทที่มีหนี้มากๆ โดยใช้เครื่องมือวัดความเสี่ยงอย่าง “อัตราหนี้สินต่อทุน” (Debt to Equity: D/E) เข้ามาช่วย
Credit Image: Istockphoto
โดยหุ้นที่เขาชอบนั้น อัตรา D/E Ratio ควรต่ำกว่า 0.5 เท่า แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่เริ่มคุ้นเคยกับตลาดหุ้นแล้ว ก็อาจจะพิจารณารับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้ หากได้ศึกษาธุรกิจนั้นมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามอุตสาหกรรมที่แตกต่างออกไป บางธุรกิจอาจจะมี D/E Ratio สูง เช่น สถาบันการเงินที่มีสินค้า/บริการเป็นหนี้โดยธรรมชาติ ซึ่งก็ต้องศึกษาและดูถึงมาตรฐานของอุตสาหกรรมนั้นๆ เทียบเคียงกันด้วย
โดยการไม่มีหนี้อาจจะไม่ใช่เป้าหมายของบริษัท แต่ควรเป็นความยืดหยุ่นในการเริ่มต้นโครงการอะไรใหม่ๆ ด้วยหนี้สินต่อทุนที่ต่ำๆ มากกว่า
### กฎข้อที่ 2 – อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสูง (High Current Ratio) ###
บางบริษัทสินค้าดี มีความต้องการสูง แต่กลับขาดเงินสดอยู่ตลอดเนื่องจาก “อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน” ต่ำเกินไป
ซึ่งเราสามารถหาอัตราส่วนฯ นี้ได้โดยนำเอา “สินทรัพย์หมุนเวียน” (สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 12 เดือน หรือสินค้าคงเหลือที่จะขายได้เมื่อคำสั่งซื้อครั้งต่อไปเข้ามา) หารด้วย “หนี้สินหมุนเวียน” (ยอดหนี้ที่ต้องจ่ายภายใน 12 เดือน) ก็จะได้สูตรออกมาเป็น
--> “อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน”
Image Credit: Fortune Builders
โดยอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่บัฟเฟตต์ชอบจะอยู่ที่ 1.5 เท่า หมายความว่า บริษัทจะต้องได้รับเงิน 1.5 บาท ทุกๆ ครั้งที่จ่ายหนี้ออกไป 1 บาท ภายใน 12 เดือนข้างหน้า
ซึ่งการรับเงินเข้ามามากกว่าหนี้เป็นสิ่งการันตีว่าบริษัทจะจ่ายหนี้ระยะสั้นได้เสมอ และแสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทนั้นเองด้วย
ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 1 เท่า ก็อาจจะต้องมีการกู้เงินมาเพิ่มเพื่อจ่ายหนี้เดิม ซึ่งก็มีแต่จะสร้างปัญหาทางการเงินใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี การเจาะจงว่าจะต้องมีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเท่าไรเลยนั้นก็คงลำบาก บางบริษัทสูงเกินไปก็อาจจะแสดงถึงการบริหารเงินไม่เก่งของผู้บริหาร
โดยส่วนใหญ่ก็อาจจะอยู่ที่ 1.5-2.5 เท่า และถ้ามันต่ำเกินไปก็อาจจะบ่งบอกว่าบริษัทกำลังมีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ระยะสั้นแล้ว การมองหาจุดกึ่งกลางของทั้งสองฝั่งน่าจะเป็นจุดที่ดีที่สุด
### กฎข้อที่ 3 - ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) สูงและสม่ำเสมอ ###
การดูอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE เปรียบเหมือนกับการอ่านคนครั้งแรกเมื่อเจอกันว่าเป็นคนอย่างไร มันทำให้เราเห็นภาพรวมง่ายๆ ว่าบริษัทนั้นๆ ควรค่าต่อการลงทุนหรือไม่
Image Credit:
ซึ่งวิธีการคิด ROE --> ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้น
ชัดเจนว่า ROE มันแสดงให้เห็นถึงความสามารถและการตัดสินใจของผู้บริหารในการนำเอาเงินไปต่อยอดธุรกิจ
อาจจะไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ แต่บริษัทที่มี ROE สม่ำเสมอและสูงจะเป็นที่ชื่นชอบของบัฟเฟตต์ และถ้าสูงกว่า 8% ในรอบ 10 ปีหลังสุดด้วย ก็น่าจะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าบริษัททำกำไรได้ดีจากเงินที่ผู้บริหารกันไว้ลงทุน
หากกลับกัน บริษัทไม่สามารถทำกำไรได้มากขึ้นในสัดส่วนเดียวกับกำไรที่กันไว้ และนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติมก็จะทำให้ ROE ลดลง ROE จึงเป็นตัวบอกสำคัญว่า “เงินถูกเอาไปใช้อย่างไร”
โดยจะนำเงินไปลงทุนโครงการใหม่ ซื้อธุรกิจใหม่ หรือจะซื้อเครื่องจักใหม่ ฯลฯ ไม่ได้สำคัญเลย แค่รักษาระดับ ROE ให้สูงและสม่ำเสมอคือเพียงพอแล้ว
ROE มีจุดที่คล้ายๆ กับข้อ 1-2 ที่กล่าวไปแล้ว คือต้องเทียบเคียงตัวเลข % ของ ROE นี้กับบริษัทอื่นๆ ในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกันด้วยว่าไปในทิศทางไหน เช่น สำหรับธุรกิจไอที ตัวเลข ROE ที่ 8% อาจจะน้อยไป เป็นต้น
รวมถึงอีกสิ่งที่ต้องระวังคือบางบริษัท ROE สูง แต่ก็มี D/E หรือมีหนี้สินสูงด้วย ทั้ง 2 สิ่งนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญเท่าๆ กัน
โดยเราควรพิจารณาเรื่อง D/E ให้ดีก่อน แล้วค่อยไปดูเรื่องกำไร หรือ ROE ว่าจะมากน้อยแค่ไหน หากเลือกลงทุนในบริษัทที่มีประวัติ D/E ต่ำกว่า 0.5 เท่า มาตลอด อาจจะได้ ROE ที่ต่ำหน่อย แต่ก็จะมีความมั่นคงสูงกว่า
### กฎข้อที่ 4 – ผลตอบแทนผู้บริหารมีความเหมาะสม ###
ในการจ้างผู้บริหารซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของบริษัทเข้ามาบริหารธุรกิจ แน่นอนว่าผู้บริหารต้องการเข้ามาทำกำไรให้กับเจ้าของ แต่ก็มีบางครั้งที่ผู้บริหารบางคนอาจจะต้องการขยายอาณาจักรของตัวเอง เช่น การเข้าไปซื้อกิจการใหม่ด้วยราคาแพง แต่กลับสร้างมูลค่าให้กับเจ้าของแค่นิดเดียว ทั้งที่เอาไปลงทุนอย่างอื่นน่าจะดีกว่า
ซึ่งโดยปกติผู้บริหารมักจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และอาจจะบวกด้วยโบนัสตามผลงานที่ทำได้เพื่อสร้างแรงจูงใจในอนาคต หรือบางแห่งก็อิงไปตามราคาหุ้นบริษัท
ซึ่งวิธีนี้ถ้าโชคร้ายหน่อยก็อาจจะเจอกับตลาดหุ้นช่วงขาลง (ตลาดหมี) หรือกลับกันอาจจะโชคดีหากเจอกับตลาดหุ้นขาขึ้น (ตลาดกระทิง) แม้ผู้บริหารคนนั้นจะไม่เก่งเลยก็ตาม
Image Credit: Pixabay
รวมถึงอาจจะเป็นการทำให้พวกเขาเลือกใช้วิธีผิดในระยะสั้น เพื่อทำให้ราคาหุ้นดีดขึ้น แต่กระทบและเพิ่มความเสี่ยงให้บริษัทในระยะยาว
การให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับผู้บริหารจึงเป็นสิ่งที่น่าคิดมาก เพราะหากผลตอบแทนไม่เหมาะสม พวกเขาอาจจะตัดสินใจอะไรแบบระยะสั้น (คิดสั้น) และมีความเสี่ยงสูงได้
ซึ่งแม้ตัวชี้วัดด้วยราคาหุ้นจะวัดได้ง่ายและชัดเจน แต่ก็ดูไม่ค่อยเหมาะสมและมีวิสัยทัศน์เท่าใดนักจากที่กล่าวมา...
แล้วในฐานะนักลงทุนจะดูได้อย่างไรว่าผู้บริหารบริษัทไหนได้รับผลตอบแทนเหมาะสม?
คำตอบคือให้ดูที่ “หมายเหตุประกอบงบการเงินในรายงานประจำปี” ของบริษัทว่าเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานและรายละเอียดค่าตอบแทนผู้บริหารไว้เหมาะสมตามเกณฑ์หรือไม่
ข้อมูลนี้เราจะได้เห็นรายละเอียดโครงสร้างที่ถูกเปิดเผยออกมาระดับหนึ่ง โดยบางแห่งอาจจะเปิดเผยออกมาเกินเกณฑ์กำหนดด้วยซ้ำ (ยิ่งเปิดเผยมาก ยิ่งดูน่าเชื่อถือ แสดงถึงความจริงใจ)
ตรงจุดนี้ก็จะแสดงให้เห็นว่าเราสามารถที่จะคาดหวังความน่าไว้ใจ ความน่าเชื่อถือ และความซื่อสัตย์จากข้อมูลเหล่านี้ได้หรือไม่
แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนผลงานและเป้าหมายระยะยาวของพวกเขา ซึ่งหากได้ลองเอามาเทียบกันในหลายๆ บริษัทก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบสำคัญในการทำความเข้าใจกับบริษัท (หุ้น) สักแห่งหนึ่งผ่านหลักเกณฑ์ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้พิจารณาด้วยวิธีการเลือกผู้บริหารของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนแบบเน้นคุณค่า
Image Credit: Pixabay
ซึ่งแน่นอนว่าหากนักลงทุนกำลังมองหากิจการที่จะสามารถลงทุนได้แบบยาวๆ หรือ “การลงทุนเน้นคุณค่า” ก็ควรต้องเข้าใจในมาตรฐาน และกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ เพราะมันจะช่วยให้เราเลือกลงทุนได้ตรงกับเป้าหมายของเราได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง.
Reference: มีเนื้อหาส่วนหนึ่ง และเรียบเรียงใหม่จากหนังสือ “เรียนบัญชีกับวอร์เรน บัฟเฟตต์” (Warrant Buffett Accounting) โดย Stig Brodersen, Preston Pysh เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันติเดช
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา