2 ก.ย. 2022 เวลา 15:15 • สุขภาพ
10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ NAD+ กับสุขภาพ By หมอหล่อคอเล่า
1 NAD+ (Nicotinamide adenine dinucleotide) เป็นสารโคเอนไซม์ (Co-enzyme) ในร่างกาย คอยทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับทุกเซลล์ในร่างกายเรา ทั้งการเผาผลาญ การทำงานของฮอร์โมน ระบบประสาทและสมอง การซ่อมแซมสายดีเอ็นเอ (DNA) ที่เสื่อม ป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การดีท๊อกซ์ของเสีย ลดการอักเสบในระดับเซลล์ เป็นต้น
2 NAD+ ลดลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเราถึงวัย 40 ปีขึ้นไป พบว่าปริมาณ NAD+ ในเซลล์ลดลงมากกว่า 50% และลดลงเรื่อย ๆ ในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังพบว่า ระดับ NAD+ ลดลงเร็วมากขึ้นในคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่เครียด ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขาดการนอนหลับที่ดี รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น
3 เมื่อร่างกายมีภาวะความเครียดเกิดขึ้นในระดับเซลล์ หรือ ที่เราเรียกว่า Metabolic stress เช่น การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ได้สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) น้อยเกินไป การพักผ่อนน้อย มีการติดเชื้อต่าง ๆ ได้รับยาหรือสารพิษ สารเคมีเข้ามาสู่ร่างกาย หรือ แม้แต่อายุที่มากขึ้น (Aging)
จะทำให้ระดับของ NAD+ ในเซลล์ลดลง นำมาซึ่งความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายทีละเล็ก ทีละน้อย จนทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคสมองเสื่อม (Neurological degeneration) เป็นต้น
4 การลดลงของ NAD+ ในสมองมีความสำคัญมาก เกิดจากการลดลงของเอนไซม์ที่เป็นตัวสำคัญในการสร้าง NAD+ คือ Namp (Nicotinamide monophosphoribosyl transferase) การลดลงของ Namp ทำให้ NAD+ ลดลงมาก ส่งผลให้ Neural Stem Progenitor Cells (NSPCs) ซึ่งเป็นสเต็มเซลล์ของเซลล์ระบบประสาทลดลง อาจนำมาซึ่งโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น ความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นต้น
5 NAD+ ถูกใช้มากขึ้นในภาวะที่ร่างกายเกิดการอักเสบมาก เช่น การติดเชื้อ เป็นต้น สาเหตุเพราะมีการเพิ่มขึ้นของระดับสาร #CD38 ที่เป็นเอนไซม์ตัวสำคัญเพิ่มมากขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation) ซึ่งทำให้ใช้โมเลกุลของ NAD+ มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อใช้มากก็ลดปริมาณลงมากนั่นเอง การลดลงของ NAD+ ทำให้โปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกายที่สำคัญมาก ที่ชื่อว่า #SIRT1 (Silent Information Regulator 1) ทำงานลดลง
บทบาทของ SIRT1 ในร่างกายนั้นมีมากมาย แต่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือ ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย โดยเฉพาะลดภาวะ Cytokine storm (เนื่องจากลดการทำงานของสาร #ADAM17 : A Disintegrin and Metalloproteinase Domain 17 ที่เป็นตัวการสำคัญในการผลิตสารก่ออักเสบที่สำคัญ 2 ตัว ได้แก่ สาร TNF-alpha & IL-6 นั่นเอง)
6 NAD+ สร้างได้ในเซลล์ของเราเอง โดยอาศัยสารตั้งต้นจากอนุพันธุ์ของวิตามินบี 3 (NAD+ precursor) ได้แก่ Nicotinic Acid (NA), Nicotinamide (NAM) และ Nicotinamide Riboside (NR) นอกจากนี้ยังสร้างได้จาก กรดอะมิโนทริปโตฟาน (Tryptophan) ร่วมกับ Nicotinic Acid (NA) หรือ วิตามินบี 3 อีกด้วย แต่ประสิทธิภาพจะน้อยกว่าการสังเคราะห์จากกลุ่ม NAD+ precursor แต่อย่างที่กล่าวมา เมื่อเราเกิดความเครียดในร่างกายมากขึ้นหรืออายุเยอะขึ้นกระบวนการผลิต NAD+ ก็จะลดลงตามไปด้วย
7 การสร้าง NAD+ ในร่างกายเรา สามารถกระตุ้นได้จากการรับประทานสารตั้งต้นในกลุ่ม NAD+ precursor ได้แก่ Nicotinic Acid (NA), Nicotinamide (NAM) และ Nicotinamide Riboside (NR) แต่ในปัจจุบัน ตัวที่ได้รับความนิยมมากจึงเป็น #NicotinamideRiboside (NR) ที่สามารถกระตุ้นยีน SIR2 ซึ่งเป็นยีนที่ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้อีกด้วย โดยผ่านกระบวนการเพิ่มระดับของ NAD+ นั่นเอง
8 NAD+ ในร่างกายสามารถเพิ่มได้ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ดี ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ สม่ำเสมอทั้งคาร์ดิโอ และ เวทเทรนนิ่ง (ทำให้ร่างกายสร้างไมโทคอนเดรียมากขึ้น จึงเกิด NAD+ มากขึ้น) การทำ Intermittent Fasting (IF) ร่วมกับการรับประทานอาหารครบถ้วน หลากหลาย (นมและผลิตภัณฑ์จากนม เห็ด ปลา ผักใบเขียว ธัญพืชต่าง ๆ) แต่จำกัดคาร์โบไฮเดรตลง (LCHF Moderate protein diet) มีสารต้านการอักเสบ สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนที่ดี ลดความเครียดในร่างกายและจิตใจ
นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการโดนแดดจัดเป็นเวลานาน เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก ๆ ร่วมด้วย
9 การเพิ่มระดับ NAD+ นั้น ทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1. การรับประทานสารที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้าง NAD+ (NAD+ precursors) ของร่างกาย เช่น Nicotinamide Riboside (NR), Nicotinamide (NAM) เป็นต้น 2. การเติม NAD+ เข้าสู่ร่างกายโดยตรง ผ่านทางหลอดเลือดดำ (IV NAD+ Therapy) ซึ่งมีใช้กันมานานมากกว่า 10+ ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะด้านระบบประสาทและสมองในผู้สูงวัย เป็นต้น (https://www.springfieldwellnesscenter.com/) แต่ทั้งนี้ ควรให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เป็นผู้ดูแลเสมอนั่นเอง
10 การเติม NAD+ ทางหลอดเลือดดำ (NAD+ IV Therapy) ควรเริ่มต้นจากการปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อตรวจประเมินสุขภาพ พิจารณาว่าเรามีข้อห้าม ข้อบ่งชี้ในการทำหรือไม่ ? รวมถึงปริมาณ และความถี่ในการเข้ารับวิตามินชนิดนี้ เนื่องจาก NAD+ เป็นวิตามินที่ให้เสริม ดังนั้น การรักษาในแต่ละรายจึงขึ้นกับแพทย์พิจารณา และให้การดูแลโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ตลอดในช่วงที่ทำ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้รับสูงสุดนั่นเอง
.
#NADForYourLife
#Longevity #AntiAging
#DoctorWeightWellnessClinic
#หมอหล่อคอเล่า
.
#References :
[1] Conze, D., Brenner, C. & Kruger, C.L. Safety and Metabolism of Long-term Administration of NIAGEN (Nicotinamide Riboside Chloride) in a Randomized, Double-Blind, Placebo-controlled Clinical Trial of Healthy Overweight Adults. Sci Rep 9, 9772 (2019).
[2] Belenky P, Bogan KL, Brenner C. NAD+ metabolism in health and disease [published correction appears in Trends Biochem Sci. 2008 Jan;33(1):1]. Trends Biochem Sci. 2007;32(1):12-19.
[3] Bogan KL, Brenner C. Nicotinic acid, nicotinamide, and nicotinamide riboside: a molecular evaluation of NAD+ precursor vitamins in human nutrition. Annu Rev Nutr. 2008;28:115-130.
4] Mehmel M, Jovanović N, Spitz U. Nicotinamide Riboside-The Current State of Research and Therapeutic Uses. Nutrients. 2020;12(6):1616. Published 2020 May 31.
[5] Nicotinamide adenine dinucleotide. https://en.wikipedia.org/.../Nicotinamide_adenine...
[6] Rajman L, Chwalek K, Sinclair DA. Therapeutic Potential of NAD-Boosting Molecules: The In Vivo Evidence. Cell Metab. 2018;27(3):529-547.
[7] Aman, Yahyah & Qiu, Yumin & Tao, Jun & Fang, Evandro. (2018). Therapeutic potential of boosting NAD+ in aging and age-related diseases. Translational Medicine of Aging. 2. 10.1016/j.tma.2018.08.003.
[8] Katsyuba E, Auwerx J. Modulating NAD+ metabolism, from bench to bedside. EMBO J. 2017 Sep 15;36(18):2670-2683. doi: 10.15252/embj.201797135. Epub 2017 Aug 7.
[9] Wiley C, Campisi J. NAD+ controls neural stem cell fate in the aging brain. EMBO J. 2014;33(12):1289-1291. doi:10.15252/embj.201488969
[10] Lautrup S, Sinclair DA, Mattson MP, Fang EF. NAD+ in Brain Aging and Neurodegenerative Disorders. Cell Metab. 2019 Oct 1;30(4):630-655.
โฆษณา