12 ก.ย. 2022 เวลา 13:01 • หนังสือ
คุณเคยสงสัยไหมว่า “ฟองสบู่” เกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วทำไมยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สรุปหนังสือ The Psychology of Money ตอนที่ 17
ในสัปดาห์ที่แล้ว แอดก็ได้เล่าถึงบทที่ 15 ของจิตวิทยาว่าด้วยเงินไปแล้ว นั่นคือเรื่องของ “ไม่มีอะไรได้มาฟรี” ค่ะ
ในสัปดาห์นี้ แอดก็จะมาเล่าต่อในบทที่ 16 ว่าด้วยเรื่องของ “คุณและผม” เนื้อหามีดังนี้
Topic:
1) สาเหตุของการเกิด “ฟองสบู่” ในตลาดการลงทุน
2) คุณควรจะซื้อหุ้น Google ที่ราคาเท่าไหร่ในวันนี้?
3) ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000
4) บทเรียนจากเรื่องฟองสบู่ปรับใช้กับชีวิตจริง
ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาการเกิดฟองสบู่กันแล้ว ก็ตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ!!!
“ฟองสบู่” ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้น และทำไมมันยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ทำไมพวกเราจึงไม่ได้เรียนบทเรียนอะไรเลย
คำตอบที่เรียบง่ายของเรื่องนี้ก็คือ พวกเรามีมีความโลภ และความโลภก็เป็นคุณลักษณะที่ไม่สามารถลบล้างออกไปจากธรรมชาติของมนุษย์ได้
แต่เฮาเซิลบอกว่า...
การกล่าวโทษว่าฟองสบู่นั้นเกิดจากความโลภและหยุดเอาไว้ที่ตรงนั้นจะทำให้เราพลาดบทเรียนสำคัญที่ว่า ทำไมและเหตุใดผู้คนจึงหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเมื่อมองย้อนกลับไปว่าการตัดสินใจในเวลานั้นเกิดขึ้นเพราะความโลภ
เขาจึงอยากจะนำเสนอหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฟองสบู่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทั้งถูกมองข้ามและสามารถปรับใช้ได้กับคุณเป็นการส่วนตัว นั่นคือ...
นักลงทุนมักจะรับฟังคำชี้นำจากนักลงทุนคนอื่นๆ อย่างไร้เดียงสา และพวกเขาก็ไม่ได้เล่นเกมเดียวกันกับคุณ
เฮาเซิลบอกว่า...
มีความคิดทางการเงินข้อหนึ่งที่อาจฟังดูหน่อมแน้มแต่สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างประเมินค่าไม่ได้
มันคือแนวคิดที่ว่า ทรัพย์สินนั้นมีราคาที่สมเหตุสมผลเพียงราคาเดียวในโลก ในขณะที่นักลงทุนมีเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน
ลองถามตัวคุณเองดูว่า: คุณควรจะซื้อหุ้น Google ที่ราคาเท่าไหร่ในวันนี้?
คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับว่า “คุณ” เป็นใคร
1.คุณมีระยะเวลาลงทุนเหลือ 30 ปีหรือเปล่า
ถ้าเป็นเช่นนั้น ราคาที่สมควรจ่ายจะต้องวิเคราะห์มาจากการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัท Google ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) ไปอีก 30 ปีข้างหน้า
2.คุณต้องนำเงินออกมาใช้ภายในอีก 10 ปีหรือเปล่า
ถ้าใช่ ราคาที่สมควรจ่ายจะสามารถคำนวณได้จากการวิเคราะห์ศักยภาพของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้า และดูว่าผู้บริหารของ Google สามารถทำตามวิสัยทัศน์นั้นได้หรือไม่
3.คุณเป็นนักเทรดรายวันหรือเปล่า
ถ้าใช่ ราคาที่คุณสมควรจ่ายก็คือ “ใครจะไปสนใจล่ะ” เนื่องจากคุณกำลังพยายามที่จะรีดเงิน 2-3 เหรียญออกมาจากอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในระหว่างตอนนี้กับช่วงเวลาพักกลางวัน ซึ่งคุณสามารถซื้อหุ้นได้ในทุกราคา
เวลานักลงทุนมีเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน ราคาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนหนึ่งก็สามารถที่จะดูสมเหตุสมผลสำหรับอีกคน และมันเป็นเช่นนี้ในทุกกลุ่นสินทรัพย์ เนื่องจากพวกเขาให้ความสนใจในปัจจัยที่แตกต่างกัน
เฮาเซิลบอกว่า...
เป็นเรื่องยากในการหาเหตุผลที่เข้าท่าให้กับการจ่ายเงินซื้อบ้านสองห้องนอนที่ฟลอริดาในราคา 700,000 เหรียญ เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของคุณในอีก 10 ปีข้างหน้า
แต่มันดูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลดีถ้าหากคุณวางแผนที่จะซื้อมันมาเพื่อขายเก็งกำไร (flipping) ในตลาดด้วยราคาที่สูงกว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว
การกระทำเช่นนี้คือสิ่งที่คนจำนวนมากทำในช่วงของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์
ข้อมูลของ Attom บริษัทติดตามธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นจำนวนของบ้านในอเมริกาที่มีการขายเปลี่ยนมือมากกว่า 1 ครั้งในช่วงเวลา 12 เดือน
ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงของฟองสบู่ จาก 20,000 ครั้งในไตรมาสแรกของปี 2000 ไปจนถึงมากกว่า 100,000 ครั้งในไตรมาสแรกของปี 2004 การซื้อเพื่อเก็งกำไรลดลงไปอยู่ที่จำนวนน้อยกว่า 40,000 ครั้งต่อไตรมาสหลังจากการเกิดฟองสบู่ และมันก็อยู่ที่ปริมาณราวๆ นั้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คุณคิดว่าคนที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรเหล่านี้จะสนใจอัตราส่วนราคาระยะยาวต่อค่าเช่าไหม? พวกเขาจะสนใจหรือเปล่าว่าราคาที่พวกเขาจ่ายไปนั้นถูกหนุนหลังด้วยการเติบโตของรายได้ในระยะยาว?
แน่นอนอยู่แล้วว่าพวกเขาไม่สนใจ ตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกมที่พวกเขาเล่น
สิ่งเดียวที่สำคัญสำหรับนักเก็งกำไรก็คือ ราคาของบ้านในเดือนหน้าจะสูงกว่าราคาของบ้านในเดือนนี้ และก็มีหลายปีที่มันเป็นเช่นนี้จริงๆ
การก่อตัวของฟองสบู่นั้นเกี่ยวข้องกับผู้คนที่เดินหน้าซื้อขายในระยะสั้นเพื่อจับโมเมนตัมที่สามารถเติบโตด้วยตัวของมันเอง
คุณคาดหวังให้ผู้คนทำอะไรกันล่ะในเวลาที่โมเมนตัมมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจำนวนมากในระยะสั้น? นั่งและมองดูมันอย่างอดทนอย่างนั้นหรอ? ไม่มีทาง โลกไม่ได้มีวิถีทางเช่นนี้ ผลตอบแทนจะโดนไล่ล่าอยู่เสมอ
นั่นเป็นจุดที่สิ่งต่างๆ เริ่มน่าสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
ฟองสบู่นั้นสร้างความเสียหายเมื่อนักลงทุนระยะยาวที่กำลังเล่นเกมแบบหนึ่งนั้นเริ่มฟังคำแนะนำจากนักเทรดระยะสั้นที่กำลังเล่นอีกเกม
การถูกครอบงำโดยคนอื่นที่กำลังเล่นคนละเกมกับคุณยังสามารถที่จะทำลายวิธีคิดเรื่องการใช้จ่ายเงินของคุณ
การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นถูกขับเเคลื่อนโดยสังคม จากการได้รับอิทธิพลจากคนที่คุณชื่นชอบ และคุณลงมือเพราะคุณต้องให้ผู้คนชื่นชมในตัวคุณ
ในขณะที่พวกเรามองเห็นว่าผู้คนใช้เงินของพวกเขาไปกับรถ บ้าน เสื้อผ้าและการหยุดพักร้อนมากแค่ไหน แต่พวกเรากลับมองไม่เห็นเป้าหมาย ความกังวลและความทะเยอทะยานของพวกเขาเลย
เฮาเซิลบอกว่า...
ทนายความหนุ่มผู้ตั้งใจจะเป็นหุ้นส่วนในสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงอาจจำเป็นที่จะต้องรักษารูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนผู้สามารถใส่กางเกงวอร์มไปทำงานอย่างผมไม่จำเป็นจะต้องทำ
แต่ถ้าหากการซื้อของเขานั้นเข้ามากำหนดความคาดหวังในตัวผม นั่นหมายความว่าผมอาจกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของความผิดหวัง เนื่องจากผมจ่ายเงินออกไปโดยที่ไม่ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพิ่มขึ้นเหมือนกับที่เขากำลังได้รับ
เราอาจจะไม่ได้มีสไตล์การแต่งตัวที่ต่างกัน แต่เราเพียงแค่เล่นกันคนละเกม
#Take home message
คุณต้องไม่ถูกชักจูงโดยการกระทำและพฤติกรรมของคนที่กำลังเล่นเกมคนละเกมกับคุณ
- มอร์แกน เฮาเซิล
อ่านจบแล้วเป็นยังไงบ้างคะ
เอาจริงๆ ส่วนตัวแอดเองมองว่าการเกิดขึ้นของฟองสบู่และการแตกของฟองสบู่นั้น มีลักษณะคล้ายๆ กับวัฎจักรนะคะ ออกแนวธรรมะเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
กราฟราคาสินทรัพย์ก็เช่นกัน มีช่วงขาขึ้น ช่วงคงที่ และช่วงขาลง สลับสับเปลี่ยนกันไปในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทองคำ คริปโต เป็นต้น
ถ้าคุณอยากเป็นนักลงทุนระยะยาว แน่นอนว่าคุณจะต้องทำความคุ้นชินกับสภาวะเหล่านี้ไว้ เพราะว่าคุณจะต้องเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำไปซ้ำไป สลับไปสลับมาอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาค่ะ
โฆษณา