18 ก.ย. 2022 เวลา 14:43 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Plan 75 (2022) - ความเจ็บปวดของวัยชราในวันที่ตัวเองเลือกตายได้
Plan 75 โครงการพิเศษจากรัฐบาลที่ให้ผู้สูงวัยเลือกจบชีวิตตัวเองได้ตามต้องการ
สวัสดีครับทุกท่าน ! วันนี้ผมอยากจะมาแนะนำหนังญี่ปุ่นเรื่อง Plan 75 (2022) ตัวหนังได้รับรางวัล Caméra d’Or – Special Distinction (ผู้กำกับหน้าใหม่) จาก Cannes Film Festival 2022
ดังนั้นก็อยากจะเขียนรีวิวแนะนำหนังเรื่องนี้ เผื่อว่าใครสนใจนะครับ !
[ เรื่องย่อ ]
Plan 75 (2022) ได้รับการกำกับโดย จิเอะ ฮายากาวะ (Chie Hayakawa) ผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ชาวญี่ปุ่น
หนังเล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคต เมื่อประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เพื่อแก้ปัญหาผู้สูงอายุล้น (จนส่งผลกับงบประมาณ) รัฐบาลจึงออกกฎหมายให้คนชราที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการการุณยฆาตได้ฟรี พร้อมทั้งได้รับเงินชดเชยไว้ใช้ก่อน / หลังตายอีกด้วย
มิจิ (จิเอโกะ ไบโช) คุณยายผู้ประสบกับความทุกข์ในวัยชรา จึงเริ่มลังเลว่าเธอควรรับข้อเสนอนี้ของรัฐบาลหรือไม่
[ ความรู้สึกหลังชม ]
เนื่องจากเห็นคะแนนของ IMDB อยู่ที่ประมาณ 7/10 ทำให้รู้สึกกังวลว่าหนังจะน่าเบื่อหรือเปล่า... ปรากฏว่าดันประทับใจกว่าที่คิด แถมยังเป็นหนังที่องค์รวมภาพยนตร์สวยและประณีตมาก 👍
- จุดแรกที่อยากชื่นชม คือ ไอเดียภาพยนตร์ นี่เป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ที่มีไอเดียคมคาย โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่ว่า
ความน่ากลัวในวัยชราเป็นอย่างไร และหากเราเลือกวันตายในวัยชราได้ ภาพที่เกิดขึ้นจะมีหน้าตาแบบไหนได้บ้าง
จุดนี้เป็นประเด็นที่น่าขบคิด ในวันที่เราแก่ชรา พร้อมทั้งปัญหาทุกอย่างรุมล้อม ไม่ว่าจะสังขารเสื่อมถอย เงินเก็บไม่พอใช้ แถมไม่เหลือใครในชีวิต การตายเพื่อหนีจากความอึดอัด (ทั้งความเหงา ความว้าเหว่ และความเจ็บปวด) อาจเป็นทางเลือกน่าตัดสินใจ แต่ครั้นพอถึงเวลาตาย เราจะทำใจกันได้ขนาดไหน
ความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเคยสัมผัส ดังนั้นความรู้สึกขณะชีพจรหยุดเต้น ย่อมไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า มันเจ็บปวดมากแค่ไหน หรือจริง ๆ แล้ว แค่หลับไป
สถานการณ์ที่ตัวละครได้พบเจอจึงเป็นเคสที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก... ที่สำคัญ มันเป็นชะตากรรมที่ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัส (ถ้าไม่ตายก่อนแก่) ยิ่งพอนึกถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาพของสังคมในเรื่องก็สะท้อน พร้อมทั้งสะกิดถามเราว่า "เราพร้อมแค่ไหนที่จะเข้าสู่ภาวะแบบนี้"
นอกจากนี้ ก็มีเรื่องที่น่าสนใจ อย่างความตลกร้าย / กระอักกระอ่วนจากการขายแพ็คเกจเลือกตายของนโยบาย Plan 75 ที่เรียกว่าฮาร์ดเซลสุด ๆ แน่นอนว่า ถ้านโยบายแบบนี้เกิดขึ้นจริง คงเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักในสังคม (แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ อาจจะมีโครงการแบบนี้จริง ๆ ก็ได้ 😭)
มิจิกับอาชีพพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม
- จุดเด่นถัดมาที่น่าชื่นชม ก็คือ "ความประณีตของภาพยนตร์" ความประณีตถูกใส่เข้ามาในทุกอิริยาบถ การดำเนินเรื่องค่อย ๆ เคลื่อนอย่างช้า ๆ แต่น่าติดตาม อีกทั้งยังแสดงมุมมองให้เราเห็นในทุกด้าน ไม่ว่าจะในมุมของผู้ตัดสินใจตายหรือมุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เราได้เห็นภาพที่เกิดขึ้นจากทุกมุมมอง
งานภาพ: สวยทั้งมุมกล้องและการให้แสงสี ที่เห็นใช้บ่อย ก็แสงคอนทราสต์ ซึ่งขับเน้นรอยย่นบนหน้า - สีหน้าแววตาของวัยชรา รวมถึง Filter สีอมเหลืองในบางซีน ดูแล้วหม่น ๆ ดี
มิจิและโฆษณาชักชวนเข้าโครงการ Plan 75
ดนตรีประกอบภาพยนตร์: สะท้อนความเหงา ความว้าเหว่ และความเงียบงันอย่างจับใจ (ประพันธ์โดย Rémi Boubal)
- ในหนังมีหลายซีนที่ค่อนข้างสะเทือนใจ และเรียกให้น้ำตาคลอ
- การแคสต์ตัวละคร แสดงได้ถึงทุกคน ที่เด่นสุดได้แก่ บท "มิจิ" ของคุณยาย จิเอโกะ ไบโช แสดงได้สุดยอดจริง 🙏
ส่วนอีกบทที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ ก็บท "ฮิโรมิ (Hayato Isomura)" เจ้าหน้าที่รับสมัครโครงการ Plan 75 แสดงดราม่าได้เยี่ยมในหลาย ๆ ซีนเช่นกัน
Hayato Isomura ในบทฮิโรมิ เจ้าหน้าที่รับสมัครโครงการ Plan 75
[ สรุป ]
Plan 75 อาจไม่ใช่หนังดูง่าย แถมตัวหนังยังเป็นสไตล์หนังนอกกระแส Slow burn เต็มสูบ อย่างไรก็ตาม คุณภาพโดยรวมถือว่าน่าประทับใจ หนังสำรวจประเด็นความน่ากลัวของวัยชราและความตายอย่างลึกถึงแก่น ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้ตกผลึกความคิด
ดูจบก็นึกถึงเรื่อง Departures (2008) กับ Die Tomorrow (2016) สามเรื่องนี้มีประเด็นร่วมอย่างหนึ่ง นั่นคือ "มรณานุสติ" หรือการตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขารและความตายอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกปล่อยวางและเข้าใจถึงคุณค่าของชีวิตได้ดีขึ้น
จะว่าไป ดูแล้วทางฝั่งญี่ปุ่นก็น่าจับไปส่งแข่งในเวทีออสการ์อยู่เหมือนกัน โอกาสทะลุถึงรอบลึก ๆ คงมีไม่น้อย !
มิจิขณะชมตะวันชิงพลบ - หนึ่งในซีนที่ทรงพลังที่สุดในหนัง
ป.ล. หากใครสนใจ อาจต้องรีบไปชมในโรงไวหน่อยนะครับ เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ในโรงนานขนาดไหน
ป.ล.2 อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพุดคุยหรือติดต่อกับผม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา