4 ต.ค. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
ประโยชน์ของความรู้ที่ไร้ประโยชน์: The Usefulness of Useless Knowledge
“ผมมีหน้าที่อะไรบ้าง?”
“คุณไม่มีหน้าที่ มีแต่โอกาส”
บทสนทนาข้างต้น เป็นบทสนทนาของ เอบราฮัม เฟล็กซ์เนอร์ ผู้เขียนหนังสือ/บทความ เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาขั้นสูง กับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดที่มาทำงานในสถาบันการศึกษาขั้นสูงแห่งนี้ สะท้อนได้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของเฟล็กซ์เนอร์ที่ ให้ความสำคัญกับการแสวงความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่อาจไม่ได้มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ ในห้วงเวลานั้น ๆ ซึ่งทำไปเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง
เฟล็กซ์เนอร์ได้ชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของ ความรู้ที่ไร้ประโยชน์ (ณ เวลา ใด เวลาหนึ่ง) ของงานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ว่าแม้ในเบื้องต้น อาจเหมือน งานวิจัยขึ้นหิ้ง ที่อาจดูไร้ค่าในเชิงประยุกต์ แต่ ถ้ามีใครก็ตาม มองเห็นคุณค่า มีมุมมองที่แตกต่าง ๆ ออกไป สามารถนำความรู้ที่ไร้ประโยชน์นั้น ไปต่อยอดและเกิดประโยชน์อันมหาศาล ตามมาในภายหลัง
ภายในบทความ เฟล็กซ์เนอร์ยกตัวอย่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นที่มาของสิ่งที่อำนวยความสะดวกของเราในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า นิวเคลียร์ วิทยุ ระเบิด การแพทย์ วัคซีน และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ล้วนมีที่มาที่ไปจากวิทยาศาสตร์พื้นฐาน หรือ ความรู้ที่ไร้ประโยชน์แล้วทั้งสิ้น
เฟล็กเนอร์เอง เน้นย้ำความสำคัญ ของความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการ ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราขยายขอบเขต จากความไม่รู้ ไปสู่ความรู้อันไร้ขอบเขตจำกัด
นอกจากบทความของเฟล็กซ์เนอร์แล้ว
ในหนังสือเล่มนี้ยังสอดแทรก บทความโดย รอบเบิร์ต ไดจค์กราฟ และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ (ผู้แปลหนังสือชื่อดัง เซเปียนส์) ที่สะท้อนคิดบทความของเฟล็กซ์เนอร์ ถึงความสำคัญอันยิ่งยวดของ ความรู้ที่ไร้ประโยชน์ หรือความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐาน วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ สะท้อนสภาพการณ์ปัจจุบัน ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยเอง ล้วนมุ่งหน้าสู่ สังคมวัตถุนิยม เน้น วิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยละเลย วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เห็นได้จากการลดลงของงบประมาณงานวิจัยที่รัฐบาล จัดสรรให้
ภาพดังกล่าว สะท้อนถึงการขาดความเอาใจใส่และให้ความสำคัญ สิ่งที่อาจเรียกได้ว่า ไร้ประโยชน์ ณ ปัจจุบัน แต่อาจมีคุณค่ามหาศาลต่อไปในอนาคต ถ้าเราเห็นโอกาส อนาคตจึงขึ้นอยู่กับพวกเรา และผู้บริหารประเทศที่จะให้ความสำคัญกับ ความรู้ที่ไร้ประโยชน์ นี้หรือไม่ อนาคตอยู่ในกำมือ พวกเราตอนนี้แล้วครับ
ปล. ข้อคิดเพิ่มเติทฝม
ข้อคิดสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ คือ การเรียนรู้เรื่องพื้นฐาน หรือเบสิก ของเรื่องต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ การรู้จักคำว่า “Why”ของสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง รู้ที่มาที่ไป ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องที่เรามักละเลยเสมอในปัจจุบัน เพราะเราเองอาจคิดไปว่ามันเป็นความรู้ที่ไร้ประโยชน์
ทุกวันนี้ เรามักต้องการแต่คำว่า How คือ ต้องทำอย่างไร เช่น จะทำอาหารอร่อยต้องทำอย่างไร โดยไม่รู้ที่มาที่ไปว่า องค์ประกอบของอาหาร ตัวไหน ทำให้เกิดรสชาติอย่างไร ทำไมต้องใส่เครื่องปรุงเท่าโน้นเท่านี้ เมื่อรู้เช่นนี้ เราย่อมทำอาหารได้แบบเดียว คือ ลอกเขามาล้วน ๆ ไม่สามารถทำในแบบตัวเองได้
การรู้ Why จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการนำไปต่อยอด นำความรู้พื้นฐานไปประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ตามมาโดยไม่ต้องไปลอกเลียนผู้อื่น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา