18 ต.ค. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time)
ถ้าคุณหวังว่าจะได้คำตอบว่า “เราหรือลูกของเราควรใช้หน้าจอไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อวันจึงจะปลอดภัย” หรือ “มีเทคนิคการใช้หน้าจออย่างไรให้เหมาะสมในครอบครัวยุคดิจิทัล” ขอตอบว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้คำตอบเหล่านี้ชัด ๆ แก่เราครับ ผิดหวังเลยใช่ไหม…
แม้หนังสือเล่มนี้ ไม่สามารถให้คำตอบแบบ “เป๊ะ ๆ” กับคำถามดังกล่าวได้ ผู้เขียน อันยา คาเมเนตซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยี ได้เปิดมุมมองที่เรียกว่า “กว้างขวาง” มาก ๆ กับเรื่องสื่อหน้าจอ ที่มีผลกระทบต่อเด็ก พ่อแม่ รวมทั้งคนในครอบครัว
เราจะเห็นตั้งต้นจากชื่อหนังสือว่า “The Art of Screen Time” ซึ่งบ่งว่า แท้จริงแล้ว การใช้หน้าจอ มิใช่ เรื่องที่เป็นศาสตร์ (Science) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็น “ศิลป์” (Art) อีกด้วย
ผู้เขียนอุตสาหะ รวบรวมข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของหน้าจอ ต่อชีวิตของเด็กยุคปัจจุบัน แต่พบว่าข้อมูลเหล่านั้น ยังมีค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย แถมยังเป็นงานวิจัยในระดับที่ความน่าเชื่อถือหรือการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงต่ำ บ้างก็อ้างอิงมาจากการทดลองในสัตว์ทดลอง มิได้มาจากการทดลองในมนุษย์จริง ๆ (ซึ่งเป็นข้อจำกัดมาก ๆ ที่จะทดลองเรื่องแบบนี้ในมนุษย์เด็ก เพราะอาจขัดต่อจริยธรรมการวิจัย)
ด้วยข้อมูลที่จำกัดเช่นนี้ ข้อแนะนำการใช้หน้าจอ จากสมาคมกุมารแพทย์ชั้นนำ ว่าควรจำกัดชั่วโมงการใช้หน้าจอ และไม่ควรให้ใช้หน้าจอในเด็กกี่ขวบ นั้น มาจากข้อมูลทางการแพทย์จำนวนน้อย ส่วนใหญ่แล้วมาจาก ข้อคิดเห็น หรือ ความคิดเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่ออกคำแนะนำมา และยอมรับตามนั้นเช่นกันว่าไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
เช่นนี้เอง ในมุมมองผู้เขียน จึงเห็นว่า เราคงไม่สามารถหยุดกระแสอันถาโถม ของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามา รวมทั้งการใช้หน้าจอ แทนที่จะห้ามปราม จึงเปลี่ยนมาเป็นเราหรือลูกของเราจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร อย่างปลอดภัย รวมทั้งใช้สื่อหน้าจออย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กและคนในครอบครัว
ทัศนะสำคัญที่ได้จากผหนังสือเล่มนี้: องค์ประกอบหลักที่สำคัญ 3 ประการ ที่ทำให้เราหรือลูกใช้หน้าจอได้อย่างปลอดภัย เกิดประโยชน์และไม่เป็นโทษได้หรือไม่นั้น มีดังนี้
1. สื่อหน้าจอ
2. ผู้ดูหน้าจอ (โดยเฉพาะลูกของเรา)
3. สิ่งแวดล้อม (ในที่นี้หมายถึงครอบครัว)
การที่สื่อหน้าจอจะก่อให้เกิดปัญหาได้ นั้นเกิดจาก 3 องค์ประกอบนี้ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กัน เกิดภาวะไม่สมดุล
สำหรับหน้าจอ: หน้าจอที่มีเนื้อหาบางอย่างที่ไม่เหมาะสมสามารถกระตุ้นให้เกิดปัญหาแก่เด็กได้ เช่นมีความรุนแรง ภาพหรือวิดีโอลามกอนาจาร เนื้อเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับวัยเด็ก เป็นต้น หรือการใช้เวลาหมกมุ่นกับหน้าจอมากเกินไป จนอดหลับอดนอน หรือการกินอาหารขยะขณะดูหน้าจอ ย่อมเกิดผลเสียตามมาได้ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
ผู้ดูหน้าจอ หรือลูกของเรา ถ้าเขามีลักษณะพื้นฐานทางสมอง ที่ไวต่อผลกระทบจากการใช้หน้าจอ หรือเสพติดง่าย ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ (genetics) หรือกระบวนการเหนือพันธุกรรม (epigenetics) ในที่นี้ผู้เขียนเปรียบเด็กเหล่านี้เหมือน ดอกกล้วยไม้ โดนอะไรนิดอะไรหน่อยก็ตาย ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ แม้หน้าจอ จะมีเนื้อหาเหมาะสม หรือดูจอไม่นาน ก็อาจเกิดผลเสียตามมา เกิดการเสพติดได้ง่าย ต่างจากเด็กที่เหมือนดอกแดนดีไลออน ที่ทนทาน ตายยาก ไม่ว่าหน้าจอ จะน่าหลงใหล หรือมีภาพรุนแรงเพียงใด เด็กเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบไม่มากนัก
สุดท้าย สิ่งแวดล้อม หรือครอบครัว การมีผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ ช่วยดูแลลูกหลาน ขณะดูจอ เอาใจใส่ หมั่นซักถามแต่ไม่ซักไซร้ ไม่จับผิด ไม่สอดแนม แต่เป็นการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในการดูหน้าจอของเด็ก ๆ เหล่านี้ สามารถช่วยให้เด็กปลอดภัยจากสื่อหน้าจอได้
ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างองค์ประกอบทั้ง 3 นี้ ให้เกิดความสมดุลขึ้นมาได้ เชื่อว่า การใช้หน้าจอของเราและลูก ๆ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา สามารถใช้หน้าจอได้อย่างสนุก เกิดประโยชน์ และมีความสุขในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลนี้
ถ้าคุณคิดจะห้ามลูกดูจอ หรือ จะปล่อยอิสระเสรี ลองหาหนังสือเล่มนี้ มาอ่านดู คุณจะได้มุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น ทางสายกลางในการดูหน้าจอ เหมือนจะเป็นคำตอบที่ดี ที่หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามให้เราครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา