24 ก.ย. 2022 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

4 แนวทางค้นหา "ตัว(ของ)ตน"

บางคนเข้าใจว่า การทำให้คนอื่นมีความสุข เราเองก็จะมีความสุข เราจึงเลือกดูแลและให้ความสำคัญกับคนอื่นก่อนตัวเอง
เรามักใช้ชีวิตตาม "กรอบความความคาดหวังของคนรอบข้างและสังคม" มากเกินไป จนทำให้เราละเลยความสุขของตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว
เมื่อเราทำตามความคาดหวังของคนรอบข้างหรือสังคมไม่ได้ เราจะรู้สึกถึงความเครียด ความกดดัน และรู้สึกว่ากำลังเสียหลักในการควบคุมทิศทางชีวิตของตัวเอง ทำให้รู้สึกถึงความว่างเปล่าและไร้จุดหมาย จนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันกำลังทำอะไรอยู่”
ถ้าเราไม่รู้จักตัว(ของ)ตน เราก็ไม่รู้ว่าต้อง "เติมเต็ม" ชีวิตส่วนไหนบ้าง จึงทำให้เรายัง "ไม่มีความสุขที่แท้จริง"
ดังนั้น เราต้องรู้จักทำความเข้าใจตัวเองให้มากพอ และค้นหาว่าเราให้ค่าความสำคัญต่อ "อะไร" และ "ใคร" บ้างที่ทำให้เรามีความสุข แล้วเราจะสามารถ "เติม" ส่วนที่เราขาดไปในชีวิตให้ "เต็ม" ได้
4 แนวทางการค้นหาตัว(ของ)ตน
1. จากคนสำคัญที่ “ให้ค่าเรา” และ/หรือ คนที่ “เราให้ค่า”
การให้ความสำคัญกับ “คนที่เราให้ค่า” เป็นใครก็ได้ที่เราชื่นชมหรือสร้างแรงบันดาลใจให้เรา เพราะคนเหล่านี้จะมีแนวคิดหรือการกระทำถ่ายทอดออกมา ที่ทำให้เรานับถือและเชิดชูให้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของเรา
และการให้ความสำคัญกับ “คนที่ให้ค่าเรา” คือ คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนหรือแฟน คนที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชเพราะอยากเห็นเรามีชีวิตที่ดีและมีความสุข จะเป็นกลุ่มบุคคลที่เรามักจะ "มองข้าม" บ่อยๆ
ลองคิดดูให้ดีว่า “ถ้าเราไม่สำคัญต่อชีวิตเขา” เขาคงไม่มาเสียเวลาชีวิตกับเราหรอก
ในเวลาที่เราท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกบั่นทอนทางจิตใจ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะเป็นคนที่คอยรับฟังเราด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสินเรา จะคอยเยียวยาเป็นกำลังใจให้เราเมื่อเราล้ม คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่ดีเมื่อเราต้องการ
1
*ข้อสังเกต ในบางเวลาที่เรารู้สึกแย่ แล้วมี "ใครสักคน" ที่อยู่ตรงนั้น ข้างๆเรา หรือแค่กุมมือ แตะไหล่เรา โดยไม่พูดอะไรเลย ทำให้เราร้องไห้ออกมาโดยไม่มีเหตุผล นั่นเป็นเพราะ "ใครสักคน" นั้นทำให้เรารู้สึกถึง "ความปลอดภัยทางใจ" นั่นเอง
1
คนเหล่านี้จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ ที่ช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านจุดที่ยากของชีวิตไปได้ บุคคลในข้อนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตเรามาก
2. ฝึกเผชิญหน้าและเรียนรู้กับการแก้ปัญหาของตัวเอง
การแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญในชีวิตที่เราต้องมี ถ้าเราเลี่ยงการเผชิญกับปัญหาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็เหมือนกับการถ่วงเวลา สุดท้ายเราก็ต้องเผชิญหน้ากับมันอยู่ดี
ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกเผชิญหน้าตอนนี้หรือภายหลัง ถ้าเราเลี่ยง ก็ยิ่งทำให้เราเครียดมากขึ้น และจะเป็นผลกระทบในมุมอื่นของชีวิตต่อไปเรื่อยๆไม่มีสิ้นสุด
ถ้าเราคิดหาทางออกหรือแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ บางครั้ง เราต้องคุยกับใครสักคน (ย้อนอ่าน "ข้อ 1")
เราจึงต้องเรียนรู้และกล้าที่จะเผชิญกับปัญหาที่มี เพราะการแก้ปัญหาจะช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น
3. พบปะ"คนรู้"และ หา"ความรู้"เพื่อช่วยให้เติบโต
บางคนมีชีวิตเดินหน้าเพราะปรับตัวจึงก้าวทันโลก บางคนหยุดนิ่งสวนทางกับความก้าวหน้า เพราะไม่เรียนรู้จึงปรับตัวตามโลกไม่ทัน ทำให้เกิดความรู้สึกหมดไฟ ท้อแท้ และรู้สึกเก็บตกเหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การเรียนรู้จึงสำคัญในการใช้ชีวิต เราจึงต้องปฏิบัติต่อการ"เรียนรู้"ให้เหมือนการลงทุน ที่จะถูกทบต้นสะสมกลายเป็น"ความรู้"
ดังนั้น เราต้องพาตัวเองออกจากวงโคจรเดิมๆ ช่วยกำจัด"ความไม่รู้"ให้ตัวเองด้วยการคบคนรู้และเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ถ้าเราพบปะผู้คนหน้าเดิมๆตลอดเวลา ชีวิตก็อาจไม่พัฒนาก้าวหน้า เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบปะ "คนรู้" และผู้คนมากหน้าหลายตาจากหน้าที่การงานที่ต่างกัน เพื่อให้ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และเพิ่มโอกาสให้ชีวิตพัฒนาตามไปด้วย
“คนรู้”ที่เราศึกษาและเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตเป็นทางลัด และเป็นไปได้ว่า คนรู้อาจผ่านประสบการณ์เดียวกันกับที่เรากำลังเผชิญอยู่ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตของตัวเองได้ จะทำให้รู้สึกได้ถึงแรงสนับสนุนสำคัญที่เราต้องการ รวมถึงจะคอยช่วยชี้แนะและดึงให้เรา”อยู่ในกรอบ”ต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆจนสำเร็จได้
นอกจากนี้ เราหา"ความรู้"ได้จากการศึกษาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจากจาก"การอ่าน" และบทเรียนที่ได้รับจาก"ประสบการณ์ตรง" ของเราเอง โดยเฉพาะประสบการณ์ล้มเหลวที่ผ่านมา เราไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าเราเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะไม่พลาดเรื่องเดิม ๆ"ซ้ำแล้วซ้ำเล่า"
ยิ่ง"เรียน"มากเท่าไหร่ เรายิ่ง"รู้"และเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น สะสมกลายเป็นคลังข้อมูลที่สร้าง"ปัญญา"เพื่อช่วยในการเลือกตัดสินใจ ทำให้มีความพร้อมในการตอบรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น
4. จากการเป็น "ผู้ให้"
ไม่ว่าเราจะ "คิด" ว่าตัวเองอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง หรือแม้กระทั่ง "อยาก" อยู่คนเดียวโดยไม่มีใครอื่น ในความเป็นจริง เราไม่สามารถตัดขาดจากสังคมได้ เพราะเรายังคงส่วนหนึ่งของสังคมที่ยังคงเชื่อมต่อไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ถ้าเราใช้ชีวิตโดยไม่เห็นค่าของคนอื่นและมองว่าตัวเองสำคัญที่สุด เราจะขาด "ตัวตน" ที่เป็นส่วนหนึ่งของเราไป
แต่ถ้าเราหันมามองชีวิตในแบบใหม่ว่า ยังมีอะไรที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากกว่าตัวเอง จะทำให้เห็นว่า เรายังมีความสำคัญต่อคนรอบข้างและสังคมเสมอ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
ดังนั้น เรียนรู้การ "เป็นผู้ให้" จากสิ่งเล็กๆ ตามอิสรภาพทางชีวิตที่เราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง หรือเวลาที่เราสามารถสละให้กับคนอื่นและสังคมได้ โดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
เพราะการเป็น "ผู้ให้" จะทำให้เรามีความสุข และช่วยให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเราและความหมายในชีวิตมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา