23 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“The Crown” มูลค่าทางเศรษฐกิจของราชวงศ์อังกฤษ
2
หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชินีผู้เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษมาอย่างยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ
ประชาชนที่ชื่นชอบเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ ต่างให้ความสนใจรับชมพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ไม่เคยจัดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว
แต่นอกจากพระราชพิธีพระบรมศพ อีกสิ่งหนึ่งที่คนสนใจรับชมอย่างมากคือ ซีรีส์ Netflix เรื่อง The Crown ที่ถ่ายทอดเรื่องราวตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1940 ก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์สวรรคต
นำไปสู่การปิดฉากชีวิตเจ้าหญิงเอลิซาเบธ และก้าวเข้าสู่การขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่นามว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ซีรีส์ The Crown ในปัจจุบันออกฉายมาจนถึงซีซั่นที่ 4 แล้ว โดยเป็นซีรีส์ชุดที่ได้รับความนิยม และกวาดรางวัลมาอย่างมากมาย หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้คนจำนวนมากจึงเปิดดูซีรีส์เรื่องนี้อีกครั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึง “ควีน” ของพวกเขา
จนทำให้ยอดผู้เข้าชมในช่วงวันที่ 9 - 11 กันยายน ในสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นถึง 800% รวมไปถึงคนทั่วโลก จนทำให้ The Crown season 1 ขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับหนังยอดนิยมของ Netflix อีกครั้ง
ในบทความนี้ Bnomics จะไม่ขอเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพราะอยากให้ทุกคนได้ลองไปดูในซีรีส์ The Crown
(หรือถ้าไม่มีเวลาดู สามารถอ่านบทความที่ Bnomics ได้ลงไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน)
1
แต่เราอยากจะมาชวนวิเคราะห์ถึง มูลค่าทางเศรษฐกิจของราชวงศ์อังกฤษต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร
📌 “British Monarchy” ราชวงศ์ที่กลายเป็น “แบรนด์” สำคัญของสหราชอาณาจักร
1
พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เคยเรียกราชวงศ์ว่าเป็น “The Firm” หรือบริษัท ที่บริหารงานโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งพอมองในมุมนี้ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่านำไปคิดต่อมาก เพราะถ้าลองคิดดีๆ แล้ว
ในปัจจุบันราชวงศ์อังกฤษเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักร และเป็น “แบรนด์” ที่มีมูลค่าในเชิงธุรกิจจริงๆ
2
Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก ได้เคยประเมินมูลค่าของแบรนด์ราชวงศ์อังกฤษไว้ในปี 2017 และคาดว่ามีมูลค่ากว่า 6.75 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยแบ่งเป็น
1) ทรัพย์สินที่จับต้องได้ คิดเป็นมูลค่าราวๆ 2.55 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง ประกอบไปด้วย
  • สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าของ
  • สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์ (The Duchies of Lancaster and Cornwall)
  • งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์ (Royal Collection)
  • เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (Crown Jewels)
2) ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เป็นมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ที่ราชวงศ์อังกฤษสร้างให้แก่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง
📌 พลังแห่งราชวงศ์อังกฤษ…Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์
ในปี 2017 ราชวงศ์อังกฤษ สร้างเม็ดเงินให้แก่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกว่า 1.766 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งมาจากรายรับส่วนเกินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
2
รวมไปถึงรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว และการค้า, มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ได้รับรองตราแผ่นดิน ตลอดจนสินค้าต่างๆ ที่สมาชิกราชวงศ์ให้การยอมรับ, อุตสาหกรรมบันเทิงและศิลปะ
📌 การท่องเที่ยวและการค้า
ประมาณการว่ารายได้การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากราชวงศ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 550 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยเฉพาะแลนด์มาร์คสำคัญอย่างพระราชวังบักกิงแฮม และปราสาทวินด์เซอร์ ที่มีผู้เข้าชมกว่า 2.7 ล้านคน ในปี 2016
เครดิตภาพ : Wikimedia Commons
[เกร็ดเล็กน้อย : พระราชวังบักกิงแฮม เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในปี 1993 เพื่อนำเงินมาเป็นค่าซ่อมแซมปราสาทวินด์เซอร์ที่เกิดเพลิงไหม้ ในปี 1992]
นอกจากนี้ การที่สมาชิกราชวงศ์เสด็จเยือนประเทศต่างๆ นอกจากจะช่วยเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังก่อให้เกิดการโปรโมทสินค้า และบริการต่างๆ ของสหราชอาณาจักร เพราะใครๆ ก็อยากจะมีไลฟ์สไตล์ที่มีความหรูหราประหนึ่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งคาดว่าช่วยก่อให้เกิดรายได้ต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกว่า 150 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
📌 การรับรองสินค้าด้วยตราแผ่นดิน
สินค้าต่างๆ ที่มีการรับรองด้วยตราแผ่นดิน ช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่แบรนด์ จากการประเมินพบว่าการรับรองด้วยตราแผ่นดิน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกว่า 193.3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
1
และยังช่วยให้สินค้านั้นๆ สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ
ในปัจจุบันมีแบรนด์กว่า 800 แบรนด์ ที่ได้รับการรับรองตราแผ่นดินโดยสมาชิกราชวงศ์ หนึ่งในนั้นคือ ซอสยี่ห้อ Heinz ที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดี
4
เครดิตภาพ : chrisdorney / Shutterstock
นอกจากการับรองอย่างเป็นทางการด้วยตราแผ่นดินแล้ว บางครั้งสิ่งที่สมาชิกราชวงศ์เลือกใช้เวลาออกสื่ออยู่บ่อยๆ ก็กลายเป็นเหมือนการรับรองสินค้านั้นๆ ทางอ้อมเช่นกัน อย่างดัชเชสแห่งเคมบริดจ์
ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ Kate Effect เมื่อเสื้อผ้าที่ทรงเลือกใส่ออกงาน มักจะถูกประชาชนจับตามองและซื้อตามจนขายหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที ซึ่งคาดว่าช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่แบรนด์ต่างๆ โดยเฉลี่ยมากกว่า 200 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปีเลยทีเดียว
เครดิตภาพ : Getty Image via Elle
[เกร็ดเล็กน้อย : เมื่อปี 2015 หลังการปรากฏพระองค์ครั้งแรกเจ้าหญิงเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ที่ลืมตาดูโลกได้ไม่กี่ชั่วโมง ภายใต้ผ้าคลุมเด็กอ่อน แบรนด์ G.H. Hurt & Son ทำให้แบรนด์มียอดขายถล่มทลายและมีคนเข้ามาเลือกชมสินค้าในเว็บไซต์นับแสนคนจากทั่วโลก]
1
📌 สื่อบันเทิงและศิลปะ
นอกจากนี้ ราชวงศ์ยังเข้าไปมีส่วนในอุตสาหกรรมสื่อและศิลปะ ซึ่งสำหรับปี 2017 คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง นอกจากซีรีส์โด่งดังเรื่อง The Crown แล้วก็ยังมีหนังและละครเวทีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ที่หยิบยกเรื่องราวในราชวงศ์ไปฉาย
1
ทำให้คนสนใจในเรื่องราวของราชวงศ์ และนำไปสู่การโปรโมทความเป็นแบรนด์ราชวงศ์อังกฤษไปทั่วโลก ประมาณกันว่ามูลค่าสื่อโฆษณาต่างๆ สร้างรายได้มากกว่า 125 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั่วโลกต่างจับจ้องและให้ความสนใจสหราชอาณาจักรตลอดจนกษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นอย่างมาก จึงถือเป็นเรื่องที่น่าท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพระเจ้าชาร์ลที่ 3 เป็น ว่าจะสามารถรักษาความนิยมต่อราชวงศ์ รักษามูลค่าความเป็นแบรนด์ราชวงศ์อังกฤษ ได้อย่างมั่นคงและสง่างาม เฉกเช่นเดียวกับที่พระราชมารดาของพระองค์ทำได้หรือไม่
และจะสามารถต่อยอดอำนาจเชิงวัฒนธรรมที่มี ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไร
It is not my job to govern.
But it is my job to ensure proper governance.”
(เราไม่มีหน้าที่บริหาร
แต่หน้าที่ของเรา คือ จัดการให้มีการบริหารอย่างเหมาะสม)
Queen Elizabeth II, The Crown: Season 1, Episode 7
3
[เกร็ดเล็กน้อย : ในปี 2020 - 2021 เงินรายปีที่ราชวงศ์ได้รับอยู่ที่ 86.3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ปัจจุบันพระเจ้าชาร์ลที่ 3 จึงได้มีแนวคิดลดจำนวนสมาชิกราชวงศ์ให้เหลือแค่คนที่สำคัญและปฏิบัติพระราชกรณียกิจจริงๆ เพื่อประหยัดงบประมาณเงินรายปี]
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Netflix

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา