30 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
The Golden Spoon : Spoon-class theory...การแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยช้อนของเกาหลีใต้
“คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” เป็นประโยคที่คนไทยมักจะใช้พูดถึงเด็กที่เกิดมาในครอบครัวฐานะดี ในเกาหลีใต้เองก็มีการนิยามในลักษณะคล้ายๆ กัน
โดยแบ่งระดับช้อน ตามระดับรายได้ของพ่อแม่ ซึ่งระดับของช้อนที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนี้เอง ที่ได้กลายเป็นรากฐานไปสู่อนาคตว่าเด็กแต่ละคนจะเติบโตขึ้นไปเป็นอย่างไร และได้รับโอกาสจากสังคมมากน้อยแค่ไหน
The Golden Spoon เป็นซีรีส์ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง โดยใช้ “ช้อนทอง” เป็นสัญลักษณ์ของสถานะครอบครัว ซีรีส์เล่าเรื่องผ่านตัวละครอีซึงชอน เด็กชายที่เกิดมาฐานะยากจน โดนเพื่อนในโรงเรียนชั้นสูงกดขี่ เนื่องจากเป็นเด็กทุนยากไร้
แต่แล้ววันหนึ่งเขาได้รับช้อนทองวิเศษ ทำให้เขาได้รับโอกาสสลับชีวิตไปลูกของครอบครัวของเศรษฐี ทำให้เขาเห็นว่าการปฏิบัติตัวของคนรอบข้างที่มีต่อเขานั้นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และเขาสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องดิ้นรนเหมือนในอดีตที่ไม่มีช้อนทอง
1
บทความนี้ Bnomics ก็เลยจะมาเล่าถึง Spoon-class theory หรือทฤษฎีการแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยช้อน ของเกาหลีใต้ ที่เป็นการเปรียบเทียบที่ฟังดูเหมือนขำขัน แต่แฝงไปด้วยความเจ็บปวดของผู้ที่ถูกกดทับโดยโครงสร้างทางสังคม
📌 Spoon-class theory ทฤษฎีการแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยช้อน
การแบ่งชนชั้นด้วยช้อน เพิ่งจะมีขึ้นตอนปี 2015 นี้เอง จากการที่นักแสดงสาวคนหนึ่งที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ได้รับบทหลักในซีรีส์เรื่องหนึ่ง หลายคนจึงคาดว่าเนื่องจากพ่อของเธอเป็นผู้มีชื่อเสียง เธอจึงได้รับโอกาสนั้นไปอย่างง่ายดาย หลังจากนั้นคำว่า “ช้อนทอง” ก็เลยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาไว้เรียกคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ในขณะที่คนที่มีฐานะยากจน ก็จะถูกเรียกว่าเป็น “ช้อนดิน”
ต่อมาคำว่า “ช้อนทอง” หรือ “ช้อนดิน” ก็ถูกนำมาใช้ในสังคมเป็นวงกว้าง และแบ่งย่อยไปมากขึ้นตามระดับความมั่งคั่งของครอบครัว
  • ช้อนเพชร (Diamond Spoon) หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 3 พันล้านวอน คิดเป็นกลุ่ม 0.1% บนสุดของประเทศ
  • ช้อนทอง (Gold Spoon) หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 2 พันล้านวอน คิดเป็นกลุ่ม 1% บนสุดของประเทศ
  • ช้อนเงิน (Silver Spoon) หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านวอน คิดเป็นกลุ่ม 3% บนสุดของประเทศ
  • ช้อนทองแดง (Bronze Spoon) หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 500 ล้านวอน คิดเป็นกลุ่ม 7.5% บนสุดของประเทศ
  • ช้อนดิน (Dirt Spoon) หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า 55 พันล้านวอน ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ที่เหลือในประเทศ
(ในตอนต้นเรื่อง เราจะเห็นได้ว่ามีการอธิบายว่าแต่ละคนเป็นช้อนอะไร ซึ่งก็อ้างอิงคร่าวๆ จากหลักข้างต้นนี้)
📌 ช้อนที่ติดตัวมาแต่กำเนิด…ชนชั้นที่ไม่อาจเปลี่ยนได้ง่ายๆ
ทฤษฎีการแบ่งชนชั้นด้วยช้อน ในตอนแรกก็ถูกตั้งขึ้นมาแบบขำๆ เวลาเอาไว้เล่าเรื่องซุบซิบของเหล่าคนมีชื่อเสียง แต่มันได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนได้เริ่มตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ที่สถานะทางสังคมโดยกำเนิด กลายเป็นตัวตัดสินโอกาสในชีวิตของคนๆ หนึ่งได้
ในเกาหลีใต้ กลุ่มคนเพียง 10% ที่รวยที่สุด ถือครองความมั่งคั่งกว่า 66% ของประเทศ ในขณะที่คนจนครึ่งประเทศ ถือครองความมั่งคั่งเพียง 2% เท่านั้น
นักเศรษฐศาสตร์ Kim U-ch’an มองว่าความมั่งคั่งของเกาหลีใต้นั้น ถูกยึดโยงอยู่กับความมั่งคั่งที่สืบทอดกันมา เนื่องจากกฎหมายมรดกและกฎหมายการให้ของเกาหลีใต้ เอื้อประโยชน์ต่อการที่จะส่งผ่านความมั่งคั่งจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ง่าย
1
  • ในช่วงทศวรรษ 1980 สัดส่วนของสินทรัพย์มรดก เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นเอง อยู่ที่ 27%
  • ในช่วงทศวรรษ 1990 สัดส่วนของสินทรัพย์มรดก เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นเอง อยู่ที่ 29%
  • ก่อนที่ช่วงทศวรรษ 2000 สัดส่วนของสินทรัพย์มรดก เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นเอง เพิ่มขึ้นจนอยู่ที่ 42%
คุณ Kim Nak-nyeon อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยทงกุก มองว่าถึงแม้สัดส่วนนี้จะไม่สูงเท่าประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรปอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร แต่สัดส่วนนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การลงทุน การเก็บออมเงิน และการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลง ทรัพย์สินมรดกจึงยิ่งกลายเป็นแหล่งความมั่งคั่งที่สำคัญของคนๆ หนึ่ง มากกว่าเงินที่คนๆ นั้นพยายามหามาเอง
1
ดังนั้นเวลาเราพูดถึงว่าคนๆ นี้ เป็นช้อนประเภทไหน ก็เลยอาจจะต้องดูไปถึงความมั่งคั่งตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายส่งต่อมาให้ ไม่ได้ดูแค่พ่อแม่ของคนๆ นั้นทำงานอะไรเพียงอย่างเดียว
ทีนี้ถามว่า แล้วเราจะเปลี่ยนช้อนที่ติดตัวมาแต่กำเนิดได้ให้เป็นช้อนทองได้อย่างไร แน่นอนว่าก็ต้องหาเงินเยอะๆ และหาทางสะสมความมั่งคั่ง
1
แต่อย่างที่หลายคนน่าจะทราบว่าการแข่งขันในตลาดแรงงานของเกาหลีใต้นั้นสูงมาก จึงสร้างแรงกดดันต่อระบบการศึกษา ถ้าใครที่จบมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ก็จะถือได้ว่าเป็นประตูสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานไปทั้งชีวิตเลยทีเดียว
แน่นอนว่าคนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลได้ มักจะต้องเรียนในโรงเรียนที่ลงทุนในทรัพยากรการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มั่งคั่ง สามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ได้
1
และอีกหนึ่งข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับคนที่เป็นชนชั้นสูง คือ ถ้าเด็กคนไหนที่พ่อแม่มีคอนเนคชั่นดีๆ มีหนังสือรับรอง เพื่อสมัครเรียนต่อจากคนที่มีสถานะทางสังคมระดับสูง ก็จะได้เปรียบในขั้นตอนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยกว่าคนที่ไม่มีอะไรเลย
(ในเรื่องเราจะเห็นว่าอีซึงชอนเป็นเด็กทุนยากไร้ที่เรียนเก่งมาก แม้จะมีอุปสรรคขัดขวางมากมาย แต่เขามุ่งมั่นที่จะเข้าม.โซล ถึงขนาดที่พ่อแม่ยอมแลกทุกอย่างแม้กระทั่งศักดิ์ศรีเพื่อให้ลูกได้เรียนต่อ)
แล้วนอกจากนี้ หลังจากเรียนจบมาถึงตอนสมัครงาน นอกจากจะดูว่าเรียนจบจากที่ไหนแล้ว บริษัทในเกาหลีใต้มักจะให้ผู้สมัครงานกรอกข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของครอบครัวด้วย ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงเป็นอย่างมากว่าเป็นการเปิดช่องให้คนที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่า มีโอกาสได้รับเลือกเข้าทำงานมากกว่าหรือไม่?
นี่จึงเป็นอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมหลายๆ คนถึงไม่สามารถเปลี่ยนช้อนที่ติดตัวมาแต่กำเนิดได้เสียที นั่นก็เพราะว่าโครงสร้างทางสังคม ไม่ได้เอื้อให้เขาสามารถไต่ขึ้นไปในระดับสูงได้ง่ายๆ
ทฤษฎีการแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยช้อน จึงเป็นเหมือนความล้มเหลวของเศรษฐกิจและสังคมในการสร้างโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้าและเลื่อนชนชั้นทางสังคมขึ้นมาให้ดีขึ้นได้
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา