27 ก.ย. 2022 เวลา 04:38 • สุขภาพ
ภาวะติดหวานหรืออาการเสพติดน้ำตาล (Sugar Blues)
โรคติดหวาน เกิดจากการที่เราได้ทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล แล้วเกิดความพึงพอใจในรสชาติ ส่งผลให้สมองจดจำไว้ว่า ถ้าหากต้องการความพึงพอใจแบบนี้ ควรมีการดื่มหรือทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลซ้ำอีกครั้ง
ทำให้เราอยากทานอะไรหวานๆ อยู่ตลอด ร่างกายรู้สึกโหยหานํ้าตาลตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้า และบ่ายสามโมง ถ้าไม่ได้กินน้ำตาลจะทำให้หดหู่หรือซึมเศร้าผิดปกติ และถ้าหากเราฝืนบังคับตัวเองให้ไม่ทาน อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนได้
น้ำตาล จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย ปกติเราสามารถทานได้วันละไม่เกิน 6 ช้อนชา แต่หากบริโภคในปริมาณมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการสะสมและก่อให้เกิดอันตรายหรือปัญหาสุขภาพตามมาได้
เด็กๆที่ชอบทานขนมหวาน อาจทำให้ฟันผุได้ง่าย และยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดกำเดาออกง่ายกว่าปกติด้วย ส่วนในผู้ใหญ่ที่ชอบกินน้ำตาลมากๆ ก็จะทำให้ระดับของวิตามินบี 1 ในร่างกายลดน้อยลง ทำให้เหน็บชาบ่อย อาจเกิดอาการภูมิแพ้ ขี้หงุดหงิดหรือซึมเศร้าได้ง่าย อารมณ์ค่อนข้างแปรปรวน และทำให้นอนไม่หลับ
และถ้าร่างกายสะสมมากเข้าอาจทำให้น้ำหนักเกิน เลือดเหนียวข้นขึ้น และไหลช้าลง ทำให้การส่งสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายทำได้ช้าลง ซ่อมแซมร่างกายได้ไม่ดี และทำให้เส้นเลือดฝอยตีบตันได้ง่าย นำมาซึ่งปัญหาใหญ่มากมาย เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจตีบ และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาตได้
ยิ่งถ้าน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมากๆ จะไปเก็บสะสมไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน และจะส่งกลับไปที่กระแสเลือดอีกครั้ง สุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นกรดไขมันไปสะสมตามจุดต่างๆ ทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ
ผู้ที่เป็นโรคติดหวานมักจะมีอาการ ดังนี้
• อยากกินแต่ของหวานๆ เช่น ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน เป็นต้น
• ไม่ได้กินของหวานแล้วรู้สึกไม่ดี เหนื่อย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน
• หิวบ่อย หรือมักนึกถึงอาหารอยู่เสมอ
• หลังอาหารทุกมื้อต้องตามด้วยของหวาน
• เติมน้ำตาลในอาหารคาวแทบทุกอย่าง
• ดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำหวานมากกว่า 1 แก้วต่อวัน
• กินของหวานทุกครั้งที่เครียด
• ชอบทานผลไม้แห้ง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม
• ชอบงานเลี้ยงสังสรรค์ เพราะมีอาหาร เครื่องดื่มและของหวานให้รับประทาน
จากผลการศึกษาพบว่า คนที่ทานน้ำตาลมากจะมีระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีรวมทั้งไขมันอันตรายในปริมาณสูงเมื่อเทียบกับคนที่ทานนํ้าตาลน้อย
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะการทานนํ้าตาลมากๆ จะไปกระตุ้นการทำงานของตับให้ผลิตคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีมากขึ้น และเข้าไปยับยั้งการกำจัดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีให้น้อยลงด้วย
หลายคนอาจรู้สึกว่าการทานนํ้าตาลจะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น ซึ่งความจริงแล้ว น้ำตาลจะช่วยให้เรารู้สึกมีแรงเพิ่มขึ้นได้แค่ 30 นาทีเท่านั้น แต่หลังจากนั้นนํ้าตาลจะทำให้เกิดการหลั่งของสารเซโรโทนินที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนเข้ามาแทนที่
รวมทั้งมีงานวิจัยหนึ่งบอกว่าการรับประทานนํ้าตาลมากเกินไปจะทำให้รู้สึกหิวมากกว่าเดิม เพราะน้ำตาลจะเข้าไปทำให้ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาเมื่อรู้สึกอิ่มลดน้อยลง เลยทำให้เรากินแล้วไม่อิ่มสักที
อันตรายจากภาวะเสพติดน้ำตาล
การบริโภคน้ำตาลที่ถูกเติมในอาหารหรือเครื่องดื่มมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ระดับพลังงานแปรปรวน เสี่ยงเกิดสิว หน้าแก่ก่อนวัย เซลล์อาจเสื่อมสภาพก่อนถึงเวลาที่เหมาะสม เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า โรคไขมันพอกตับ และโรคมะเร็ง
นอกจากปัญหาสุขภาพข้างต้น การบริโภคน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอื่นๆด้วย เช่น โรคไต โรคเก๊าท์ โรคเหงือกและฟัน สมองเสื่อม เป็นต้น
มีหลายโรคที่เกิดขึ้นจากการเสพติดน้ำตาล หรือมีภาวะติดหวาน โดยโรคที่พบได้เป็นประจำ คือ
1. โรคเบาหวาน
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และแน่นอนว่าถ้าหากเราไม่สามารถหยุดทานหวานได้ ก็จะทำให้เกิดการต้านอินซูลินอย่างรุนแรง และนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ โรคนี้หากเป็นมากอาจอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
2. โรคอ้วน
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลจะมีการเปลี่ยนรูปไปเป็นไขมัน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้กลายเป็นโรคอ้วนได้
3. โรคหัวใจ
การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ระบบสูบฉีดโลหิตของร่างกายมีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือการเพิ่มคอเลสเตอรอลเลว (LDL) เพิ่มไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงทำให้อินซูลินมีการหลั่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง
4. โรคกระดูกพรุน/กระดูกเปราะ
การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด ร่างกายจึงต้องทำการปรับสมดุลนี้ด้วยการไปดึงแร่ธาตุต่าง ๆ มาใช้งานไม่เว้นแม้กระทั่งแคลเซียม จึงส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกพรุนตามมา
แนะนำการเลือกรับประทานอาหารให้ได้รับนํ้าตาลน้อยลง โดย คุณณรงค์ เติมพรเลิศ นักกำหนดอาหารแนะนำไว้ว่า
1. ลดการปรุงหรือเติมนํ้าตาลในอาหาร อาจใช้สารให้ความหวานทดแทน (หญ้าหวาน, น้ำตาลเทียม) ในปริมาณที่เหมาะสม
2. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงน้ำผลไม้ แนะนำให้ดื่มนํ้าเปล่าจะดีที่สุด
3. เลือกผลไม้ที่มีรสหวานน้อย และจำกัดปริมาณการกินให้เหมาะสมในแต่ละวัน (เลี่ยงผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ดอง)
4. เพิ่มการรับประทานผักใบเขียวให้มากขึ้น จะช่วยชะลอการดูดซึมนํ้าตาล ทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
5. หมั่นสังเกตปริมาณน้ำตาลจากฉลากที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังของผลิตภัณฑ์อาหาร
ผู้ที่ชอบกินหวานอาจรู้สึกว่าการลดน้ำตาลเป็นเรื่องยาก จึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดจนเกินไป โดยมีวิธีลดน้ำตาลง่ายๆที่แนะนำ ดังนี้
• อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการ โดยเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย หรือได้รับเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ
• อ่านปริมาณน้ำตาลของผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำเสมอ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักผสมน้ำตาลในปริมาณมากเพื่อรักษารสชาติแทนไขมันที่สกัดออกไป
• หลีกเลี่ยงการเติมนํ้าตาลทุกชนิดลงในอาหารและเครื่องดื่ม และระมัดระวังการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งในช่วงแรกอาจช่วยให้คุณควบคุมน้ำหนักได้ แต่อาจทำให้เรากินหวานมากขึ้นเรื่อยๆในภายหลัง
• ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หากทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมากควรดื่มน้ำให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยดับกระหายและลดโอกาสที่จะเลือกดื่มน้ำหวานน้อยลง
• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน ชานมไข่มุก และน้ำอัดลม โดยดื่มน้ำเปล่า โซดา ชาสมุนไพร ชาดำหรือกาแฟดำไม่เติมน้ำตาลแทน
• หลีกเลี่ยงการกินขนมหวานและลูกอมที่มีน้ำตาลสูง รวมไปถึงอาหารเช้าซีเรียล กราโนล่า โปรตีนอัดแท่ง หรือถั่วอบน้ำผึ้งที่มีน้ำตาลสูง โดยเลือกที่ผสมน้ำตาลไม่เกิน 4 กรัม/หน่วยบริโภค
• เลือกกินผลไม้สดแทนการทานผลไม้กระป๋อง ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้หรือน้ำผลไม้ปั่นที่เติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานสังเคราะห์
• ทำอาหารโดยลดน้ำตาลจากสูตรลงครึ่งหนึ่ง และหลีกเลี่ยงการใช้ซอสปรุงอาหารที่มีน้ำตาล เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสบาร์บีคิว หรือซอสสปาเกตตี้สำเร็จรูป
• กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการกินธัญพืชขัดสีน้อย ถั่ว ผักผลไม้สด และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มักมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง
• หลีกเลี่ยงขนมหวาน หันมากินของว่างที่ดีต่อสุขภาพและไม่เติมน้ำตาลแทน เช่น ของว่างที่ทำจากถั่วหรือเมล็ดพืช ถั่วอบที่ไม่เติมน้ำตาลหรือเกลือ และดาร์กช็อกโกแลต เป็นต้น แต่ควรกินแต่พอดีในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
• กรณีที่หลีกเลี่ยงการกินขนมหวานไม่ได้ ให้กินของหวานควบคู่กับธัญพืชที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น กินน้ำแข็งไสหรือหวานเย็นกับลูกเดือย ถั่วแดง ข้าวโพด เป็นต้น เพราะเส้นใยอาหารอาจช่วยชะลอการดูดซึมนํ้าตาลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อิ่มท้องนานขึ้น และช่วยลดความอยากของหวานได้
• พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนไม่พอนั้นอาจกระตุ้นความอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ประกอบด้วยไขมัน โซเดียม น้ำตาล และพลังงานสูง
• เลือกโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่ไม่เติมน้ำตาลและสารปรุงแต่งรสหรือกลิ่นสังเคราะห์ โดยอาจกินคู่กับผลไม้สดหรือผลไม้แช่แข็ง
• ใช้น้ำมันมะกอกและน้ำส้มสายชูเป็นน้ำสลัดแทนน้ำสลัดที่มักใส่น้ำตาล และเลือกใช้ซอสปรุงรสหรือครีมปรุงแต่งอาหาร อย่างซอสมะเขือเทศ ซอสพริก หรือเนยถั่วที่ไม่เติมน้ำตาล
• บ้วนปากหรือแปรงฟันทุกครั้งหลังกินของหวาน เพราะความรู้สึกหวานจากต่อมรับรสภายในช่องปากอาจทำให้เกิดความอยากอาหารและบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น อีกทั้งน้ำตาลยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฟันผุอีกด้วย
โฆษณา