27 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • หนังสือ
เริ่มต้นลงทุนง่าย ๆ ด้วยกองทุนรวม
ตอนที่ 9 ลงทุนกองทุนรวมอย่างไรไม่ให้เครียด
จาก 8 ตอนที่แล้วมา เราได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของกองทุนรวมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ความหมาย ประเภท คำศัพท์ต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย ตอนนี้เรามาพูดถึงเรื่องของ "วิธีการลงทุน" กันบ้างดีกว่าครับ ว่าจะมีวิธีการอะไรบ้างที่เราลงทุนแล้วไม่เครียด ถ้าพร้อมแล้วก็ไปกันได้เลยครับ
1. ลงทุนก้อนใหญ่ก้อนเดียวจบ (Lump Sum)
เป็นการเลือกลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวและทิ้งระยะเวลาปล่อยให้เวลาและกองทุนที่เราคัดเลือกมาอย่างดีทำหน้าที่ของมัน โดยเรามีหน้าที่แค่เข้ามาดูมัน 1-2 ครั้ง / ปี แค่นั้นครับ (ขอย้ำนะครับว่าต้องเลือกกองทุนที่เราศึกษาและเข้าใจความเสี่ยงของมันด้วยนะครับ)
2. วิธีเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average : DCA)
เป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนที่นิยมทำกันมากที่สุด (เพราะผมก็ทำ ฮ่าๆ) โดยผู้ลงทุนนั้นจะค่อยๆทยอยลงทุน ทีละเล็กๆน้อยๆ ในจำนวนที่เท่าๆกัน อย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน โดยไม่สนใจด้วยว่าตลาดตอนนั้นเป็นขาขึ้นหรือลง หรือ NAV ตอนนั้นราคาเท่าไร แค่ทำการลงทุนอย่างสม่ำเสมอก็พอ
เช่น นาย A ตั้งใจจะ DCA กองทุน XYZ ทุกๆเดือน เดือนละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี
ช่วงเดือนแรก NAV อยู่ที่ 10 บาท/หน่วย นาย A จึงซื้อหน่วยลงทุนได้ทั้งหมด 200 หน่วย
เดือนถัดมา NAV ลดลงเหลือ 8 บาท/หน่วย นายAจึงซื้อหน่วยลงทุนของเดือนนี้ได้ทั้งหมด 250 หน่วย
ถึงแม้ราคา NAV ของเดือนแรกจะสูงกว่าเดือนที่สอง แต่การลดลงของ NAV ในเดือนที่ 2 ก็กลับกลายเป็นโอกาสให้นาย A ซื้อหน่วยลงทุนที่ถูกกว่าเดือนแรกนั่นเองครับ
เดือนที่ 3 NAV นั้นพุ่งไปแตะที่ 12 บาท/หน่วย เมื่อนาย A ซื้อจะได้หน่วยลงทุนประมาณ 166 หน่วย ถึงแม้ว่า A จะซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลงในเดือนที่ 3 แต่การพุ่งขึ้นของราคา NAV ก็ทำให้หน่วยลงทุนที่ A ออมไว้ในเดือนแรกและเดือนที่ 2 ได้กำไรนั่นเองครับ
เพราะฉะนั้นเมื่อครบ 1 ปีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เงินลงทุนและผลตอบแทนของ A ทั้งหมดก็จะอยู่ในรูปถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนนั่นเองครับ
สำหรับ วิธี DCA นี้มีข้อควรระวังก็คือ ต้องเลือกกองทุนที่ดีจริงๆ ไม่งั้นอาจเสียเวลาเปล่าได้ครับ อีกปัจจัยสำคัญก็คือค่าธรรมเนียมการซื้อ ถ้าเรา DCA กองทุนถี่เกินไป อาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากขึ้นนั่นเองครับ
3.วิธีควบคุมมูลค่าสุทธิให้เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ ( Value Averaging : VA )
เป็นการกำหนดมูลค่าพอร์ตของเราให้เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ เช่น
นาย B ตั้งใจจะลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าพอร์ตของตัวเอง ให้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี
ในเดือนแรก B ลงทุน 1,000 บาท
ในเดือนที่สอง มูลค่า NAV ลดลง ทำให้พอร์ตของ B ลดลงเหลือเพียง 800 บาท B จึงลงทุนเพิ่มเป็น 1,200 บาท เพื่อให้พอร์ตของ B เป็น 2,000 บาทในเดือนที่สอง
ในเดือนที่ 3 มูลค่าพอร์ตต้องเป็น 3,000 แต่ทว่า NAV กลับพุ่งจนทำให้มูลค่าพอร์ตของ B เป็น 3,500 บาท ในกรณีนี้ B ไม่ต้องลงทุนก็ได้ นำเงิน500ออกมาใช้ เพื่อให้คงมูลค่า 3,000 ในเดือนที่ 3 ไว้ครับ
สำหรับวิธีนี้ก็จะมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องไปจับจังหวะลงทุนและได้เก็บกำไรเอาไว้เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นด้วยครับ
มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะพบวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองกันแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งผมจะไม่ชี้แนะอะไรทั้งสิ้นนะครับ เพราะทุกคนก็มีสไตล์และเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการลงทุนของทุกคนนะครับ ซึ่งตอนที่ 10 (ตอนหน้า) อาจจะเป็นตอนสุดท้ายของ Series นี้แล้ว ผมขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามผมมาถึงทุกวันนี้นะครับ ขอบคุณครับ 🙏🏻😊
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : กองทุนรวม 101
ผู้เขียน : ธนัฐ ศิริวรางกูร
จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา