Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร
•
ติดตาม
29 ก.ย. 2022 เวลา 04:03 • การเกษตร
การให้น้ำแบบเฉพาะจุด (Localize Irrigation)
การให้น้ำแบบเฉพาะจุด (Localize Irrigation)
เป็นการให้น้ำบริเวณรากพืชโดยตรง น้ำจะถูกปล่อยจากหัวจ่ายสู่ดิน ให้น้ำบริเวณเขตรากพืช ระบบนี้เป็นระบบที่ประหยัดน้ำได้อย่างแท้จริง เนื่องจากจะเกิดการสูญเสียน้ำจากปัจจัยอื่นน้อยมาก และแรงดันที่ใช้กับระบบต่ำ ประมาณ 5-20 เมตร ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต้นกำลังสูบน้ำ จำแนกได้ดังนี้
• มินิสปริงเกลอร์ (Mini Sprinkler)
• ไมโครสเปรย์และเจ็ท (Micro spay&jet)
• น้ำหยด (Drip)
มินิสปริงเกลอร์ (Mini Sprinkler)
เป็นระบบที่ใช้แรงดัน 10-20 เมตร และมีอัตราการไหลของหัวจ่ายน้ำ 35-300 ลิตร ต่อชั่วโมง เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูกตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไปและพืชผัก
หัวมินิสปริงเกลอร์ จะต่อไว้ยังจุดที่เลือกบนท่อย่อย วางไว้เหนือผิวดิน กระจายน้ำด้วยใบหมุนลงสู่ดินในบริเวณเขตรากพืช รัศมี 3-4 เมตร ให้ปริมาณน้ำทีละน้อยเพียงพอแก่การเจริญเติบโต เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกทั้งระยะชิดและระยะห่างใช้กับพืชผักได้ด้วย
หัวมินิสปริงเกลอร์ บังคับทางออกของน้ำให้มีขนาดเล็ก ข้อแตกต่างจากหัวจ่ายน้ำแบบอื่น ๆ ที่ค่อนข้างจะเด่น คือมีส่วนที่หมุนได้ที่เรียกว่า ใบหมุน ซึ่งเป็นตัวทำให้น้ำกระจายออกเป็นวงกว้างได้ดีกว่าสเปรย์ขนาดเล็กแบบอื่น ทำให้มีบริเวณพื้นที่เปียกมาก
ปกติหัวมินิสปริงเกลอร์จะตั้งไว้บนขาตั้งและต่อกับท่อย่อยโดยใช้ท่ออ่อนที่ถอดได้ ท่อนี้ปกติมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5 เมตร เป็นประโยชน์เมื่อต้องการโค้งงอหรือเคลื่อนย้าย จุดปล่อยน้ำรอบ ๆ โคนต้นพืช
อย่างไรก็ตาม สำหรับหัวที่ให้ปริมาณน้ำที่มากกว่า 100 ลิตรต่อชั่วโมง ควรใช้ท่ออ่อนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อช่วยลดการสูญเสียแรงดัน
หัวจ่ายน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์
แสดงการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์
ไมโครสเปรย์และเจ็ท (Micro spay&jet)
เป็นระบบที่ใช้แรงดัน 10-20 เมตร และอัตราการไหลของหัวจ่ายน้ำ 35-220 ลิตรต่อชั่วโมง เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูก 2-4 เมตร
ระบบไมโครสเปรย์และเจ็ท เหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำจำกัด คุณภาพน้ำค่อนข้างดี รูปล่อยน้ำมีขนาดเล็ก ต้องการระบบการกรองที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน ผู้ใช้ต้องมีความละเอียด ในการตรวจสอบและล้างไส้กรองน้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน แรงดันที่ต้องใช้ในระบบปานกลาง การลงทุนด้านเครื่องสูบน้ำและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยกว่าระบบสปริงเกลอร์
การให้น้ำแบบไมโครสเปรย์และเจ็ท เป็นรูปแบบการให้น้ำโดยหัวจ่ายน้ำกระจายน้ำเป็นฝอยหรือเป็นสาย หัวจ่ายน้ำจะไม่มีใบหมุนหรือชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวให้ปริมาณน้ำทีละน้อย เพียงพอแก่การเจริญเติบโตของพืช หัวจ่ายน้ำถูกวางไว้ยังจุดที่เลือกบนท่อน้ำ ส่วนใหญ่จะวางไว้เหนือผิวดินกระจายน้ำลงสู่ดินในบริเวณเขตรากพืชรัศมี 1-3 เมตร ทำให้เกิดเขตเปียก ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของดินและเวลาให้น้ำ
โดยทั่วไปไมโครสเปรย์และเจ็ทนั้น เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกระยะชิดและต้องการความชื้นสูง ไม้ผลระยะต้นเล็ก ๆ และในเรือนเพาะชำ แบบที่ฉีดเป็นฝอยละเอียดจะต้องหลีกเลียงการใช้ในที่แจ้งที่มีลมแรงปกติมักจะถูกนำมาติดโดยตรงบนท่อย่อย หรือติดบนปลายท่อสั้น ๆ หรือบนขาตั้ง หัวจ่ายน้ำเหล่านี้มักใช้ในสวนผลไม้ สวนกล้วย ฯลฯ
หัวจ่ายน้ำแบบไมโครสเปรย์
แสดงการให้น้ำแบบไมโครสเปรย์
หัวจ่ายน้ำแบบเจ็ท
แสดงการให้น้ำแบบเจ็ท
น้ำหยด (Drip)
เป็นระยะที่ใช้แรงดัน 5-15 เมตร และอัตราการไหลของหัวจ่ายน้ำ 1-8 ลิตรต่อชั่วโมง ปล่อยน้ำจากหัวจ่ายน้ำสู่ดินโดยตรง แล้วซึมผ่านดินไปในบริเวณเขตรากพืชด้วยแรงดูดซับของดิน เหมาะสำหรับ พืชไร่ พืชผัก ที่ปลูกเป็นแถวชิดหรือไม้ผลบางชนิด
ระบบน้ำหยด เหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำจำกัด คุณภาพน้ำดี รูปล่อยน้ำมีขนาดเล็กมาก ต้องการระบบการกรองที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน ผู้ใช้มีความละเอียดในการตรวจสอบและล้างไส้กรองน้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน แรงดันที่ต้องใช้ในระบบค่อนข้างต่ำ ทำให้การลงทุนด้านเครื่องสูบน้ำและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยที่สุด
หัวน้ำหยด จะถูกติดตั้งไว้ยังจุดที่เลือกบนท่อย่อย ส่วนใหญ่หัวน้ำหยดจะวางไว้บนผิวดินก็ได้ หรือสามารถฝังไว้ในดินระดับตื้น ๆ เพื่อป้องกันการเสียหายก็ได้ หัวน้ำหยดจะจ่ายน้ำสู่ดินให้น้ำซึมไปในดินระหว่างหัวน้ำหยดด้วยแรงดูดซับ ซึ่งแรงดูดซับก็คือ การเคลื่อนที่ของน้ำผ่านดินโดยแรงดึงของดิน
ส่วนอัตราการเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับขนาดของช่องว่างในดินและความชื้นของดิน ช่องว่างขนาดเล็กจะมีแรงดูดซับสูง แต่การเคลื่อนที่ของน้ำจะช้า ส่วนเขตเปียกของดินจะมากน้อยขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของดิน เวลาให้น้ำและจำนวนของหัวจ่ายน้ำที่ใช้
หัวน้ำหยดแบบต่าง ๆ ที่พบทั่วไป แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
• หัวน้ำหยดแบบติดบนท่อ
โดยการเจาะและติดตั้งหัวจ่ายน้ำที่ท่อย่อย ใช้ในโรงเรือน โรงอนุบาลพืช พืชตระกูลส้ม มะนาว ไม้ผลัดใบ ไม้ผลต่าง ๆ และไม้เถา เช่น องุ่น บางแบบอาจใช้แยกเป็น 4 ทางกับหัวจ่ายน้ำ ดังนั้น น้ำสามารถกระจายออกได้ 4 จุด ทำให้เป็นประโยชน์เมื่อใช้กับดินร่วนหรือดินทราย ซึ่งไม่ค่อยมีการแผ่ขยายของเขตเปียก หัวน้ำหยดนี้ใช้กันมากในสวนองุ่นและสวนดอกไม้ การติดหัวน้ำหยดบนท่อทำให้ยากต่อการม้วนเก็บจึงนิยมใช้ติดตั้งถาวร
หัวน้ำหยดแบบติดบนท่อ
แสดงการให้น้ำหยดแบบติดบนท่อ
• หัวน้ำหยดแบบฝังภายในท่อ (In Line)
มีหัวน้ำหยดเป็นส่วนเดียวกับท่อไม่ยื่นออกมาภายนอกท่อและสามารถม้วนเก็บ
หลังการใช้ได้ด้วย มีทั้งชนิดไม่ปรับแรงดันและชนิดปรับแรงดันในตัวได้
- ท่อน้ำหยด
- เทปน้ำหยด
• หัวน้ำหยดแบบท่อน้ำหยด เป็นท่อผนังหนาคงรูปมีหัวน้ำหยดติดอยู่ภายใน แบ่งเป็น 2 ชนิด
- ชนิดปรับแรงดัน
- ชนิดไม่ปรับแรงดัน
หัวน้ำหยดแบบท่อน้ำหยด
แสดงการให้น้ำหยดแบบท่อน้ำหยด
• หัวน้ำหยดแบบเทปน้ำหยด ประกอบด้วยท่อผนังบาง ลำเลียงน้ำไหลเพื่อจ่ายน้ำ มีลักาณะเป็นร่อง หรือบางแบบอาจเป็นรูเล็ก ๆ และมีหัวน้ำหยดฝังอยู่ภายใน
- แบบแบน
- แบบกลม
หัวน้ำเทปน้ำหยดแบบแบน
แสดงการให้น้ำหยดแบบกลม
เทปน้ำหยด ปกติใช้กับพืชผลต่าง ๆ ที่ปลูกเป็นแถว เช่น สับปะรด อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผักต่าง ๆ และกล้วย ยิ่งขนาดของรูออกเล็กมากเท่าไหร่ การซึมลงดินก็ยิ่งดีมากขึ้นในการให้น้ำผัก ท่อน้ำหยดจะถูกวางใต้พลาสติกที่คลุมอยู่ เพื่อลดการระเหยและป้องกันผลผลิตสัมผัสกับดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ท่อที่ไม่มีความต้านทานต่อแสงอาทิตย์และมีราคาถูกกว่าได้ การฝังท่อระดับตื้น ๆ จะทำให้การค้นหาท่อภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวง่ายขึ้น
การกำหนดขนาดท่อเมนย่อยเทียบกับอัตราการหยดต่อความยาวของเทปน้ำหยด
ข้อมูลจากตารางใช้กับเทปที่มีระยะหยด 30 เซนติเมตร
หมายเหตุ :
1. เทปน้ำหยดที่มีอัตราการหยด 2.5 ลิตร/ชั่วโมง ความยาวท่อที่วางได้ไม่เกิน 120 เมตร
2. เทปน้ำหยดที่มีอัตราการหยด 1.5 ลิตร/ชั่วโมง ความยาวท่อที่วางได้ไม่เกิน 150 เมตร
ตารางเปรียบเทียบระบบการให้น้ำแบบต่าง ๆ
เรียบเรียง : กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ : 02 579 3804
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ระบบการให้น้ำพืช
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย