4 ต.ค. 2022 เวลา 12:51 • อาหาร
“รอยะฮ์: ยำผลไม้เสี่ยงทายเพศทารกกับเรือเดินสมุทรของกัปตันตาเล็ปจากชวาสู่เอเชียทีคเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5”
2
"รอยะฮ์" หรือ "โรยัค" (Rojak) ในภาษามลายูหมายถึง "Mixed" คนไทยภาคใต้อาจคุ้นเคยกันดีในชื่อ "ส้มตำมาเลย์" เพราะนอกจากจะมีส่วนผสมที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันแล้ว หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญยังเป็นมันเทศกับมะละกอดิบอีกด้วย ว่ากันว่า รอยะฮ์เป็นสลัดผักผลไม้รวมสายพันธุ์ชวาแท้ "a salad dish of Javanese origin" ไม่เท่านั้น ความเป็นชวายังมีพิธีกรรมเล็ก ๆ เป็น Gimmick พ่วงมากับอาหารกินเล่นเบา ๆ จานนี้ คนชวาใช้ "รส" รอยะฮ์ที่ถูกใจคุณแม่ท้องแก่ 7 เดือนทำนายเพศทารกที่กำลังจะลืมตาดูโลกด้วย
"รอยะฮ์" ที่ผมทำเลียนแบบสูตรของมะชนิดที่เกือบจะเรียกได้ว่า ว่านอนสอนง่าย "ผักผลไม้ทุกอย่างฝานบาง" ยกเว้นมะเขือเทศราชินีที่ผมโยนใส่ลงไปทั้งลูก
"รอยะฮ์" เป็นอาหารว่างประเภทยำ (Salat) ถือเป็นของกินเล่น บางคนกินจริงจัง ขณะที่บางคนกินกับข้าวสวยก็มี ทำจากผักและผลไม้ได้หลายชนิด โดยส่วนใหญ่นิยมผลไม้รสเปรี้ยวหรือจืด แต่เดิมเน้นผักผลไม้ดิบ เช่น มันเทศ มะละกอ ชมพู่ มะม่วง ฝรั่ง มันแกว แอปเปิ้ล แตงกวา สาลี่ และสับปะรด น้ำยำทำจากกะปิ พริกขี้หนูสด
น้ำตาลมะพร้าว น้ำมะขามเปียก มันกุ้ง และเกลือ
เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิด "รอยะฮ์" คนอินโดฯ นิยมออกเสียงว่า "โรยัก/รูยัก" (Rujak) นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ปัจจุบันยังพบได้ทั่วไปในมาเลเซีย ติมอร์-เลสเต บรูไน สิงคโปร์ รวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทย
คนปีนัง ประเทศมาเลเซีย เรียกสลัดรวมมิตรผักผลไม้นี้ว่า “รูยัก” (Rujak) เช่นเดียวกับคนอินโดฯ แต่จะใช้ผักผลไม้หลากหลายชนิดกว่า ที่ต่างไปจากคนอินโดฯ อย่างชัดเจน คือ นิยมใช้ผักผลไม้ลวกหรือต้ม รวมทั้งวัตถุดิบอื่น ๆ ผสมผสานด้วย เช่น ถั่วลิสงต้ม ถั่วงอกลวก ผักบุ้งลวก มันเทศต้ม เต้าหู้ และอาหารทะเลทอด รวมทั้งยังเพิ่มน้ำผึ้งลงไปด้วย
1
คนสิงคโปร์เรียกสลัดจานนี้ว่า “มามัก โรยัก” (Mamak Rojak) และมีหน้าตาคล้าย “รูยัก” (Rujak) ของคนอินโดฯ คือ ใช้ผักผลไม้ทั้งดิบและสด และวัตถุดิบที่หลากหลายไม่ต่างจากคนมาเลย์
นอกจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ติมอร์-เลสเต บรูไน สิงคโปร์ และแถบภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว ในกรุงเทพมหานครก็มีรอยะฮ์อยู่ในวัฒนธรรมอาหารดั้งเดิมของมุสลิมด้วยเช่นกัน เป็นสูตรรอยะฮ์ที่น่าเชื่อว่ามีอายุกว่า 100 ปี ไม่ได้รับการถ่ายทอดสูตรต่อมาจากคนปักษ์ใต้ของไทย สิงคโปร์ มาเลย์ หรือบรูไน แต่เดินทางมาจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียโดยตรง นั่นคือ ชุมชนมุสลิมสวนหลวง แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม ริมถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกในประวัติศาสตร์ไทย
มะเสริมศรี ศรีโรจน์ฤทธิ์ (มั่นตะพงษ์) เป็นผู้ที่ได้รับถ่ายทอดสูตร "รอยะฮ์" จาก "กัปตันตาเล็ป" และหยังนะฮ์ ภรรยามุสลิมชวาโดยตรง ผ่านมะ (แม่) และโต๊ะ (ยาย) ของมะ แม้ทุกวันนี้มะจะโยกย้ายครอบครัวออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว แต่ที่บ้านเกิดในชุมชนสวนหลวงยังมีครกดินเผา และสากทำจากเหง้าไผ่ สำหรับทำรอยะฮ์อายุกว่า 100 ปีที่ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน ไม่เห็นมีขายในเมืองไทย แต่เกิดมาก็ต่าง "เห็นมะและโต๊ะ 'ไถ' รอยะฮ์ให้กิน..." แม้ว่าก่อนจะถึงวันนี้จะไม่มีใครใช้งานมันมานานกว่า 10 ปีแล้ว
“ลือซุงบาดู” และ “จะแบ๊ะ” ครกและสาก “ไถ” รอยะฮ์อายุ 100 ปีของตระกูล “มั่นตะพงษ์”
คำถามแรกเมื่อผมเดินพ้นประตูเข้าไปหลังมะให้โจทย์ให้ไปหาซื้อผักผลไม้ดิบมาทำรอยะฮ์ คือ "ได้มันเทศมาหรือเปล่า?" เพราะรอยะฮ์สูตรดั้งเดิมที่มะรับสืบทอดมาจากกัปตันตาเล็บและหยังนะฮ์ไม่ควรจะขาดมันเทศดิบ
มะเสริมศรีอายุ 79 ปี เป็นลูกสาวคนที่ 3 ของโต๊ะ (ยาย) สุเปี๊ยะ คนมุสลิมหนองจอกซึ่งครอบครัวยากจนประกอบกับมีพี่น้องมากจึงถูกขายให้เป็นบุตรบุญธรรม หยัง (ยายทวด) นะฮ์ กับ ไหย (ตาทวด) ตาเล็ป กัปตันเรือชาวชวา กับเรือเดินสมุทรลำแรกที่ชื่อ "กรุงไทย" ออกจากอินโดนีเซีย แวะสิงคโปร์ สู่เกาะสีชัง และปลายทางที่ท่าเรือบริษัทเอเชียทีค (Asia Tique) บริษัทเดินเรือชาวเดนมาร์ก ท่าน้ำวัดพระยาไกร หน้าชุมชนมุสลิมสวนหลวง
มะใจดีทำรอยะฮ์ให้ชิมทั้งสองแบบ แบบผักและแบบผลไม้รวม
คนมุสลิมสวนหลวงถูกกวาดต้อนมาจากปัตตานีเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อราว พ.ศ. 2328 และเนื่องจากชุมชนบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีอาชีพประมงและเกษตรกรรม และส่วนใหญ่ทำสวนยกร่อง ปลูกผักและผลไม้นานาชนิด น่าเชื่อว่าเป็นสวนขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ จึงได้ชื้อว่า “สวนหลวง”
สมัยแรก ๆ บรรพชนคนมุสลิมสวนหลวงรุ่นที่เป็นเชลยถูกกวาดต้อนมาสื่อสารกันด้วยภาษามลายู การอ่านการเขียนคำภีร์ทางศาสนาใช้อักษรยาวี ผสมผสานกับอักษรอาหรับ ส่วนการสื่อสารในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก
ตรงท่าน้ำ "เอเชียทีค" ริมเจ้าพระยานั้นเดิมเป็นท่าน้ำของวัดพระยาไกร ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นท่าเรือ โดยบริษัทอีสต์เอเชียติกสัญชาติเดนมาร์ก เปิดกิจการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยโกดัง โรงเลื่อย มีการติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่จำนวนมาก รวมทั้งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าซึ่งเป็นการเปิดประตูการค้าสากลระหว่างสยามกับยุโรปเวลานั้น
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามายึดท่าเรือและคลังสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติก เพื่อใช้เป็นฐานกำลังและคลังแสง โดยยังปรากฏร่องรอยมาจนถึงปัจจุบัน
กัปตันตาเล็ปและภรรยาคงจะเดินทางมาถึงเอเชียทีคในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5 หรือต้นรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างช้า ทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อ “แช้เด๊ด” (ตาเด๊ด) คนมุสลิมหนองจอก น่าเชื่อว่าอพยพไปจากสวนหลวง ได้นำเด็กหญิงสุเปี๊ยะ ซึ่งเกิด พ.ศ. 2468 และคาดว่าตอนที่ถูกนำมาขายให้นั้นน่าจะมีอายุ 2-3 ขวบ สองสามีภรรยามุสลิมจากชวาจึงรับซื้อไว้และเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม
ทั้งสองอบรมเลี้ยงดู สุเปี๊ยะ เหมือนไข่ในหิน กัปตันตาเล็ปเสียชีวิตในเมืองไทย ฝั่งร่างไว้ที่กุโบร์มัสยิดบาหยัน ซึ่งสร้างโดยคนชวาเช่นเดียวกับมัสยิดยะวาที่อยู่ไม่ห่าง หลังจากนั้น หยังนะฮ์ ตัดสินใจเดินทางกลับชวา แต่แล้วทนคิดถึงบุตรสาวบุญธรรมไม่ได้จึงกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่สวนหลวง แม้การเดินทางกลับชวาจะทำให้หยังนะฮ์ขาดจากบำนาญบริษัทเอเชียทีค แต่ก็ลงทุนค้าขายเลี้ยงดูบุตรสาวบุญธรรมจนเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2505
1
แม้สายเลือดของสุเปี๊ยะจะเป็นมุสลิมปัตตานี แต่วิถีวัฒนธรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของซูเปี๊ยะฮ์ล้วนกระเดียดไปทางชวาที่ได้รับการถ่ายทอดจากหยังนะฮ์และกัปตันตาเล็ป และยังคงถ่ายทอดสืบต่อจากโต๊ะสุเปี๊ยะมาถึงมะ พี่ ๆ น้อง ๆ ของมะ และลูก ๆ หลาน ๆ ของมะทุกคนในวันนี้
ความแตกต่างระหว่าง "รอยะฮ์" ของมะและของใครต่อใครที่สวนหลวงกับที่อื่น ๆ คือ คนชวาในอินโดนีเซียนิยมใช้ "รอยะฮ์" เป็นอาหารเสี่ยงทายเพศทารก โดยจะปรุงรอยะฮ์ให้หญิงอายุครรภ์ 7 เดือนเลือก หากหญิงท้องแก่ชอบรอยะฮ์รสหวาน ทำนายว่า ทารกที่จะเกิดมาเป็นเพศหญิง หากว่าที่คุณแม่ชอบรอยะฮ์รสเผ็ดก็ทำนายว่าทารกที่จะเกิดมาเป็นเพศชาย และพบว่า พิธีเสี่ยงทายนี้มีเฉพาะที่เกาะชวาเท่านั้น ไม่พบที่อื่น รวมทั้งชุมชนมุสลิมสวนหลวง ปลายทางเรือเดินสมุทรของกัปตันตาเล็ป
1
รอยะฮ์ฝีมือการเลียนแบบของผม แต่ยังคงคอนเซ็ปของมะเอาไว้ครบถ้วน คือ ผักผลไม้ดิบ รสเปรี้ยวหรือจืด และน้ำยำก็มีเพียงกะปิ พริกขี้หนูสด น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ เกลือ และมันกุ้ง
ถึงวันนี้มะไม่จำเป็นต้อง "ไถ" รอยะฮ์เสี่ยงทายเพศทารกอย่างหยังนะฮ์และคนบนเกาะชวาทั้งหลายอีกแล้ว วันนี้มีอัลตราซาวด์ที่คุณแม่สามารถรู้เพศทารกได้เพียงแค่เริ่มตั้งครรภ์ 3-4 เดือนเท่านั้น หากปรารถนาจะเสี่ยงทายก็อาจทำได้เพียงแค่ว่า รอยะฮ์ของมะที่ทำเสร็จแล้วจะมีลูกหลานรู้จัก แม้แต่เคยได้ยินชื่อ รวมทั้งต้องการกินมันหรือไม่
1
โฆษณา