7 ต.ค. 2022 เวลา 03:00 • สุขภาพ
ตามการรายงานโดย Psychology Today แล้ว คำว่า Gaslighting คือ กลวิธีที่บุคคลใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทำให้เหยื่อตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘หรือเราเป็นคนผิด?’ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการปั่นหัวให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัว โดยผู้ที่ทำการ Gaslighting คนอื่นสามารถเรียกได้ว่าเป็น Gaslighter
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มสงสัยในตัวเอง และเชื่อในสิ่งที่สงสัยมากเท่าไหร่ ก็จะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการที่คนอื่นเข้ามาบงการชีวิตเรามากขึ้น จนนานวันเข้าอาจจะถอนตัวออกมายาก เพราะเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่คนอื่นพูดปั่นหัวเป็นเรื่องจริงขึ้นมาจริงๆ
Gaslighting สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน คนรัก ครอบครัว ไปจนถึงความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทั้งเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย และอื่นๆ
🟥 สัญญาณที่บ่งบอกถึง Gaslighting
การที่จะหยุด Gaslighting ได้ เราต้องรู้ก่อนว่า Gaslighting มีลักษณะเป็นอย่างไร?
👉 1. เห็นได้ชัดว่าโกหก
วันหนึ่งบอกอย่างหนึ่ง แต่อีกวันกลับบอกอีกอย่าง จนเรารู้สึกสับสน ไม่รู้จะเชื่ออะไรดี คนที่ทำแบบนี้กำลังสร้างอำนาจด้วยการ Gaslighting เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกสับสน เราก็จะตำหนิตัวเอง และถูกควบคุมได้ง่ายขึ้น
👉 2. แกล้งลืมสัญญาที่ให้ไว้ แม้จะมีหลักฐานก็ตาม
สัญญาที่เคยให้ไว้ก็ทำเป็นลืม และปฏิเสธว่าไม่เคยพูด เพราะไม่อยากจะมีภาระผูกพัน จนทำให้เราสงสัยในตัวเอง
👉 3. พูดอะไรแย่ๆ แต่ก็บอกว่าไม่เคยพูด
Gaslighter มักจะชอบแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อคนอื่น แต่ก็ปฏิเสธหน้าตาเฉยว่าไม่เคยทำ เรียกได้ว่าเป็นคนตีสองหน้า พยายามดูถูกและทำให้คนอื่นเสียสมดุล
👉 4. เบี่ยงเบนความผิดของตัวเอง
เมื่อเราพูดอธิบายถึงความผิดของอีกฝ่าย แต่เขาตอกกลับมาว่า ‘ไร้เหตุผลมาก’ ‘นี่มันไม่มากเกินไปหรอ?’ และคำพูดอื่นๆ ในลักษณะที่พยายามเบี่ยงเบนความผิดมาให้เรา จนเรารู้สึกว่าเราเป็นคนผิดแทน
🟥 7 ประโยคที่ Gaslighter ชอบใช้ปั่นหัวเราโดยไม่รู้ตัว
แม้ว่าสถานการณ์ที่โดน Gaslighting อาจจะแตกต่างกันไป แต่คำพูดที่ Gaslighter ส่วนใหญ่ใช้จะคล้ายๆ กัน เมื่อโดน Gaslighting วิธีรับมือที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ความสนใจ เพราะ Gaslighter ต้องการให้เราตั้งคำถามต่อตัวเอง จนรู้สึกหงุดหงิดและเสียสมดุล
มาดูกันว่าประโยคที่ Gaslighter ชอบใช้มีอะไรบ้าง
👉 ประโยคที่ 1: “เธอกำลังพูดอะไรอยู่”
เมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนร่วมงานพยายามเฉไฉ เพื่อทำให้เราพยายามตั้งคำถามกับความทรงจำหรือการกระทำของตัวเอง ให้คิดว่านั่นคือสัญญาณเตือนว่า เขากำลังโกหกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
👉 ประโยคที่ 2: “ฉันไม่ได้พูดแบบนั้นนะ”
ประโยคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ Gaslighter พยายามทำให้เราตั้งข้อสงสัยกับความทรงจำของตัวเอง บางทีเราอาจจะเริ่มคล้อยตามแล้วคิดว่าเราอาจจะคิดผิดหรือจำผิด
👉 ประโยคที่ 3: “อย่าอ่อนไหวเกินไปน่า” “อย่าเก็บเอาไปคิดมากสิ”
จริงๆ แล้วคำว่า ‘อ่อนไหว’ ถือว่าเป็นลักษณะเชิงบวก เพราะคนที่อ่อนไหวมักจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรวมได้ อีกทั้งยังเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจและใจดีกับผู้อื่นด้วย แต่ Gaslighter มักจะบอกเป็นนัยๆ ว่าคำนี้เป็นคำเชิงลบ โดยการบอกว่าเราเป็นคนอ่อนไหวหรือคิดมากไป
👉 ประโยคที่ 4: “เธอจำผิดแล้ว” “ไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก”
อีกหนึ่งประโยคปฏิเสธที่พยายามทำให้เราตั้งคำถามกับความจำของตัวเอง
👉 ประโยคที่ 5: “ทุกคนคิดว่าเธอบ้าไปแล้ว”
สิ่งที่ Gaslighter ทำอีกอย่างหนึ่งคือ พยายามทำให้เราคิดว่าทุกคนเห็นด้วยกับเขา ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกโดดเดี่ยวและตั้งคำถามกับตัวเอง แสดงว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่อ่อนแอกว่าแล้ว และนั่นคือสิ่งที่ Gaslighter ต้องการ
👉 ประโยคที่ 6: “ขอโทษแล้วกันที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น”
หลายคนอาจจะเคยเจอ คำขอโทษที่ไม่ใช่คำขอโทษ หากเราพยายามบอกว่าเรารู้สึกไม่ชอบหรือไม่สบายใจกับคำพูดหรือการกระทำของเขา แต่เขาตอบคำนี้กลับมา แสดงว่าเขาไม่ได้ขอโทษจริงๆ
👉 ประโยคที่ 7: “ฉันก็แค่พูดเล่นไปเรื่อยเอง”
ประโยคนี้เป็นการบอกว่าเราอ่อนไหวไป และเขาไม่ได้ทำอะไรผิด โดยการทำเป็นเหมือนว่าเราไม่สามารถเล่นอะไรด้วยได้
ผลของการ Gaslighting ที่เรื้อรังจะสามารถทำให้เราเริ่มตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือและคุณค่าในตนเอง โดยสงสัยว่า Gaslighter มีเหตุมีผลและน่าเชื่อถือกว่า
แม้ในความเป็นจริงแล้วจะตรงกันข้าม Gaslighting เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการล้างสมองทางจิตวิทยา ดังนั้นการรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในเกมของ Gaslighter โดยไม่รู้ตัว
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3SEZkiy
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา