7 ต.ค. 2022 เวลา 03:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ต่อจาก EP.ที่แล้ว (EP.1 รายได้เท่าไหร่?..ต้องยื่นแบบภาษี)
น้องกระดุมการเงินได้พูดถึง ประเภทเงินได้พึงประเมิน ม.40(1)-40(8)
เพื่อนๆหลายคนอาจจะสงสัยว่า ประเภทเงินได้พึงประเมินคืออะไร ?
วันนี้น้องกระดุมการเงินจะมาคลายข้อสงสัยของเพื่อนๆ มาหาคำตอบไปพร้อมกันนนน~
เงินได้พึงประเมิน ถ้าพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ เลยก็หมายถึง เงินรายได้ตลอดทั้งปีนี้ของเรานั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากเงินเดือน โบนัส ค่าจ้างชั่วคราว หรือ ค่าคอมมิชชั่นต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งตามประมวลกฎหมายรัษฎากร ได้แบ่งประเภทเงินได้พึงประเมินไว้ 8 ประเภทด้วยกัน
ประเภทที่ 1
เงินรายได้ของเรามาจากการจ้างงานในลักษณะงานประจำ
มีสัญญาว่าจ้างเป็นพนักงานประจำ มีรายได้สม่ำเสมอ รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังรวมเงินค่าล่วงเวลา เงินโบนัส เงินพิเศษต่างๆที่ทางบริษัทให้ด้วย
กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่ยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้ เช่น พนักงานบริษัทเอกชน, พนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการ เป็นต้น
ปะเภทที่ 2
เงินรายได้ของเราได้มาจากการดำรงตำแหน่ง หน้าที่ หรือการรับจ้างทำงานให้เป็นครั้งคราว
กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่ยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้ เช่น ฟรีแลนซ์, พนักงานขายที่ได้ค่าคอมมิชชั่น, ที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ที่ได้รายได้เป็นค่าคำปรึกษา, กรรมการบริษัทได้ค่าเข้าประชุม, กลุ่มอาชีพอิสระที่รับจ้างทำโปรเจคต่างๆ, วิทยากรบรรยายพิเศษ หรือ MC เป็นต้น
ประเภทที่ 3
เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ที่สร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้น
กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่ยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้ เช่น นักแต่งเพลงที่ได้ค่าลิขสิทธิ์จากเพลงที่แต่ง และนักเขียนที่ได้ค่าลิขสิทธิ์จากการนำหนังสือที่เขียนไปตีพิมพ์ หรือเผยแพร่ เป็นต้น
ประเภทที่ 4
เงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล เช่น ดอกเบี้ย ปันผลจากการลงทุนกองทุนรวม หุ้น
ส่วนใหญ่นักลงทุนที่ได้ปันผลจะเลือกหักภาษี หัก ณ ที่จ่าย (Final tax) 10%
ในกรณีที่ฐานภาษี สูงกว่า 10%
แต่ถ้าฐานภาษี ต่ำกว่า 10% จะนำเงินปันผลที่ได้จากการลงทุน มารวมเป็นเงินได้เพื่อยื่นภาษีตอนปลายปีก็ได้เหมือนกัน ทำให้เพื่อนๆได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเม็ดเต็มหน่วยและไม่ต้องเสียภาษีมากเกินจำเป็นได้
(EP.หน้าๆน้องกระดุมการเงินจะมาเล่าเรื่องฐานภาษีให้เพื่อนๆฟังอีกทีน้าา ติดตามกันต่อได้เลย)
ประเภทที่ 5
เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นให้เช่ารถยนต์, บ้าน, ที่ดิน
หรือทรัพย์สินอื่นๆนอกเหนือจากนี้
ประเภทที่ 6
เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่ยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้ เช่น หมอ, ทันตแพทย์, พยาบาล, บุคลากรการแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ, ทนายความ, วิศวกร, สถาปนิก, บัญชี, อาชีพด้านศิลปะปราณีตศิลป์ เป็นต้น
ประเภทที่ 7
เงินได้จากการรับเหมา ที่จัดหาอุปกรณ์มาทำงานด้วย (เหมาค่าแรง เหมาค่าของ)
จะต่างจากประเภทที่ 2 ที่เป็นการรับจ้างทำงานชั่วคราวแต่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์มาทำงานด้วย
ยกตัวอย่างเช่น งานออกแบบตกแต่งภายใน
หากมีการร่างแบบแพลน ให้คำปรึกษา แต่ไม่ได้จัดหาอุปกรณ์ หรือให้พนักงานมาตกแต่งให้ จะจัดว่าเป็นประเภทรายได้ประเภทที่ 2
กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่ยื่นภาษีประเภทนี้ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้างอิสระ, ผู้รับเหมาอิสระออกแบบตกแต่งภายใน และออแกไนเซอร์อิสระรับจัดงานต่างๆ เป็นต้น
ประเภทที่ 8
เงินได้อื่นๆนอกจาก 7 ประเภทที่พูดมาแล้ว
กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ที่ยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้ เช่น แม่ค้าออนไลน์ หรือYoutuber เป็นต้น
เราอ่านมาครบทั้ง 8 ประเภทแล้ว
เพื่อนๆสงสัยไหมว่า.. ทำไมเราต้องรู้เรื่องประเภทเงินได้พึงประเมินด้วย ?
น้องกระดุมการเงิน จะคลายข้อสงสัยของเพื่อนๆ ไว้ตรงนี้..
เพราะว่า เงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท "หักค่าใช้จ่าย" ได้ไม่เหมือนกัน
หากเพื่อนๆรู้ว่างานที่เราทำสามารถเลือกยื่นภาษีได้หลายประเภทเงินได้
เพื่อนๆก็สามารถเลือกยื่นภาษีในประเภทเงินได้ที่เป็นประโยชน์ทางภาษีกับเราได้มากที่สุดนั่นเอง
บางทีถ้าเราเปลี่ยนประเภทเงินได้ในการยื่นภาษี..ทำให้เราประหยัดภาษีไปได้เยอะเลยน้าาา
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับงานที่เราทำด้วยว่า ตรงกับประเภทเงินได้ประเภทไหนบ้าง
รู้อย่างนี้แล้วเนี่ย.. ไม่รู้เรื่องประเภทเงินได้พึงประเมิน ไม่ได้แล้วน้าาา
เมื่อกี้เพื่อนๆอาจจะสงสัย เงินได้พึงประเมิน "หักค่าใช้จ่าย" ได้ไม่เหมือนกัน ??
แล้ว หักค่าใช้จ่าย ของแต่ละประเภทเงินได้เนี่ย มีรายละเอียดยังไงบ้าง ??
มาติดตามหาคำตอบใน EP.หน้านะเพื่อนๆ
EP.3 การหักค่าใช้จ่ายของแต่ละประเภทเงินได้..
ถ้าเพื่อนๆชอบเนื้อหาสาระความรู้เรื่องด้านการเงิน การลงทุน ดีดีแบบนี้
ฝากกดไลค์ กดแชร์ คอมเม้น เป็นกำลังใจให้น้องกระดุมการเงินทำคอนเท้นดีดีมาแชร์ให้เพื่อนๆกันต่อไปน้าา
โฆษณา