8 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ ‘เงินปอนด์สเตอร์ลิง’ สกุลเงินที่เคยทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก
หากจะถามถึงสกุลเงินที่มีความเก่าแก่ที่สุดของโลกและยังคงมีใช้อยู่ถึงปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึง ‘ปอนด์สเตอร์ลิง’
3
สกุลเงินที่เคยทรงอิทธิพลเป็นอันดับหนึ่งของโลกควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของจักวรรดิอังกฤษ ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
⭐ กำเนิด ‘ปอนด์สเตอร์ลิง’
ประวัติศาสตร์การใช้เงินของมนุษย์เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ามีมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล สกุลเงินแรก ๆ ที่มนุษย์ใช้คือเปลือกหอยหรือวัสดุอื่นที่หาได้จากธรรมชาติ และค่อย ๆ พัฒนาเป็นเหรียญเงิน และธนบัตรอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
แต่หากมามองจุดเริ่มต้นเงินปอนด์สเตอร์ลิง ต้องย้อนกลับไปในปี 760 สมัยที่อังกฤษถูกปกครองด้วยชาว Anglo-Saxon กษัตริย์ออฟฟาเริ่มนำเหรียญเงินมาใช้เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งผลิตจากแร่เงินบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
การผลิตจากแร่เงินบริสุทธิ์ทำให้เกิดปัญหาในการแลกเปลี่ยนเพราะความเปราะบางและไม่คงทน มีอายุการใช้งานน้อย หมุนเวียนในระบบได้น้อย
1
จนกระทั่งปี 1158 หลังจากที่ชาวนอร์มังดียึดอังกฤษได้ กษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 จึงเริ่มใช้โลหะเข้ามาผสมกับเงินเพื่อให้เหรียญมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเปลี่ยนความบริสุทธ์ของเงินเป็น 92.5% แทนและเหรียญเหล่านี้ว่า ‘สเตอร์ลิง’
ความคงทนแข็งแรงของเหรียญ ทำให้ใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ยาวนานขึ้นและนิยมใช้มาจนถึงศตวรรษที่ 13
2
[เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: เงิน 92.5% (silver 925) ถูกใช้เป็นมาตรฐานสำหรับทำเครื่องประดับในปัจจุบัน]
1
⭐ แล้วทำไมถึงเรียก ปอนด์สเตอร์ลิง?
สาเหตุที่เรียกปอนด์สเตอร์ลิงเกิดจากการผลิตเหรียญเงินในสมัยนั้นจะนำแร่เงินน้ำหนัก 1 ปอนด์ (Pound) มาแบ่งออกเป็นเหรียญจำนวน 240 เหรียญ และเรียกเหรียญเหล่านี้ว่าสเตอร์ลิง (Sterling) ทำให้ระบุมูลค่าของเหรียญเหล่านี้ว่า Pound of Sterling
1
จนภายหลังจึงกร่อนคำจนเหลือเพียงแค่ ‘ปอนด์สเตอร์ลิง’ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
1
⭐ จุดสูงสุดของ ‘ปอนด์สเตอร์ลิง’ สู่วันที่ ‘ดอลลาร์สหรัฐฯ’ มาแทนที่
“ใครเป็นมหาอำนาจ คนนั้นเป็นคนกำหนดมาตรฐานการเงินโลก” คำพูดนี้คงไม่เกินจริงเท่าใดนัก
1
ในช่วงศตวรรษที่ 19 สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงขึ้นสู่จุดสูงสุดกับการเป็นสกุลเงินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก หลังจากอังกฤษเอาชนะจักรวรรดิสเปนได้ขึ้นเป็นเจ้าแห่งการค้าทางทะเลเพียงหนึ่งเดียว
ระบบการเงินที่ใช้ในการทำการค้าก็เปลี่ยนจากมาตรฐานเงินของสเปนมาเป็นมาตรฐานเงินที่อังกฤษเป็นผู้กำหนด
ในปี 1870 อังกฤษได้ใช้ ‘ระบบมาตรฐานทองคำ’ เป็นมาตรฐานการเงินระหว่างประเทศ โดยผูกค่าสกุลเงินปอนด์ไว้กับทองคำเป็นประเทศแรก ทำให้ประเทศอื่น ๆ ต่างกำหนดสกุลเงินตนเองกับน้ำหนักของทองคำ
 
ยกตัวอย่างเช่น ทอง 1 กิโลกรัมมีมูลค่า 1 ล้านบาท หากมีการทำการค้ากับต่างประเทศได้รับทองคำมาจำนวน 2 กิโลกรัมสามารถแลกเป็นจำนวน 2 ล้านบาท เป็นต้น
1
ระบบมาตรฐานทองคำนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในยุคปลายศตวรรษที่ 19 อังกฤษขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในทุกด้านของโลกทั้งการค้าระหว่างประเทศ
อุตสาหกรรม การเมืองและการทหาร ส่งผลให้สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงได้รับความน่าเชื่อถือและกลายเป็นสกุลเงินที่มีอิทธิพลที่สุดของโลก
⭐ แต่ความยิ่งใหญ่ของสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงก็อยู่ได้ไม่นาน….
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษเสียเงินมหาศาลไปกับการทำสงคราม จากประเทศที่ยิ่งใหญ่มีสเถียรภาพทางเศรษฐกิจกลับมีหนี้กว่า 250% ของ GDP และเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
ค่าของเงินปอนด์อยู่ในสภาวะกดดันอย่างหนัก แม้อังกฤษพยายามจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์การค้าโลกได้
ปรับตัวไม่ทันหมายความว่าอย่างไร?
หลังจบสงคราม ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นในแง่อุปโภคบริโภค แต่อังกฤษไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจากฐานการผลิตเพื่อสงครามไปสู่การตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
และนี่เป็นเหตุผลให้คนเริ่มหันหน้าเข้าหาสหรัฐอเมริกาและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
มาถึงตรงนี้ จึงอยากชวนทุกท่านดูกราฟด้านล่างเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของเงินปอนด์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
เห็นได้ว่าในช่วงก่อนปี 1850 1 ปอนด์สเตอร์ลิงมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีช่วงที่ค่าเงินอ่อนลงในปี 1803-1815 ซึ่งเป็นช่วงทำสงครามนโปเลียน
จนกระทั่งปีที่ 1861 - 1875 กราฟพุ่งสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเงินปอนด์แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยพุ่งขึ้นสูงสุดคือ 1 ปอนด์เท่ากับ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ
1
ซึ่งเป็นช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษมีการประกาศใช้มาตรฐานทองคำเป็นระเบียบการเงินโลก รวมถึงแรงกระทบจากฝั่งของสหรัฐอเมริกาที่เกิดสงครามกลางเมืองในขณะนั้นส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง
นับตั้งแต่ปี 1914 กราฟมีระดับต่ำลง สะท้อนให้เห็นว่าคนขาดความเชื่อมั่นในสกุลเงินปอนด์ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษที่ชะงักจากสงครามโลกครั้งที่ 1
ทำให้อังกฤษสูญเสียบทบาทการเป็นมหาอำนาจผู้นำทางการค้าและศูนย์กลางทางการเงินของโลก
หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนเงินปอนด์หรือทรัพย์สินในมือเป็นทองคำแทนเพราะไม่มั่นใจในเงินปอนด์อีกต่อไป
เป็นจุดที่ทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและกำหนดมาตรฐานการเงินโลกจนถึงปัจจุบัน
บทเรียนจากประวัติศาสตร์เงินปอนด์สเตอร์ลิง ทำให้เราตระหนักว่าสิ่งที่ทำให้เงินมีค่าได้คือความเชื่อมั่น
ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ การเมือง รัฐบาลที่บริหารประเทศ
เมื่อมีความเชื่อมั่น สกุลเงินนั้นสามารถแข็งแกร่งทรงอิทธิพล สามารถกำหนดมาตรฐานการเงินโลกได้ เหมือนกับการเปลี่ยนมือของมหาอำนาจอย่างจักรวรรดิสเปน จักรวรรดิอังกฤษ มาจนถึงสหรัฐอเมริกา
1
แต่หากไร้ความเชื่อมั่น เงินที่เคยมีค่า ก็อาจเป็นเพียงกระดาษเปล่าใบหนึ่ง…
[เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ในปี 2021 สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงถือเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกคิดเป็น 5.89% รองจากดอลลาร์สหรัฐฯ (40.51%) และยูโร (36.65%)]
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา