1 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ ‘กรุงเกียวโต’ อดีตเมืองหลวงเก่าแก่ของญี่ปุ่นนับ 1,000 ปี
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ทำการเปิดประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหนึ่งในเมืองที่คนไปเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘เกียวโต’
เมืองหลวงแห่งประวัติศาสตร์ที่สะท้อนรากเหง้าทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอย่างขีดสุดของญี่ปุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า “หากจะเข้าใจว่าญี่ปุ่นเป็นทุกวันนี้ได้อย่างไร ให้ศึกษาประวัติศาสตร์เกียวโต”
1
Bnomics ในวันนี้ จึงอยากพาทุกท่านไปย้อนรอยประวัติศาสตร์เกียวโตอดีตเมืองหลวงของญี่ปุ่นมายาวนานถึง 1,074 ปี
⭐ประวัติศาสตร์ยุคก่อนเป็นเมืองหลวง
แม้จะมีการค้นพบร่องรอยของมนุษย์บริเวณเกาะญี่ปุ่นในช่วง 10,000 ปีก่อนคริสตกาล (ยุคโจมง) แต่ในบริเวณเกียวโตนั้นยังไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของมนุษย์
จนกระทั่งในศตวรรษที่ 6 มีการค้นพบหลักฐานของมนุษย์ในบริเวณเกียวโตคือ ศาลเจ้าชิโมงาโมะ (Shimogamo Jinja) เชื่อกันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเทมมู (ค.ศ. 675 - 686) เพื่อบูชาเทพเจ้า Kamo Tamayori-hime ให้ช่วยคุ้มครองภัยอันตรายที่จะมาสู่เกียวโต
2
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่สมัยเฮอันซึ่งมีเมืองหลวงคือ นครเฮอันเคียว (เกียวโต) ญี่ปุ่นได้เริ่มวางรากฐานทางวัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะในยุคสมัยก่อนหน้ามาบ้างแล้ว
เช่น ในสมัยอาสึกะ (ค.ศ. 550 - 710) สามารถรวมชาติญี่ปุ่นให้อยู่ภายใต้จักรพรรดิได้ ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างทางศาสนาและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น
ต่อมา ในสมัยนารา (ค.ศ. 710 - 750) เกิดพงศาวดารชื่อ โคะจิกิและนิฮอนโชคิ ซึ่งถือเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างมาก
1
เพราะทำให้เห็นความพยายามในการรวมชาติญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่สมัยนั้น การเล่าถึงความชอบธรรมของจักรพรรดิในการปกครอง รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นผูกพันกับธรรมชาติและศรัทธาต่อเทพเจ้า
1
โคะจิกิ เป็นวรรณกรรมที่ถูกแต่งโดยเจ้าชายโทะเนะริ ใช้นามแฝงว่าโอโนะ ยะสึมะโระ และเขียนด้วยตัวอักษรจีนโบราณ
ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ภาค ภาคแรก คือ เล่าถึงตำนานการกำเนิดเทพและโลกมนุษย์จนถึงสมัยจักรพรรดิจิมมุ (จักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่น) และอีกสองภาคเป็นการเล่าเรื่องราวของจักรพรรดิญี่ปุ่นไล่เรียงตามลำดับ
หากจะกล่าวว่า “เกียวโต (ยุคเฮอัน) เป็นยุคทองแห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น สมัยอาสึกะและสมัยนาราถือเป็นการวางรากฐานทางวัฒนธรรมให้เกียวโตเช่นกัน”
2
⭐ แรกเริ่ม ‘นครหลวงเกียวโต’
ในศตวรรษที่ 3-6 ญี่ปุ่นมีเมืองหลวงหลายแห่งด้วยกัน ขึ้นอยู่กับการแย่งชิงและเปลี่ยนผ่านอำนาจไปมาของผู้ปกครองในขณะนั้น เช่น เมืองนะนิวะโนะมิยะ จังหวัดโอซาก้า เมืองโอซึเคียว จังหวัดชิกะ เมืองอะซึกะโนะมิยะ จังหวัดนารา
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 784 จักรพรรดิคันมุต้องการย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่จากนาราไปยังเกียวโต เพื่อหลีกหนีฐานอำนาจเดิมที่สนับสนุนจักรพรรดิเท็นมุ และการเรืองอำนาจของขุนนางตระกูลฟูจิวาระที่มีอำนาจมากในแคว้นนารา รวมถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างขีดสุด
1
โดยเหตุผลที่เลือกเกียวโตเป็นเมืองหลวงคือ ‘ความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์’
2
พื้นที่ฮิกาชิยาม่ามีภูเขาล้อมรอบ​ 3 ด้าน ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ได้แก่ เขาฮิงะชิ เขาคิตะยะมะ และเขานิชิยะมะ เหมาะที่จะเป็นป้อมปราการเมือง
นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่านเมืองคือ แม่น้ำอุจิ แม่น้ำคัทซึระ และแม่น้ำคะโมกะวะ เป็นประโยชน์ในแง่ความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการอยู่อาศัย
ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 794 พระองค์มาที่นครหลวงแห่งใหม่และมีพระราชดำรัสว่า “I here by name this city Heian-Kyo” แปลว่า “ฉันขอตั้งชื่อเมืองนี้ว่าเฮอันเคียว”​​
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกียวโตจึงกลายเมืองหลวงของญี่ปุ่นอย่างยาวนานถึง 1,074 ปี
เมืองเกียวโต ได้วางรากฐานและพัฒนาทางวัฒนธรรมให้มีความรุ่งเรืองและเข้มแข็งด้านพระพุทธศาสนาจนถึงขีดสุด มีการสร้างวัดหลายแห่งบนเชิงเขาทั้ง 3 แนว เช่น วัดโทจิ (To-ji) และวัดไซจิ (Sai-ji)
นอกจากนี้ มีการวางรากฐานทางวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน เช่น พิธีชงชา พับนกกระดาษ การทอผ้า การเลี้ยงไหม และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
1
⭐ ที่มาของชื่อเมืองหลวงเฮอันเคียว → เกียวโต →ไซเกียว
กล่าวมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจสับสนว่าทำไมบางทีก็เรียกเกียวโต บางทีก็เรียกเฮอันเคียว โดยผู้เขียนจะขออธิบายในส่วนนี้เพิ่มเติม
แรกเริ่มในปี ค.ศ. 794 มีการใช้ชื่อว่า ‘เฮอันเคียว’ แปลว่า นครหลวงอันสงบและสันติซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองหลวงเก่าแก่ของจีนที่ชื่อ ฉางอาน แปลว่าความสงบสุขชั่วนิรันดร์
ประกอบไปด้วย เฮ (平) แปลว่าสงบสุข ราบเรียบ, อัง หรือ อัน (安) แปลว่าสงบ​ และเกียว (京) แปลว่าเมืองหลวง
บางทีก็มีการเรียกว่า ‘เคียวโนะมิยะโกะ’ มาจากคำว่า ‘เคียว’ และ ‘มิยะโกะ’ แปลว่าเมืองหลวง
จนกระทั่งในศตวรรษที่ 11 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เกียวโต’ แปลว่า นครหลวง รากศัพท์มาจากภาษาจีนคำว่า ‘จุงตู’ (京都)
2
จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตไปที่เอโดะ (โตเกียว) จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ไซเกียว’ ซึ่งแปลว่าเมืองหลวงตะวันตก (ให้สอดคล้องกับโตเกียวที่แปลว่าเมืองหลวงตะวันออก) แต่ผลสุดท้ายก็กลับมาใช้เกียวโตจนถึงปัจจุบัน
1
⭐ ผังเมืองนครหลวงเฮอันเคียว
ไม่ใช่แค่ชื่อเท่านั้นที่ได้รับอิทธิพลจากจีน หากแต่แนวคิดและการวางผังเมืองก็ได้รับอิทธิพลจากจีนร่วมด้วย
ผังเมืองเฮอันเคียวถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้าย ‘กระดานหมากรุก’ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกับเมืองฉางอาน โดยพระราชวังหลวงหันหน้าไปทางทิศใต้ตามแบบฉบับเมืองหลวงจีน
1
ส่วนราชการหลักเรียกว่า ไดไดริ (Dai-Dairi) ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของจักรพรรดิและรัฐบาลถูกวางตำแหน่งไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งเมืองให้เป็นสัดส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เช่น แบ่งพื้นที่ตลาดฝั่งตะวันออกและตะวันตก มีการสร้างคูคลอง เพื่ออุปโภคบริโภค มีการตั้งท่าเรือไว้ติดกับแม่น้ำ เพื่อขนส่งสินค้าได้สะดวก
ตั้งแต่ปี 794 จนถึง 1868 เมืองเกียวโตสามารถรักษาสถานะเมืองหลวงมาอย่างนานและสั่งสมวัฒนธรรมของชาติญี่ปุ่นได้อย่างเข้มข้น
อันเป็นผลจากภูมิศาสตร์ของเกียวโตที่มีเทือกเขาธรรมชาติเป็นแนวป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีแม่น้ำไหลผ่านเมืองสะท้อนความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การอยู่อาศัย
รวมถึงการเป็นสถานที่ประทับของพระจักรพรรดิมาเป็นเวลากว่าพันปี แม้จะมีสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจ แต่เมืองเกียวโตก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟูตลอดเวลา
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : UVM Libraries' Center for Digital Initiatives :: The University of Vermont via Wikicommons Media

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา