Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
16 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Bernanke – Diamond – Dybvig” 3 นักเศรษฐศาสตร์ผู้ไขกุญแจสู่คำตอบ “วิกฤติ” กับ “ธนาคาร”
1
ช่วงเวลาการประกาศรางวัล ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในวงการเศรษฐศาสตร์เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง
โดยในปีนี้ เป็นการรับรางวัลร่วมกันของนักเศรษฐศาสตร์ผู้เก่งกาจ 3 ท่าน ซึ่งได้รับรางวัลจากผลงานการไขกุญแจเรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจ” และความเกี่ยวข้องกับ “ธนาคาร”
นักเศรษฐศาสตร์ 3 ท่านนั้น ได้แก่ Ben S. Bernanke, Douglas W. Diamond และ Philip H. Dybvig
📌 ธนาคารล้มละลายเกี่ยวข้องกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร?
ก่อนหน้าที่ทั้ง 3 ท่านจะออกงานศึกษาซึ่งเป็นการปูรากฐานที่ยิ่งใหญ่ในวงการเศรษฐศาสตร์การเงิน ความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจกับปัญหาในภาคธนาคารของนักเศรษฐศาสตร์ ยังไม่ได้ถูกอธิบายออกมาอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้น ก็พอจะทราบแล้วว่า เวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ วิกฤติเศรษฐกิจซึ่งมีต้นเหตุมาจากภาคการเงิน เราก็มักจะเห็นการล้มหายตายจากของธนาคารและสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก
แต่หลายคนก็ยังไม่ได้สนใจที่จะเจาะลึกลงไปในรายละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ภาคธนาคารมีความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างไร? หรือคำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นว่า เวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ภาคธนาคารเข้ามามีส่วนให้วิกฤติมันดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างไร?
ซึ่งงานศึกษาของคุณ Diamond และ Dybvig ในปี 1983 อาจจะเรียกได้ว่า เป็นงานศึกษาแรกที่อธิบาย “บทบาทของภาคธนาคาร” ซึ่งเป็นตัวกลางทางการเงิน (financial intermediate) ผ่านแบบจำลองอย่างเป็นรูปธรรมจนกลายเป็นรากฐานของ “ทฤษฎีตัวกลางทางการเงินสมัยใหม่ (modern theory of financial intermediation)”
แนวคิดสำคัญของการศึกษา คือ “ธนาคารเป็นผู้แปลงระยะเวลาการไถ่ถอน (Maturity Transformation) จากสั้นไปสู่ยาว” ทำให้พวกเขามีโอกาสจะเจอปัญหาความเสี่ยงจากสภาพคล่อง
เพราะว่า ธนาคารรับฝากเงินจากคนทั่วไป ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว คนเหล่านี้ต้องการจะเก็บเงินออม (อย่างน้อยบางส่วน) ในรูปที่ตนเองสามารถถอนคืนมาใช้ได้ตลอดเวลา ทำให้ “เงินฝาก” ของผู้คนอาจจะเปรียบได้เป็น “การลงทุนระยะสั้นของคน”
แต่ว่า ธนาคารนำเงินฝากเหล่านี้ ไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ (หรือประชาชน) ซึ่งลองจินตนาการดูก็ได้ครับว่า โครงการเหล่านี้จำนวนมากต้องการเวลาพอสมควร เพื่อให้ได้กำไรคืนกลับมา แปลว่า “เงินกู้ที่ธนาคารปล่อย” อาจจะเปรียบได้เป็น “การลงทุนระยะยาวของธนาคาร”
3
ปัญหาเป็นแบบนี้ครับ เวลาธนาคารปล่อยเงินกู้มากๆ พวกเขาก็จะมีเงินสดในมือน้อยลง (แต่ทรัพย์สินยังเยอะอยู่) ซึ่งในภาวะปกติก็ไม่มีปัญหา ธนาคารก็บริหารสภาพคล่องต่อไปได้
แต่เมื่อไรก็ตามที่คนฝากเงินไม่เชื่อมั่นในธนาคาร ไม่ว่าจะเพราะมีข่าวปลอมหรือมีปัญหาจริงๆ ก็ตาม
คนที่ฝากเงินกับธนาคารก็จะรีบแห่กันมาถอนเงินออกไป ไม่งั้นหากมาช้าก็กลัวว่าจะไม่ได้เงินของตนเอง
แต่อยากที่เล่าข้างต้น หากทรัพย์สินของธนาคารอยู่ในรูปเงินปล่อยกู้มากๆ พวกเขาก็จะมีเงินสดไม่พอจ่ายคืนให้คนที่แห่มาถอนเงิน
และยิ่งมีคนแห่มาถอนเงินเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้มีคนไม่มั่นใจในธนาคารมากขึ้นเท่านั้น และก็ยิ่งแห่มาถอนเงินมากขึ้นไปอีก เหตุการณ์นี้เราเรียกกันว่า
“Bank Run” (หรือ Bank Panic)
1
ซึ่งงานศึกษานี้ทั้งคุณ Diamond และ Dybvig รวมกันทำหลังจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยลไม่นาน โดยในขณะที่งานตีพิมพ์ คุณ Diamond มีอายุแค่ 30 ปี และคุณ Dybvig มีอายุ 28 ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาของคุณ Diamond ที่กล่าวถึงบทบาทขงอธนาคารเพิ่มเติมอีกด้วยในเรื่อง “การตรวจสอบผู้กู้เงิน”
เรื่องนี้เป็นอีกส่วนสำคัญที่ธนาคารเข้ามาช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต
เพราะในระบบเศรษฐกิจ มีคนผู้มีเงินเหลือต้องการออม และมีคนผู้ขาดเงินต้องการลงทุน
แต่ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่รู้จักกัน จะมาเจอกันก็ยาก จะปล่อยกู้ให้กันก็ไม่ไว้ใจอีกฝ่าย
ธนาคารจึงมาทำหน้าที่ส่วนนี้ให้ คือ จัดการตรวจสอบผู้กู้เงินให้ และก็ยังสามารถกระจายความเสี่ยงการปล่อยกู้ไปหาผู้กู้หลายๆ คน
ภาคธนาคารจึงมีความจำเป็นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เวลาที่ภาคธนาคารมีปัญหาขึ้นมาในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจก็จะยิ่งแย่ไปใหญ่
1
เรื่องนี้มีงานศึกษาของคุณ Ben Bernanke อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่สมัยยังอยู่ในวงการวิชาการในปี 1983 เช่นกัน
โดยศึกษาผ่านวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ในช่วง The Great Depression ประมาณค.ศ. 1930
โดยในช่วงนั้น เศรษฐกิจของหลายประเทศย่ำแย่มาก เช่น
●
อเมริกา อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นไปสูงถึง 25%
●
ในอังกฤษเองก็มีอัตราการว่างงาน 25% เช่นกัน
●
เยอรมนีอัตราว่างงานสูงถึง 33% และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็แย่ไปตามกัน
ในช่วงก่อนหน้างานของ Bernanke นักเศรษฐศาสตร์สมัยนั้นสรุปว่า
ปัญหาเกิดมาจาก วิกฤติการเงิน วิธีการแก้ คือ การพิมพ์เงินเข้าไปเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งทางคุณ Bernanke เอง ก็เห็นด้วยว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติ แต่มีอีกส่วนสำคัญซึ่งทำให้ปัญหารุนแรงและยืดเยื้อ คือ ปัญหาในภาคธนาคาร
โดยในช่วงปีนั้น เป็นช่วงที่ถูกบันทึกว่ามีธนาคารในสหรัฐฯ ล้มละลายมากที่สุด
ในช่วงพีค มีธนาคารล้มละลายกว่า 2000 แห่งในปีเดียว
เมื่อธนาคารล้มละลายลงไป ความสามารถในการตรวจสอบผู้กู้เงินซึ่งถูกสั่งสมมาหลายปีก็หายไปด้วย จึงทำให้การฟื้นตัวในช่วงต่อมาทำได้ช้า เพราะเงินลงทุนไปไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจเหมือนก่อนแล้ว
ทำให้ Bernanke ให้ความเห็นว่า ต้องสร้างเครื่องมือซึ่งสามารถการันตีให้คนเชื่อมั่นในภาคธนาคารได้ จะได้ไม่แห่ไปถอนเงินตามๆ กัน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็ผ่านออกมาในโลกแห่งความเป็นจริง
📌 ความรู้จากหน้ากระดาษสู่การปฏิบัติจริงในเชิงนโยบาย
เครื่องมือแรกซึ่งสำคัญ และมีการนำไปปฏิบัติใช้ในหลายประเทศ คือ
“การตั้งกองทุนประกันเงินฝาก”
เพื่อที่จะให้คนฝากเงินมั่นใจว่า ตนเองจะได้รับเงินฝากคืนเสมอไม่ว่าจะเกิดขึ้นอะไรขึ้น
ทำให้คนที่แห่จะไปถอนเงินจากธนาคารในช่วงวิกฤติมีจำนวนน้อยลง
ซึ่งถ้าธนาคารแห่งนั้นๆ ไม่ได้มีปัญหาที่รุนแรงจริงๆ ก็คงจะไม่ล้มละลาย
แต่ในอดีตที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่า มีกรณีประเทศซึ่งนำเครื่องมือนี้มาใช้ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภาคธนาคารได้สมบูรณ์ เพราะ ปัญหามันรุนแรงอย่างแท้จริง
ทำให้ต้องมีการอัดฉัดสภาพคล่องเข้าไปสู่ภาคธนาคาร ซึ่งครั้งอันเป็นที่รู้จักมากสุด ก็คงจะเป็นเมื่อทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศใช้นโยบาย QE ในการประชุม Jackson Hole ในช่วงวิกฤติปี 2008
ความพิเศษของมัน คือ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนั้นมิใช่ใครอื่น
แต่เป็นคุณ Ben Bernanke หนึ่งในเจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปีนี้นี่เอง
ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจใช้นโยบายการเงินแบบนอกกรอบ (unconventional monetary policy) แบบเซอร์ไพร์สตลาด
โดยหลายคนก็วิพากษ์ว่า การตัดสินใจอัดสภาพคล่องเข้าไปในระบบธนาคารมากขนาดนั้น เป็นความผิดพลาดซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
แต่ในทัศนะของ Bernanke ท่านย้ำมาตลอดว่า ถ้าตอนนั้นไม่ตัดสินใจเข้าไปดำเนินนโยบายเช่นนั้น ระบบเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำลงไปกว่านั้นอีก
นอกจากนี้ หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2008
ธนาคารกลางทั่วโลกมีการออกนโยบายเพื่อควบคุมภาคธนาคารในส่วนย่อยลงไปมากขึ้น
เพื่อให้พวกเขามีความโปร่งใส มีการเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ และต้องมีสภาพคล่องเพียงพอสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
ท้ายที่สุด ขอปิดท้ายกันด้วยคำพูดของ Ben Bernanke เองซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า
ถ้าอยากเข้าใจภูมิศาสตร์ จงไปศึกษา หายนะจากแผ่นดินไหว
ฉันใดก็ฉันนั้น หากอยากเข้าใจเศรษฐกิจ
ก็ต้องศึกษา หายนะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ
(If you want to understand geology, study earthquakes.
If you want to understand economy, study the Depression.)
Ben Bernanke
1
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
●
https://www.nobelprize.org/uploads/2022/10/popular-economicsciencesprize2022.pdf
●
https://www.nobelprize.org/uploads/2022/10/advanced-economicsciencesprize2022.pdf
●
https://theconversation.com/nobel-economics-prize-insights-into-financial-contagion-changed-how-central-banks-react-during-a-crisis-192208
เครดิตภาพ :
1.
Wikipedia
2.
Nobel Prize
3.
The University of Chicago—AFP/Getty Images via Britannica
4.
Washington University in St. Louis, via Associated Press via New York Times
โนเบล
เศรษฐศาสตร์
เศรษฐกิจโลก
38 บันทึก
22
23
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Bnomics มีเรื่อง "เศรษฐกิจ" มาเล่าให้ชาว Blockdit ได้ฟังกัน Blockdit Originals by Bnomics
38
22
23
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย