23 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • การศึกษา
“Paul M. Romer” เจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือ ลงทุนใน “ความรู้”
ความรู้เป็นสิ่งสำคัญและมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้ หากมองประเทศที่มีรากฐานอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ย่อมมีการสั่งสมความรู้มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีต
ดังนั้น ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ Paul M. Romer เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2018 เน้นย้ำและให้ความสำคัญว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเจริญเติบโตในระยะยาวได้ต้องลงทุนกับการสร้าง “ความรู้”
Bnomics ในวันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ไปด้วยกัน
🌟 ประวัติโดยย่อของ “Paul M. Romer”
Paul M. Romer เกิดในครอบครัวที่มีฐานะและได้รับการศึกษาที่ดี เขาจบปริญญาตรี (ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์) และปริญญาเอก (เศรษฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และเคยศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)
หลังจากเรียนจบ Romer ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และในปี 2016 เขาได้รับตำแหน่งสำคัญคือ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ธนาคารโลก (World Bank)
หากมองจากประวัติของ Romer ก็อาจเป็นความฝันของใครหลายคน เขาศึกษาในสถาบันชั้นนำของโลก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแบบยิ่งใหญ่
หากแต่ความสำเร็จก็ไม่ได้ได้มาโดยความโชคดี เขาคือ ผู้อุทิศตนและผลักดันเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญจากปัจจัยภายในซึ่งก็คือ การสร้างความรู้ การวิจัยและพัฒนาที่จะมีส่วนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้
🌟 ข้อโต้แย้งของ Romer: เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้เพราะการสร้างความรู้
ผลงานของ Romer ที่ทรงอิทธิพลในแวดวงเศรษฐศาสตร์ คือ การวางรากฐานทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายใน (Endogenous Growth Theory) มาตั้งแต่ปี 1990
Romer ได้โต้แย้งถึงทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตที่มุ่งเน้นการลงทุนทางกายภาพ เช่น การสร้างโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงสาธารณูปโภคต่าง ๆ หากประเทศใดมีการลงทุนในเรื่องเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ประเทศสามารถสร้างผลผลิตได้จำนวนมาก
ข้อโต้แย้งของเขา คือ การลงทุนเชิงกายภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องลงทุนกับ “การสร้างความรู้” ถึงจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราอาจลองตอบคำถามนี้กันดูผ่านเลนส์สองทฤษฎีว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตในระยะยาว เราต้องทำอย่างไร?
หากเป็นทฤษฎีในอดีต เราคงต้องลงทุนทางกายภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การผลิตโรงงานหรือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดผลผลิตได้จำนวนมาก หากแต่เมื่อเราลงทุนทางกายภาพไปเรื่อย ๆ ย่อมมีขีดจำกัดทางทรัพยากร
เพราะเราคงไม่สามารถสร้างโรงงานหรือผลิตเครื่องจักรเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่
แต่ทฤษฎีของ Romer จะตอบว่าการลงทุนกับความรู้ต่างหาก คือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะความรู้ไม่มีขีดจำกัด ไม่ต้องแย่งกันใช้ ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว
🌟 แค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ความรู้ที่เราเป็นเจ้าของคือ สิ่งที่จะสร้างความมั่งคั่งได้
Romer เน้นย้ำว่าการสร้างความรู้ที่จะสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ ต้องเป็นความรู้ที่เราเป็นเจ้าของเองไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ เช่น หากเราจะทำน้ำพริกกะปิ เราต้องมีสูตรลับเฉพาะของทางร้าน ซึ่งมีเพียงร้านเดียวที่ขายน้ำพริกกะปิแบบนี้
หากมามองในระดับชาติ ประเทศไหนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่ประเทศนั้นเป็นเจ้าของ
โดยการจะส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้นั้น Romer ชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญ เพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้ในประเทศ ผ่านการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
1
งานของ Romer ถือเป็นคุณูปการสำคัญในแวดวงทางเศรษฐศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นสำคัญ
เพราะความรู้ของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่เสมอ ทำให้ผลผลิตทางความรู้เพิ่มพูนขึ้น รวมถึงการทดลองทำจริง ประยุกต์ใช้จริง (learning by doing) จะทำให้เกิดทักษะการผลิตใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตและมั่งคั่งได้ในระยะยาว
ดังคำพูดของเขาที่กล่าวไว้ว่า
มนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ คือ ทรัพยากรการผลิตสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ และผมคิดว่ามันยังมีโอกาสอีกมากมายที่เราจะลงทุนกับคนให้มากกว่านี้
(My number-one recommendation is to invest in people.
Humans that are well trained are the inputs into this discovery process. And there's big opportunities still,
I think, to do a better job of investing in people.)
Paul M. Romer
1
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : NYU Stern School of Business/EPA-EFE/Shutterstock.com via Britannica
โฆษณา