27 ต.ค. 2022 เวลา 10:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
มหา’ลัย เหมืองแร่ (2005) : มหา’ลัยชีวิตที่สอนให้รู้จักกับ ‘มิตรภาพ’ และ ‘รสชาติของชีวิต’
ปี เดือน อันหยาบกร้าน จะสอนให้คุณเรียนรู้ชีวิต เพื่อใช้ชีวิต
เคยตั้งใจว่าอยากจะเขียนถึงเรื่องนี้มาหลายรอบแล้ว มาถึงตอนนี้ก็มีโอกาสได้เล่าสักที ใครสนใจลองอ่านดูได้นะครับ ยาวหน่อย...
[ เกริ่นนำ ]
มหา’ลัย เหมืองแร่ หรือ The Tin Mine (2005) ภาพยนตร์ยุคแรกของ GTH ภายใต้การกำกับของ คุณจิระ มะลิกุล ที่หยิบวรรณกรรมคลาสสิคของ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มารังสรรค์เป็นภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม
มหา’ลัย เหมืองแร่ ดัดแปลงมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของ คุณ อาจินต์ ปัญจพรรค์... ในปี พ.ศ. 2492 อาจินต์ วัย 22 ปี นิสิตชั้นปีที่สองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย เขาได้เดินทางลงใต้ มุ่งหน้าไปทำงานที่เหมืองกระโสม ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในยุครุ่งเรืองของเหมืองดีบุกในประเทศไทย
ณ ที่แห่งนี้ ไม่มีความสะดวกสบาย ทว่าสิ่งที่ได้รับกลับเป็นบทเรียนที่ไม่สามารถหาได้จากมหาวิทยาลัย หลายสิ่งเป็นวิถีนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่ก็ล้ำค่าจนเขาสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต...
[ ความรู้สึกหลังชม ]
กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว ยากช่างหัว ตายปลด
"มหา’ลัย เหมืองแร่" เป็นหนังที่อบอุ่น นุ่มลึก เชื่อว่าใครหลายคนดูแล้ว ก็ต้องหลงรัก หากให้เลือก Genre ให้กับหนังมหา’ลัย เหมืองแร่ ก็คงถูกจัดอยู่ในแนว ‘Drama - Coming of Age’ ที่เล่าถึงการก้าวผ่านพ้นวัยของอาจินต์ สภาพก่อนและหลังจากที่อาจินต์มาอยู่เหมืองกระโสม เขาได้ก้าวข้ามบางอย่าง ทั้งปมในชีวิต และความสับสนของช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ พร้อมกับการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
ที่เหมืองกระโสม อาจินต์ได้สัมผัสกับประสบการณ์ชีวิต ได้รู้จักกับความรับผิดชอบ ความอดทน ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ความอบอุ่น และความจริงใจ
ที่สำคัญเขาได้เรียนรู้ถึง ‘มิตรภาพระหว่างเพื่อน’, ‘บทพิสูจน์จิตวิญญาณของลูกผู้ชาย’, 'รสชาติชีวิตอันเข้มข้น' และ 'สัจธรรมชีวิต' ซึ่งหาไม่ได้จากมหาวิทยาลัย
เราจะได้สัมผัสบรรยากาศอันสมจริงของการทำงานในเหมืองแร่ - เรือขุดแร่ ว่าสภาพการทำงานเป็นอย่างไร... ในปี 2492 สภาพถนนยังไม่ดี อากาศทางใต้ฝนตกชุก ทำให้ทุกที่ต่างเต็มไปด้วยโคลนเหนอะหนะ หลายๆ คนอาจจะจินตนาการสภาพการทำงานไม่ออกเลยว่ามันยากลำบากขนาดไหน เราก็จะได้พบเห็นจากหนังเรื่องนี้นี่แหละ
รูปภาพจากพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ภูเก็ต
ในแง่ภาพยนตร์ ถือว่าหนังทำออกมาได้ดี ด้วย Character แบบภาพยนตร์ GTH ยุคเก่า ไม่หวือหวา โทนไปทางดราม่า ส่วนตัวคิดว่า ภาพรวมหนังอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับที่เรียกว่าสมบูรณ์อย่างหนังต่างประเทศในเวทีดังๆ เช่น บางส่วนของเรื่องยังเชื่อมโยงไม่เนียน หรือนักแสดงยังแสดงไม่เป็นธรรมชาติมาก (แต่ให้ความรู้สึกสมจริงกับบรรยากาศดีนะ)
ที่หนังทำได้น่าประทับใจที่สุดคือ การสร้าง Impact ให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมได้อย่างแนบแน่น และถ่ายทอดแก่นเรื่องออกมาอย่างชัดเจน สละสลวย จริงใจ... นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ ‘มหา’ลัย เหมืองแร่’ ยังอยู่ในใจของทุกคนเสมอมา
[ ‘Short Trip Home’ - หนึ่งใน Main theme ที่ดีที่สุดในภาพยนตร์ไทย ]
- “Short Trip Home” Theme Song จาก "มหา'ลัย เหมืองแร่" เป็นหนึ่งใน Theme song ที่ผมประทับใจมากที่สุดในภาพยนตร์ไทยเลยแหละ ทรงพลังมาก (ดีทั้งหนัง ดีทั้งเพลง)
- Theme song ของ มหา'ลัย เหมืองแร่ นำทำนองมาจากเพลง Short Trip Home ของ Edgar Mayer โดย Re-arrange และบรรเลงใหม่ให้เข้ากับภาพยนตร์ ซึ่งต้องขอชื่นชมผู้ทำ Soundtrack ที่เลือก Main theme ได้ดีมาก (แม้จะไม่ได้ประพันธ์ขึ้นมาใหม่เองก็ตาม)
- ทำนองเพลงอ่อนโยนสื่อถึงมิตรภาพและความอบอุ่นที่อาจินต์ได้พบเจอ ช่วงกลางเพลง ออร์เครสตร้าโหมดนตรีอย่างยิ่งใหญ่ กึกก้อง เพื่อแสดงถึงเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของอาจินต์ สิ่งที่อาจินต์ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ชีวิตที่สอนอาจินต์ รวมถึงความทรงจำที่หาไม่ได้จากที่ไหนหากไม่ได้มาที่เหมืองแห่งนี้
แล้วสุดท้ายก็ดนตรีก็ค่อยๆ จบลงอย่างสงบ เหมือนกับวันสุดท้ายที่อาจินต์ต้องออกจากเหมือง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่...
น่าเสียดายว่า ในปี 2548 ที่ภาพยนตร์ออกฉาย ปรากฏว่าภาพยนตร์ขาดทุนอย่างหนัก จากงบประมาณกว่า 70 ล้านบาท ทำรายได้ไปเพียง 30 ล้านบาท แต่ในแง่คำวิจารณ์ ได้รับคำวิจารณ์ยอดเยี่ยม คว้ารางวัลใหญ่ภายในประเทศไปได้หลายสถาบัน แถมยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยไปเข้าแข่งขันในเวทีออสการ์
ส่วนในระดับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ มหาลัย' เหมืองแร่ ก็ได้รับคัดเลือกให้ไปฉายในหลายเทศกาลเช่น Pusan International Film Festival (2005), Hong kong - Asia Film Financing Forum (HAF) (2005), Palm Springs International Film Festival (2006) - California, USA
ในปี พ.ศ. 2556 มหา'ลัย เหมืองแร่ ได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ใน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ
หลังจากผ่านยุคนี้ไปแล้ว ก็ไม่เคยเจอหนังจาก GTH ที่ทำออกมาในแนวนี้อีกเลย... หลักๆ คิดว่าก็คงมาจากรสนิยมของผู้ชมในประเทศที่ไม่ได้ตอบรับภาพยนตร์แนวนี้มากนัก
หนังที่ดูไม่ง่าย แต่นุ่มลึก ให้ความหวังและกำลังใจแก่ทุกคน
เกียรติของคนต้องขุดเอง...
มหา'ลัย เหมืองแร่
ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากคุยหรือติดต่อกับผมนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา