17 ต.ค. 2022 เวลา 12:17 • สุขภาพ
มะอึก : แก้เสมหะ แก้ไอ
มะอึกมีชื่อเรียกต่างกันตามภาค คือ มะอึก (กลาง) มะเขือปู่ มะปู่ (เหนือ) บักเอิก (อีสาน) และอึก (ใต้) ลักษณะสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของมะอึกก็คือ ทั้งลำต้น กิ่งก้าน ใบ และผลตั้งแต่อ่อนจนสุก จะปกคลุมด้วยขนอ่อนสีขาว ขนค่อนข้างยาวและหนากว่าญาติมะเขือทุกชนิดที่คนไทยนำมาบริโภค ส่วนของมะอึกที่นำมาใช้ประกอบอาหารคือ ผลทั้งดิบและสุก นิยมนำไปเป็นเครื่องชูรส เพราะมีรสเปรี้ยว ในอดีตคนไทยนิยมนำมะอึกมาปรุงเครื่องจิ้มต่างๆ โดยเฉพาะน้ำพริกมะอึกจะมีรสเปรี้ยวแทนที่มะนาวหรือมะขาม
สรรพคุณทางยาสมุนไพร
ผล : รสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว แก้ไข้สันนิบาต
ราก : รสเปรี้ยว เย็นน้อย แก้ดีฝ่อ ดีกระตุก (นอนสะดุ้งผวา หลับๆ ตื่นๆ เพราะโทษน้ำดีทำ) แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว กัดฟอกเสมหะ กระทุ้งพิษ ดับพิษร้อนภายใน
ในมาเลเซียใช้เมล็ดมะอึกรักษา อาการปวดฟัน โดยมวนเมล็ดมะอึกแห้งในใบตองแห้งแล้วจุดสูดควันเข้าไป
(เครดิตภาพ : ปลายแป้นพิมพ์, OOD, คนบ้านป่า)
** สมุนไพรใกล้ตัว มุ่งเสนอสรรพคุณทางยา การนำไปใช้ควรพิจารณาอย่างรอบด้าน **
โฆษณา