22 ต.ค. 2022 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมไทยขาดดุลการค้าหนักในรอบ 10 ปี
ดุลการค้า คือการเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าที่ประเทศหนึ่งส่งออกขายให้ประเทศอื่น ๆ กับมูลค่าของสินค้าที่ประเทศนั้นสั่งซื้อเข้ามาจำหน่าย
ว่ามูลค่าส่วนไหนต่างกันมากน้อยเท่าไรในระยะ 1 ปี เพื่อเปรียบเทียบว่าตนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ (net export = export – import)
ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะทำให้ทราบได้ว่า ได้เปรียบหรือเสียเปรียบดุลการค้า โดยในการเปรียบเทียบนี้ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. ดุลการค้าได้เปรียบ หรือเกินดุล คือ สินค้าที่ส่งไปขายยังต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่าสั่งสินค้าเข้ามาอุปโภคบริโภค
2. ดุลการค้าเสียเปรียบ หรือขาดดุล ได้แก่ สินค้าที่ส่งไปขายยังต่างประเทศ มีมูลค่าน้อยกว่าที่สั่งสินค้าเข้ามาอุปโภคบริโภค
3. ดุลการค้าสมดุล หรือ ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน (มีผลลบเป็นศูนย์) คือมีมูลค่าสินค้าเข้า เท่ากับมูลค่าสินค้าส่งออก
กลับมาที่หัวข้อบทความที่ว่า ทำไมไทยจึงขาดดุลการค้าหนักในรอบเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา
เข้าใจว่าเราก็พอจะทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกจำนวนมหาศาลพอสมควร โดยในปี 2564 ไทยก็มียอดเกินดุลการค้าอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2565 ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกถึง 5.8 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี (นับตั้งแต่ปี 2556)
ข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์
ทำไมไทยจึงขาดดุลการค้าได้ถึงขนาดนั้น แบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ
สาเหตุที่ 1 >> ไทยมีการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงมากกว่าการส่งออก
1
ไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการนำเข้าสูง โดยเฉพาะน้ำมันและเชื้อเพลิง โดยไทยมีการนำเข้าสินค้าน้ำมันและเชื้อเพลิงมากที่สุดคิดเป็น 15% ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งประเทศ
รองลงมาเป็น เคมีภัณฑ์ และสินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าทั้ง 3 หมวดนี้ ไทยมีการนำเข้ารวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากถึงเกือบครึ่งของมูลค่านำเข้ารวมทั้งหมด
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าส่งออกน้ำมันและเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3.2 แสนล้านบาทเท่านั้น
1
เท่ากับว่าไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงสุทธิ (Net Importer) ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าเฉลี่ยสูงถึงปีละ 9 แสนล้านบาท
สาเหตุที่ 2 >> เงินบาทอ่อนค่ามาก ทำให้มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น
1
อย่างที่เราทราบกันถึงสถานการณ์ของเงินบาทที่มีทิศทางการอ่อนค่าชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก
และล่าสุดในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปีที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 20 ปี ตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed
1
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจภาคส่งออกมิใช่หรือ เพราะสามารถแลกรายได้ที่ได้รับกลับเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
แต่ความเป็นจริงแม้ในภาพรวม เงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก แต่ในอีกฝั่งหนึ่ง ด้วยสาเหตุที่ไทยมีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ สูงมาก
หากสมมติให้ปริมาณการเข้าเท่าเดิม การที่เงินบาทอ่อนค่า ผู้นำเข้าต้องประสบกับราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ทำให้มูลค่าหรือต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นตามไปด้วย
1
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบชะตากรรมเดียวกันกับไทย เช่น ญี่ปุ่นที่ขาดดุลการค้ามากที่สุดในรอบ 8 ปี เกาหลีใต้ที่ขาดดุลการค้าต่อเนื่องมานานถึง 6 เดือน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านฝั่งยุโรปที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับการขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเงินยูโรที่อ่อนค่ามากและมีการนำเข้าพลังงานที่สูงนั่นเอง
เกร็ดเสริม :
โดยทั่วไปการใช้ดุลการค้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้ทราบฐานะที่แท้จริงของประเทศได้
ตัวอย่างเช่น ดุลการค้าที่เสียเปรียบ อาจไม่เป็นผลเสียใด ๆ ต่อประเทศก็ได้ เนื่องจากบันทึกเกี่ยวกับดุลการค้านั้นจะไม่รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางชนิด ที่ไม่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศก็ได้
เนื่องมาจากสินค้าชนิดนั้นจะมาจากการบริจาคช่วยเหลือ ถ้านำเอารายการนี้มาหักออกอาจทำให้ดุลการค้าลดลงหรือการคิดราคาสินค้าเข้าและสินค้าออกต่างกัน
โดยที่สินค้านำเข้ารวมมูลค่าขนส่งและการประกันภัย แต่สินค้าส่งออกไม่ได้รวมไว้ หรือการสั่งสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องจักรกลเข้ามาทำการผลิตสินค้า ดูเหมือนว่าจะทำให้เสียเปรียบดุลการค้าก็จริง แต่ในระยะยาวแล้วเมื่อมีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยสินค้านั้นอาจทำให้ได้เปรียบดุลการค้าในระยะยาวก็เป็นได้
1
Cr.Money buffalo
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา