22 ต.ค. 2022 เวลา 23:30 • หนังสือ
ภาษี (เงินได้บุคคลธรรมดา) ต้องรู้
ตอนที่ 6 วิธีคำนวณภาษีแบบเงินได้สุทธิ (Part 1 หาเงินได้สุทธิ)
เป็นวิธีคิดภาษีที่ทุกคนควรจะศึกษาและทำความเข้าใจไว้เลยนะครับ เพราะมีประโยชน์มาก ๆ เมื่อเราเข้าใจวิธีคิดแล้ว เราก็จะเห็นช่องทางต่าง ๆ มากมายที่เราสามารถนำมารักษาผลประโยชน์ของเราได้ครับ
โดยวิธีนี้จะนำ "เงินได้สุทธิ" x "อัตราภาษี"
เพื่อคิดออกมาเป็น "ภาษีที่เราต้องจ่าย" ครับ
ซึ่งสูตรในการหา "เงินได้สุทธิ" คือ
เงินได้สุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
ซึ่งในตอนก่อนหน้าเราได้ทำความรู้จักกับเงินได้ทั้ง 8 ประเภทไปแล้ว และรู้ด้วยว่าแต่ละประเภทนั้นสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เท่าไรบ้าง
เช่น นาย A มีเงินเดือน (ประเภทที่ 1) 30,000 บาท และรายได้จากงานฟรีแลนซ์ (ประเภทที่ 2) เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท
Step 1 รวมรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ
รวม1ปี A มีรายได้ทั้งหมด
(30,000 x 12) + (5,000 x 12) = 420,000 บาท
Step 2 หักค่าใช้จ่าย
(ซึ่งเงินได้ประเภทที่ 1-2 สามารถหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
ดังนั้น A จึงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 100,000 บาท เนื่องจาก 50% ของ 420,000 นั้นเกิน 100,000 บาทครับ จึงได้ว่า
420,000 - 100,000 = 320,000 บาท
Step 3 หักค่าลดหย่อน
ซึ่งค่าลดหย่อนตัวนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราประหยัดภาษีมากขึ้น โดยจะขอลงลึกรายละเอียดต่าง ๆ ในตอนถัด ๆ ไปนะครับ
ผมจะขอหยิบยกมาแค่ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ตามรายการลดหย่อนภาษีปี 2565 เพื่อนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนในกรณีของ A นะครับ
A จึงมีค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท จะได้ว่า
320,000 - 60,000 = 260,000 บาท
ดังนั้น เงินได้สุทธิของ A คือ 260,000 บาทครับ
ขอสรุปวิธีการหาเงินได้สุทธิของ A แบบสั้นๆ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นนะครับ จากสูตร
เงินได้สุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
A มีรายได้จากเงินเดือน + ฟรีแลนซ์ = 420,000
สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ = 100,000
มีค่าลดหย่อน = 60,000
ดังนั้น เงินได้สุทธิของ A คือ
420,000-100,000-60,000 = 260,000 บาท
ซึ่งเงินได้สุทธิตรงนี้ต้องนำไปคูณอัตราภาษีต่อไป จึงจะกลายเป็นจำนวนเงินภาษีที่เราต้องจ่าย เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงใน part ถัดไปกันนะครับ ขอบคุณครับ 🙏🏻😊
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา