24 ต.ค. 2022 เวลา 05:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 76] Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาฮินดีพื้นฐาน 2” ของศูนย์บริการวิชาการ และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
**หมายเหตุ**
บทความนี้เป็น Customer Review (CR) ที่เจ้าของบล็อกไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางศูนย์บริการวิชาการ และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่เป็น Review ในฐานะที่เจ้าของบล็อกสมัครลงทะเบียนเรียนเอง
เนื่องจากช่วงกลางปีนี้ ผมได้ไปสมัครลงคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาฮินดีพื้นฐาน 2 (สำหรับผู้มีพื้นฐานมาบ้างแล้ว) จากมหาวิทยาลัยในไทย เลยเขียน Review หลังจบคอร์สสักหน่อยครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านได้เลยครับ
**เนื้อหา Review คอร์สภาษาฮินดีก่อนหน้านี้ (ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1) :
ทางสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก และศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดคอร์สเรียนภาษาฮินดีพื้นฐาน (แบบเรียนออนไลน์) ในโครงการอบรมภาษาต่างประเทศสำหรับบุคคลทั่วไป เมื่อเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ค.ศ.2022 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของบล็อกก็มีโอกาสสมัครลงเรียน
สำหรับเนื้อหาตอนนี้จึงจะกล่าวถึง “คอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 2” ที่ทางสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้เปิดคอร์สในตอนนั้นเพียงระดับเดียวครับ
ประกาศรับสมัครโครงการอบรมภาษาต่างประเทศสำหรับบุคคลทั่วไป รอบกลางปี 2565 (ออนไลน์) ในเพจของสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
1) จำนวนคนเรียนในคอร์ส :
จำนวนคนเรียนประมาณ 11 คน
2) อาจารย์ผู้สอนและภาษาที่ใช้ในการสอน :
อาจารย์ผู้สอนในคอร์สนี้เป็นอาจารย์คนไทย และใช้ภาษาไทยในการสอน
3) โปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ :
ใช้โปรแกรม Zoom และอาจารย์ผู้สอนจะอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลังใน Google Classroom (วีดีโอจะถูกลบหลังคอร์สจบ)
4) เอกสารหรือหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน :
คอร์สนี้มีหนังสือแบบเรียนที่ใช้โดยเฉพาะ โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะส่งเอกสารประกอบการเรียนให้ผู้เรียนทางไปรษณีย์ ส่วนเอกสารประกอบการเรียนเพิ่มเติมจะส่งให้ผู้เรียนทาง Google Classroom และกลุ่มไลน์ ขณะที่เนื้อหาส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะเรื่องไวยากรณ์) จะเน้นให้ผู้เรียนจดในคาบเรียนเอง
เอกสารประกอบการเรียนที่ใช้ในคอร์สเรียนออนไลน์ "ภาษาฮินดีพื้นฐาน 2" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
5) ขอบเขตของเนื้อหาของคอร์ส :
เนื้อหาในคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 2 ของสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะมีเนื้อหาเน้นไปที่ไวยากรณ์พื้นฐานของภาษาฮินดี เพื่อให้สามารถแต่ง-แปลประโยคพื้นฐานในภาษาฮินดีได้
เนื้อหาของคอร์สจึงยังไม่ครอบคลุมระดับ A1 ตามมาตรฐานระดับทักษะภาษาต่างประเทศแบบ CEFR ของทางยุโรป เพราะยังไม่ได้เน้นเรื่องภาษาฮินดีสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน (เช่น การซื้อของ การถามทาง)
6) เนื้อหาที่เรียนในคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 2 :
**ไม่ได้เรียงตามลำดับเนื้อหาแต่ละคาบก่อนหลัง แต่ “หนุ่มมาเก๊า” จัดกลุ่มตามลักษณะของเนื้อหา
6.1 แนะนำและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคอร์ส
6.2 ทบทวนไวยากรณ์ภาษาฮินดีจากบทที่เคยเรียนในคอร์ส "ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1" แบบเร่งรัด
ช่วงเนื้อหาตอนทบทวนไวยากรณ์ภาษาฮินดี ส่วนที่เคยผ่านมาในคอร์ส "ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1"
6.3 ไวยากรณ์ : การสร้างประโยคแบบต่าง ๆ ในภาษาฮินดี
- คำกริยา होना (honā ; Verb to be ของภาษาฮินดี) ในรูปอดีตที่ผันตามเพศและพจน์ประธานของประโยค
- คำปรสรรค (Postposition) ในภาษาฮินดี
- การผันคำนาม (ตามเพศและพจน์ของคำนามนั้น) เมื่อประกอบกับคำปรสรรค
- การใช้คำปรสรรคเบื้องต้น และกลุ่มคำปรสรรค (Compound postposition)
- กริยารูปกระทำเป็นประจำในปัจจุบัน (Imperfective Present Tense)
- กริยารูปกระทำเป็นประจำในอดีต (Imperfective Past Tense)
- กริยารูปกำลังกระทำอยู่ (Continuous Tense) ที่แบ่งเป็น Present Continuous Tense กับ Past Continuous Tense
- กริยารูปอนาคตกาล (Future Tense) และการอนุมานเหตุการณ์
- กริยารูปอดีตกาลสมบูรณ์ (Perfective Tense)
- รูปประโยคบอกความสามารถว่าทำกริยานั้นได้
- รูปประโยคที่เน้นว่ากริยานั้นทำเสร็จแล้ว
- รูปประโยคบอกความต้องการ และประโยคบอกว่าควรทำกริยานั้น
- รูปประโยคบอกความชอบ
6.4 คำศัพท์ต่าง ๆ
- ตัวอย่าง Adverb of time (คำบอกความถี่/เวลา)
- ตัวอย่างคำบอกความถี่/เวลา สำหรับ Imperfect Past Tense
- ตัวอย่างคำบอกความถี่/เวลา สำหรับ Present Continuous Tense และ Past Continuous Tense
- ตัวอย่างคำบอกเวลา (สำหรับ Future Tense) และคำบอกลักษณะการกระทำ
- การบอกเวลาในภาษาฮินดี
- ตัวอย่างคำและประโยคแบบอื่น ๆ เช่น การเปรียบเทียบคุณลักษณะของสองสิ่ง, Suffix -वाला (ที่ ซึ่ง อัน)
โน้ตจากเรื่อง Adverb of time สำหรับ Imperfect Past Tense ระหว่างที่ "หนุ่มมาเก๊า" เรียน
6.5 การอ่านและการแปล
- การฝึกอ่านอักษรเทวนาครีจากเนื้อร้องของเพลงในภาษาฮินดี
- การฝึกแปลเรียงความที่มีคำปรสรรค จากภาษาฮินดีเป็นภาษาไทย
- การฝึกแปลประโยคจากภาษาไทยเป็นภาษาฮินดีใน Imperfective Present Tense
- การฝึกอ่านและแปลเรียงความยาวในภาษาฮินดี เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน
- การฝึกอ่านและแปลพาดหัวข่าวในภาษาฮินดี
- การฝึกอ่าน-แปลพาดหัวข่าว และแปลประโยคในเรียงความภาษาฮินดี ที่ใช้ Perfective Tense
ช่วงการฝึกอ่านอักษรเทวนาครี จากเนื้อร้องของเพลงในภาษาฮินดี
ช่วงการฝึกอ่านและแปลพาดหัวข่าวในภาษาฮินดี
6.6 เกร็ดวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี และการท่องเที่ยวในอินเดีย
เช่น Ghat (ท่าน้ำ) ในเมืองพาราณสีที่เป็นบันไดทางเดินลงแม่น้ำคงคา, นาฏศิลป์ในอินเดีย, โยคะ, รัฐทั้ง 7 แห่งแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
7) สิ่งที่เจ้าของบล็อกชอบในคอร์สภาษาฮินดีคอร์สนี้ :
- มีเอกสาร “ประมวลรายวิชา” (Course syllabus) เพื่อให้ผู้เรียนรับทราบในช่วงต้นของคอร์สว่าจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง จบแต่ละคาบหรือจบคอร์สแล้วควรผ่านเนื้อหาภาษาฮินดีตรงไหนบ้าง
- อาจารย์ผู้สอนมีเวลาให้ผู้เรียนฝึกอ่าน-แปลเนื้อหาในภาษาฮินดี
- อาจารย์ผู้สอนแทรกเนื้อหาเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี การท่องเที่ยวในอินเดียระหว่างที่สอนภาษาอยู่ตลอด
- ช่วงเวลาที่เรียนต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 3 ชั่วโมงถือว่าค่อนข้างเหมาะสม
อาจารย์ผู้สอนจะเปิดวีดีโอเกี่ยวกับภาษาฮินดี รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี การท่องเที่ยวในอินเดียในระหว่างคาบเรียน
8) การสอบเพื่อวัดผลการเรียนในคอร์สและใบประกาศนียบัตร :
มีการสอบวัดผล (ข้อสอบแบบ Take home) และทางศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะส่งประกาศนียบัตรแบบอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้เรียนทางอีเมล์ (หากผู้เรียนมีคะแนนสอบไม่ต่ำกว่า 60%) เพื่อเป็นหลักฐานว่าเรียนผ่านคอร์สนี้
9) จำนวนชั่วโมงและค่าเรียน :
30 ชั่วโมง 3,000 บาท (รวมค่าเอกสารประกอบการเรียน และค่าส่งเอกสารเล่มนี้ทางไปรษณีย์) นอกจากนี้ ทางศูนย์บริการวิชาการจะเปิดคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 1 สลับกับคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 2 (เช่น รอบต้นปี จะมีเฉพาะภาษาฮินดี 1 รอบกลางปี จะมีเฉพาะภาษาฮินดี 2)
หวังว่า Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาฮินดีพื้นฐาน 2” ของศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจมองหาคอร์สเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ครับ
สำหรับเพจ Facebook ของศูนย์บริการวิชาการ และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมีประกาศและรายละเอียดคอร์สภาษาอื่น ๆ สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/ASCCHULA และ https://www.facebook.com/southasianlanguageschula
โฆษณา