4 พ.ย. 2022 เวลา 03:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เรายังอยู่ในซีรีย์ "ก่อนวางแผนภาษี(บุคคลธรรมดา)...ต้องรู้เรื่องนี้ก่อน" นะเพื่อนๆ
ครั้งนี้น้องกระดุมการเงินจะยกกรณีศึกษาในการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาให้เพื่อนๆได้เห็นกันว่าที่เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่ EP.1 - EP.5 เราจะเอาทุกเรื่องมาประกอบกันและใช้คำนวณภาษียังไงบ้าง?
กลุ่มอาชีพแรกที่น้องกระดุมการเงินขอยกเป็น Case Study ในวันนี้ คือ กลุ่มพนักงานบริษัททั้งระดับเพิ่งเริ่มต้นทำงาน (First jobber) และระดับวัยกลางคนที่มีประสบการณ์ทำงานมา 10-20 ปีแล้ว (Senior staff)
มาดู Case Study นี้ไปพร้อมกันเลยเพื่อนๆ 🙌🏻
เคสแรก "น้องจูเนียร์" พนักงานรุ่นใหม่ไฟแรก เพิ่งเริ่มต้นทำงาน
มีรายได้ทางเดียวจากการรับเงินเดือนเป็นหลัก เวลายื่นภาษีน้องจูเนียร์จะยื่นแบบภาษีในประเภทเงินได้ที่ 1 : ม.40(1)
น้องจูเนียร์ มีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 200,000 บาท
ตามการหักค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้ที่ 1 : ม.40(1) สามารถหักค่าใข้จ่ายได้สูงสุด 100,000 บาท
เมื่อรายได้รวมทั้งปีของน้องจูเนียร์ หักลบด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว
จะเหลือเงินได้พึงประเมินอยู่ที่ 100,000 บาท
จากเงินได้พึงประเมินที่เหลืออยู่ของน้องจูเนียร์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้หักลบค่าลดหย่อนส่วนตัวเลยก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่รายได้ของน้องจูเนียร์ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบภาษีแสดงว่าเป็นผู้มีรายได้
เกณฑ์ที่พูดถึง คือ
ถ้ารายได้รวมทั้งปีของคนโสด เกิน 120,000 บาทขึ้นไป ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบภาษีแสดงว่าเป็นผู้มีรายได้
ถ้ามีรายได้พึงประเมิน หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว เกิน 150,000 บาทขึ้นไป ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่จะมาหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานภาษีด้วย
เคสต่อมา "พี่ซีเนียร์" พนักงานอาวุโสมากประสบการณ์
มีรายได้ 2 ช่องทาง จากเงินเดือนประจำ และค่าคอมมิชชั่นต่างๆ
ตอนยื่นแบบภาษีพี่ซีเนียร์ ต้องเลือกประเภทเงินได้ประเภทที่ 1 : ม.40(1) และ
ประเภทที่ 2 : ม.40(2)
พี่ซีเนียร์ มีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 1,000,000 บาท
ตามการหักค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้ที่ 1 : ม.40(1) และประเภทที่ 2 : ม.40(2)
สามารถหักค่าใข้จ่ายรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
เมื่อรายได้รวมทั้งปีของพี่ซีเนียร์ หักลบด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว
จะเหลือเงินได้พึงประเมินอยู่ที่ 900,000 บาท
3
ต่อมาเราลองมาดูค่าลดหย่อนต่างๆที่พี่ซีเนียร์ใช้สิทธิกันดีกว่า
พี่ซีเนียร์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ตามนี้
กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว
ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
ค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา ทั้ง 2 ท่าน ท่านละ 30,000 บาท
รวมทั้ง 2 ท่าน สามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาท
กลุ่มประกัน
ค่าลดหย่อนประกันชีวิต และประกันสุขภาพของตัวเอง 100,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา มารดา รวมกันแล้วสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ค่าลดหย่อนประกันสังคม 6,300 บาท (เฉพาะปี 2565 ที่มีการปรับลดเงินสมทบเพื่อช่วยรักษาสภาพคล่องให้ประชาชนช่วงโควิด)
กลุ่มการออม และการลงทุน
กองทุน Super Saving Funds (SSF) เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว
พี่ซีเนียร์ซื้อกองทุน SSF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 100,000 บาท
จากสูงสุดที่สามารถซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนได้ 200,000 บาท
พี่ซีเนียร์ให้หักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) 15% ทุกเดือน ทำให้พี่ซีเนียร์สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 150,000 บาท
(การหักค่าลดหย่อนภาษีในกลุ่มการออม และการลงทุนสามารถใช้สิทธิได้รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท)
กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปี 2565 นี้ทางภาครัฐได้ออกโครงการช้อปดีมีคืนมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท ถ้าเราซื้อสินค้าที่ออกใบกำกับภาษีได้ในช่วง 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 2565 พี่ซีเนียร์ซื้อของเกิน 30,000 บาทอยู่แล้ว แต่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
กลุ่มการบริจาค
(กลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิได้ตามที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้พึงประเมินที่หักค่าลดหย่อนอื่นๆหมดแล้ว)
พี่ซีเนียร์ บริจาคให้โรงพยาบาลรัฐไป 20,000 บาท
การบริจาคให้กลุ่มโรงพยาบาลรัฐ, เพื่อการศึกษา หรือ เพื่อการกีฬา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาค ทำให้พี่ซีเนียร์ ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 40,000 บาท
รวมค่าลดหย่อนของพี่ซีเนียร์ ทั้งหมดอยู่ที่ 561,300 บาท ซึ่งการซื้อค่าลดหย่อนเพิ่มเติม รวมถึงการบริจาคเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินชีวิตของพี่ซีเนียร์อยู่แล้ว จึงไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายมากเกินจำเป็น และยังมีผลพลอยได้ช่วยให้ประหยัดภาษีได้อีกด้วย
จากที่เราคำนวณ "เงินได้พึงประเมิน" หลังหักค่าใช้จ่ายไว้แล้ว และ
คำนวณ "ค่าลดหย่อน" ต่างๆ รวมกันแล้ว
เราจะนำ เงินได้พึงประเมิน หักลบ ค่าลดหย่อน ออก
ทำให้เราได้ "เงินได้สุทธิ" และเราจะเอา "เงินได้สุทธิ" มาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้ากัน
เงินได้สุทธิขอบพี่ซีเนียร์ อยู่ที่ 338,700 บาท
อยู่ในฐานภาษี 10%
ช่วงเงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท
ทำให้การคำนวณภาษีของพี่ซีเนียร์ต้องคำนวณทั้ง 2 ฐานภาษี
ฐานภาษี 5%
ช่วงรายได้ 150,001 - 300,000 บาท
พี่ซีเนียร์ เสียภาษีสูงสุดของช่วงรายได้นี้คือ 7,500 บาท (ทดภาษีสูงสุดฐานนี้ไว้ในใจก่อนนะเพื่อนๆ
ต่อมาคำนวณ ฐานภาษี 10%
ช่วงรายได้ 300,001 - 500,000 บาท
เราจะเอา เงินได้สุทธิของพี่ซีเนียร์ 338,700 ลบกับจำนวนที่น้อยที่สุดของช่วงรายได้นี้ คือ 300,000 จะได้ผลลัพธ์ = 38,700 เราจะนำค่านี้มาคูณกับฐานภาษี คือ 10% = 3,870
เราจะเอาผลลัพธ์ใหมที่ได้นี้ บวกกับภาษีสูงสุดของฐาน 5% ที่เราทดไว้ในใจเมื่อกี้
รวมกันทั้งหมดแล้วเท่ากับว่าพี่ซีเนียร์ จะเสียภาษีทั้งสิ้น 11,370 บาท
เป็นยังไงกันบ้างเพื่อนๆ วิธีการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา
เพื่อนๆอย่าลืมลองไปคำนวณของภาษีของตัวเองกันดูน้าาา
ครั้งหน้าน้องกระดุมการเงินจะเอา Case Study กลุ่มอาชีพไหนมาให้เพื่อนๆได้เรียนรู้ไปพร้อมกันบ้าง
อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะฮ้าฟฟฟฟฟ
ถ้าเพื่อนๆชื่นชอบคอนเท้นสาระความรู้ด้านการเงิน การลงทุนแบบนี้
ฝากกดไลค์ กดแชร์ ติดตาม FINstories ให้น้องกระดุมการเงินได้เล่าเรื่องให้เพื่อนๆฟังกันต่อไปนะฮ้าฟฟฟ 🥰
โฆษณา