Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TTW Public Company Limited
•
ติดตาม
26 ต.ค. 2022 เวลา 02:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"สินทรัพย์หมุนเวียนรายการไหนเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วสุด" ???
Image Credit: Pixabay.com
ในการวิเคราะห์ข้อมูลกิจการสักแห่งหนึ่งเพื่อใช้สำหรับพิจารณาลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ นักลงทุนส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกันดีกับการอ่านงบการเงินเพื่อที่จะได้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกของบริษัท
โดยในวันนี้เราจะมาพูดกันถึง “งบแสดงฐานะการเงิน” (Financial Position) หรือที่คุ้นชินกันดีในชื่อ “งบดุล” เป็นงบการเงินที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (วันสิ้นงวดบัญชี) เช่น 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี ประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น
วัตถุประสงค์ของงบแสดงฐานะการเงินก็มีไว้เพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้า (ถดถอย) ของกิจการ “ต้นงวด vs ปลายงวด” ให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเจนนั่นเอง
หลักการง่ายๆ ของงบแสดงฐานะการเงิน คือ
ฝั่งซ้าย = ฝั่งขวา (เสมอ)
“สินทรัพย์” = “หนี้สิน” + “ส่วนของผู้ถือหุ้น/เจ้าของ (ทุน)
เงินที่อยู่ใน “สินทรัพย์” จะมาจาก “หนี้สิน” และ/หรือ “ส่วนของผู้ถือหุ้น/เจ้าของ (ทุน)
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของงบแสดงฐานะการเงินของแต่ละบริษัท ก็อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของธุรกิจ หรือโมเดลธุรกิจ แต่โดยพื้นฐานแล้วก็จะมีหน้าตาที่ไม่ต่างกันไปมาก
โดยในวันนี้เราจะมาเจาะดูกันเฉพาะ “สินทรัพย์” ในส่วนของ “สินทรัพย์หมุนเวียน” ซึ่งจะหมายถึง “สิ่งที่บริษัทคาดว่าจะสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ภายใน 12 เดือนข้างหน้า”
แล้วรายการในบรรทัดไหนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดกันละ?
(เรียงจากเร็วที่สุด --> ช้าที่สุด)
1. เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (Cash and Cash Equivalents): เวลาเรานึกถึงเงินสด เราก็อาจจะนึกถึงเงินที่อยู่ในตู้เซฟของบริษัท หรือแม้แต่เงินสดที่เราฝากธนาคารไว้อย่างปลอดภัย และนำออกมาใช้ได้ทันที
Image Credit: Pixabay.com
ส่วนรายการเทียบเท่าเงินสด เปรียบเสมือนเรามีเงินสดอยู่ในมือ แต่ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น เงินลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund), บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือจะเป็นตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange: B/E) ซึ่งรายการในบรรทัดนี้สามารถแปลงเป็นเงินสดออกมาได้เร็วที่สุด
2. ลูกหนี้การค้า (Account Receivables): ส่วนใหญ่แล้วยอดขายของธุรกิจมักจะอยู่ในรูปแบบของเครดิต/ซื้อเชื่อ ที่ไม่ใช่เงินสด เช่น สาหร่ายยี่ห้อเจ้าสัวใหญ่ขายของให้ซุปเปอร์มาเก็ตนำสินค้าไปวางขายเป็นเครดิตจำนวน 1 ล้านบาท
ยอดเครดิตนี้จะถูกแปลงเป็นเงินสดในภายหลัง โดยทั่วไปแล้วก็มักจะอยู่ในช่วง 60-90 วันเป็นส่วนใหญ่ (มากกว่านี้ก็มีตามตกลงกัน) ซึ่งลูกหนี้การค้าก็คือเงินที่สาหร่ายเจ้าสัวใหญ่ปล่อยกู้ให้ซุปเปอร์มาเก็ตโดยไม่มีดอกเบี้ยนั่นเอง
Image Credit: Pixabay.com
แต่ก็มีบางรายการที่บริษัทคาดว่าจะได้รับชำระเงินภายใน 1 ปี เช่น ดอกเบี้ย หรือหลักทรัพย์อื่นๆ ที่มักจะใช้ชื่อสั้นๆ ว่า “ลูกหนี้” (Receivables) ก็เป็นเงินอีกส่วนที่จะรับรู้เข้าบริษัท แต่แค่ยังไม่เข้ามา ณ เวลานั้น
3. สินค้าคงเหลือ (Inventory): รายการนี้เรียกกันคุ้นปากว่า “สต็อกสินค้า” ที่บริษัทเกือบทุกแห่งมักจะมีไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภทคือ (1) "วัตถุดิบ” (2) “งานระหว่างทำ” และ (3) “สินค้าสำเร็จรูป”
เช่น บริษัทผลิตกาแฟกระป๋อง มีวัตถุดิบสำคัญเป็นเมล็ดกาแฟ ซึ่งจะเข้าไปอยู่ในรายการสินค้าคงเหลือ ในหมวด “วัตถุดิบ” และมูลค่าของวัตถุดิบมันก็คือ “ต้นทุนของสินค้า” นั่นเอง
ขั้นตอนถัดมา ในการผลิตกาแฟกระป๋อง ระหว่างทางก็จะมีต้นทุนอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เช่น แรงงานคนในการควบคุมเครื่องจักร ซึ่งก็จะจัดเป็น “งานระหว่างทำ”
Image Credit: Pixabay.com
และเมื่อผลิตเสร็จออกมาเป็นกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มแล้ว รอแค่วันที่จะถูกขายออกไปก็จะถูกจัดเป็น “สินค้าสำเร็จรูป” ซึ่งก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก เช่น การบรรจุหีบห่อ ติดฉลาก แพ็คลงกล่อง เป็นต้น
โดยในงบฯ มักจะแสดงรวมรายละเอียดของตัวเลข 3 หมวดนี้เป็น “รายการสินค้าคงเหลือ” เพียงบรรทัดเดียว (รายละเอียดเพิ่มเติมส่วนใหญ่หาอ่านได้จากหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือรายงานประจำปีของบริษัทนั้นๆ)
4. สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น (Other Current Assets): เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนใดๆ ก็ตามที่ไม่เข้าพวกกับบรรทัดก่อนหน้าที่กล่าวมา ก็จะมารวมตัวกันอยู่ในรายการนี้
โดยสินทรัพย์เหล่านี้ต้องมีแนวโน้มที่จะขายออกและแปลงเป็นเงินได้ภายใน 12 เดือน ซึ่งหมายรวมถึงที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ที่ประกาศขายอยู่ หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่คาดว่าจะขายออกไปภายในปีนั้นๆ
Image Credit: Pixabay.com
นอกจากนี้อาจรวมถึงพวกอนุพันธ์ที่เป็นการลงทุนแบบเฮดจ์ เช่น สัญญาป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน สัญญาป้องกันความเสี่ยงของราคาโภคภัณฑ์ เป็นต้น
5. ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses): บางครั้งบริษัทก็มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้าอย่างเช่น ค่าทำการตลาดของกระแฟกระป๋องล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน
กรณีนี้ สมมุติว่าจ่ายค่าทำการตลาดในเดือนมกราคม ก็มีเวลาเหลือที่ยังไม่ได้บริการในอีก 5 เดือน ซึ่งจะทยอยรับบริการไปทีละเดือนๆ ในส่วนที่ลดลงไปก็จะกลายเป็น “ค่าใช้จ่าย” ในงบกำไรขาดทุน
Image Credit: Pixabay.com
รายการนี้เรียกได้ว่ามีสภาพคล่อง "น้อยที่สุด" ยกตัวอย่างเช่น เกิดบริษัทกาแฟกระป๋องขาดสภาพคล่อง และต้องการใช้เงิดสดเร่งด่วน ก็คงยากที่จะขอยกเลิกสัญญาและรับเป็นเงินคืนได้ นั่นก็เลยกลายเป็นเหตุผลให้รายการนี้อยู่ในบรรทัดสุดท้ายของประเภทสินทรัพย์หมุนเวียนนั่นเอง
“สินทรัพย์หมุนเวียน” จึงเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์สภาพคล่องของบริษัทนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ว่าหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้ว บริษัทสามารถแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วไม่เกิน 12 เดือนต่อจากนี้
และนับเป็นอีกทางเลือกแทนการสร้างภาระทางการเงินแก่บริษัทในระยะยาวอย่างการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือการออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้)
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเองก็ควรต้องวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ ประกอบอย่างรอบคอบ และถี่ถ้วนด้วยก่อนตัดสินใจลงทุนในกิจการใดๆ
Image Credit: Pixabay.com
*ข้อมูลเพิ่มเติม:
# (1) เงินลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund): เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้นมากโดยอายุเฉลี่ยปกติไม่เกิน 90 วัน (หรือไม่เกิน 1 ปี) เป็นกองทุนที่เน้นให้สภาพคล่องสูง และความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก
# (2) ตั๋วแลกเงิน Bill of Exchange: B/E) หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า "ดราฟท์" (Draft): คือขั้นตอนในการเรียกเก็บหรือชำระเงินค่าสินค้าต่างๆ โดยกำหนดเรียกเก็บเงินผ่านเอกสารสั่งซื้อสำคัญ นั่นคือ ตั๋วแลกเงิน หรือดราฟท์นั่นเอง
โดยเป็นตราสารที่มีคำสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งจ่ายเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือผู้สั่งจ่ายสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่บุคคลหนึ่งหรือผู้รับเงิน โดยผู้ออกตั๋วหรือผู้ออกตราสารนี้หมายถึงธนาคาร
Reference:
-
https://www.krungsri.com/th/personal/mutual-fund/knowledge/glossary/m/money-market-fund
-
https://www.pentai.co.th/17591564/ตั๋วแลกเงิน-คืออะไร
- หนังสือ “เรียนบัญชีกับวอร์เรน บัฟเฟตต์” โดย Stig Brodersen, Preston Pysh เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website:
www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
บัญชี
หุ้น
ลงทุน
บันทึก
1
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เดี๋ยวรู้เรื่อง...การลงทุน!
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย