24 พ.ย. 2022 เวลา 08:56 • การตลาด
การประหยัดต่อขนาด vs การประหยัดต่อขอบเขต
Image Credit: Pixabay
ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะคุ้นหูกับคำว่า “การประหยัดต่อขนาด” (Economies of Scale) คือ การที่ราคาต้นทุนสินค้าต่อหน่วยลดลงตามจำนวนการผลิตสินค้าหรือบริการที่ผลิตมากขึ้น ซึ่งแน่นอนบริษัทผู้ผลิต หรือผู้ขายก็จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น
และคนส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่มักจะสับสน เข้าใจผิดว่าเมื่อเกิด “การประหยัดต่อขนาด” แล้ว จะต้องเกิด “การประหยัดต่อขอบเขต” (Economies of Scope) ด้วย
หรือกลับกันเมื่อเกิดการประหยัดต่อขอบเขตแล้วจะต้องเกิดการประหยัดต่อขนาดด้วยอันนี้ก็ยังไม่ถูก แต่ว่าทั้ง 2 อย่างเองก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่
สาเหตุหลักของการประหยัดทั้ง 2 แบบข้างต้น คือลักษณะ “การแบ่งแยกไม่ได้” (Non-divisibility หรือ Non-separability) ในกระบวนการผลิต ซึ่งต้นทุนต่างๆ ในกระบวนการผลิตในบางครั้งจะลดลงเมื่อผลิตน้อยลง แต่บางครั้งแม้จะผลิตน้อยลงแต่ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนผลิตลดลงตามไปด้วย
ยกตัวอย่าง บริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่ง ผลิตสินค้า และใช้รถบรรทุกในการขนส่งสินค้า ที่ไม่ว่าจะมีลูกค้าสั่งสินค้าเพียง 1 ชิ้น หรือ 100 ชิ้น ต้นทุนของการขนส่งด้วยรถบรรทุกนี้ก็อาจจะไม่แตกต่างกันมาก
หากลูกค้าสั่ง 1 ชิ้น ค่าวัตถุดิบ หรือพวกต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ก็จะลดลงได้ แต่ว่าค่าขนส่ง เช่นพวก ค่าน้ำมัน ค่าแรงคนขับรถ ที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ของรถบรรทุกนี้ไม่ได้ลดลง หรืออาจจะเรียกว่ามัน “แบ่งแยกไม่ได้”
Image Credit: Pixabay
อย่างไรก็ตาม หากมีการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ สมมุติว่าค่าขนส่งของรถบรรทุกคันนี้อยู่ที่ 5,000 บาท/เที่ยว หากส่งสินค้าเพียงแค่ 1 ชิ้น/เที่ยว ก็เท่ากับว่าต้นทุนค่าขนส่งสินค้า = 5,000 บาท/ชิ้น
แต่ถ้าสินค้าถูกสั่งซื้อเพิ่มและต้องจัดส่งเป็นจำนวน 100 ชิ้น ต้นทุนขนส่งจะลดลงเฉลี่ยเหลือเพียง 50 บาท/ชิ้น เท่านั้น การประหยัดต่อขนาดจึงเกิดขึ้น
## แล้ว “การประหยัดต่อขอบเขต” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ##
ถ้าบริษัทผู้ผลิตอยากให้เกิดการประหยัดต่อขอบเขตด้วย ก็อาจจะหาทางใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ด้วยการลดต้นทุนผลิตจากการผลิตสินค้า/บริการให้มีหลายอย่างมากขึ้น (จากเดิมที่ผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว)
โดยในกรณีนี้บริษัทผู้ผลิตอาจจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนรถบรรทุกที่ยังพอมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ แล้วทำธุรกิจรับส่งพัสดุเพิ่มอีกอย่าง ก็จะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านวิธีการประหยัดต่อขอบเขตได้อีกช่องทางหนึ่ง
Image Credit: Pixabay
อีกหนึ่งอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ “ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษาสินค้า” (Inventory Cost) เนื่องจากทุกวันนี้บริษัทห้างร้านส่วนใหญ่มักจะมี “สินค้าคงเหลือ” ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปพร้อมขาย หรือวัตถุดิบ เก็บไว้ในสต๊อกสินค้าเพื่อป้องกันกรณีสินค้าไม่เพียงพอต่อการขาย หรือไม่พอใช้ในกระบวนการผลิต
แต่แน่นอนว่าการสต๊อกของไว้ก็ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมา หรือเลวร้ายกว่านั้นหากค่าใช้จ่ายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในกระบวนการผลิตเกิดจากการกู้ยืมมาก็จะมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกด้วย
และพอต้นทุนส่วนนี้สูงขึ้น บริษัทผู้ผลิตก็จำเป็นต้องปรับราคาขายเฉลี่ยให้สูงขึ้นเพื่อให้มีกำไร แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ลดน้อยลงไปด้วย
ซึ่งหากนำการประหยัดต่อขนาด และการประหยัดต่อขอบเขตมาใช้นั้น ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีสำหรับลดต้นทุนค่าจัดเก็บสินค้า เพราะเมื่อสินค้าถูกผลิตขึ้นครั้งละมากๆ ค่าใช้จ่ายในการสต๊อกสินค้าก็จะถูกหารเฉลี่ยต่อจำนวนชิ้นที่ผลิต ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนผลิตเฉลี่ยลดลง
Image Credit: Pixabay
ด้านการประหยัดต่อขอบเขตก็มีแนวทางเดียวกัน จากตัวอย่างเดิม หากเพิ่มธุรกิจรับขนส่งพัสดุเข้ามาอีกอย่าง บริษัทก็สามารถใช้พื้นที่ว่างของคลังสินค้าที่มีอยู่แล้วในการเก็บ หรือพักพัสดุรอการขนส่งได้โดยที่ไม่ต้องไปเช่าพื้นที่เพิ่ม ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยในการรับขนส่งพัสดุ และต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมของบริษัทนี้ลดลงไปด้วย
ในโลกยุคปัจจุบันการประหยัดต่อขนาด และการประหยัดต่อขอบเขตถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากมายในโลกธุรกิจ เช่น กระบวนการจัดซื้อที่เมื่อสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก หรือซื้อพร้อมๆ กันหลายๆ ชนิดก็จะได้ราคาเฉลี่ยที่ถูกลง
หรืออีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เมื่อธนาคารขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขากับธนาคารขนาดเล็กที่มีเพียงสาขาเดียว ต้องการทำโฆษณาขายบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเหมือนกัน
ซึ่งหากเทียบค่าใช้จ่ายในการจ้างทำโฆษณาแล้วนั้น ธนาคารขนาดใหญ่จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า เมื่อทั้ง 2 ธนาคารลงทุนผลิตโฆษณาด้วยงบประมาณและระยะเวลา/จำนวนครั้งที่เท่ากัน
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
คำตอบ คือ เพราะแม้ผลลัพธ์ของการโฆษณาจะกระตุ้นการบริโภคของลูกค้าเหมือนๆ กัน และจำนวนครั้งเท่ากัน
แต่ลูกค้าจะพบและเข้าถึงสาขาของธนาคารขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ได้ง่าย และสะดวกกว่าธนาคารขนาดเล็กที่มีอยู่เพียงสาขาเดียว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไปธนาคารขนาดเล็กจึงจ่ายค่าโฆษณาที่แพงกว่า
Image Credit: freepik.com
มาที่ด้านของการประหยัดต่อขอบเขต ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ได้โฆษณาขายบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเหมือนกัน และจ่ายค่าโฆษณาเท่ากัน
แต่ในขณะที่ธนาคารขนาดเล็กมีบริการเพียงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเท่านั้น แต่ธนาคารขนาดใหญ่กลับมีสินค้าและบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสัตว์เลี้ยง ฯลฯ พร้อมให้บริการอยู่ที่ทุกสาขา
หากลูกค้าดูโฆษณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้วเกิดสนใจเข้าไปที่สาขา แน่นอนว่าก็เพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากซื้อหรือใช้บริการประเภทอื่นๆ ที่ธนาคารขนาดใหญ่ให้บริการอยู่ได้อีกทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าการประหยัดต่อขนาด และการประหยัดต่อขอบเขตล้วนมีอยู่ในทุกๆ ธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition หรือ M&A) การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือแม้แต่การประเมินสายการผลิตว่าส่วนไหนควรใช้ระบบอัตโนมัติหรือใช้แรงงานคน ฯลฯ
โดยสรุป...การประหยัดต่อขนาดที่ผลิตจำนวนมากขึ้นจะได้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และการประหยัดต่อขอบเขตที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิมด้วยการเพิ่มประเภทของสินค้าหรือบริการขึ้นมาให้หลากหลายมากขึ้นในเวลาเดียวกัน
ซึ่งหากเลือกใช้การประหยัดทั้ง 2 แบบได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าและบริการได้อย่างมาก รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจรายอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
Ref:
- หนังสือ “เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาด ให้เป็นเรื่องปกติ”, ผู้เขียน: ปาร์กจองโฮ, แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา