1 พ.ย. 2022 เวลา 00:20 • ปรัชญา
“ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน”
" … สิ่งที่ดีที่สุด ที่สูงที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้
ลองคิดดู ได้หรือยัง รู้จักหรือยังด้วยซ้ำไป
ถ้าไม่ได้ มันก็ต้องไปหลงยึดสิ่งที่ตรงกันข้าม คือสิ่งที่กัดเอา ๆ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ทั้งหมดก็กัดเอา ๆ ก็ได้สิ่งนั้นขึ้นมา
อยู่กันแต่การทุกข์ทรมานจากการกัดเอา ๆๆ ของสิ่งที่เรารักมัน บูชามัน เพราะทำไปด้วยอวิชชา รักมันด้วยอวิชชา บูชามันด้วยอวิชชา ต้องการมันด้วยอวิชชา ใช้มันอยู่กับมันด้วยอวิชชา
อวิชชา คือ ความโง่ ไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ เรียกว่า อวิชชา
ให้อวิชชามันคลายออกไป ๆ ให้มันรู้สิ่งที่ควรจะรู้ แล้วก็จัดการถูกต้อง จัดการกับชีวิตอย่างถูกต้อง ทุกแง่ทุกมุม
เหมือนกับทางวัตถุทางร่างกาย เช่นเครื่องจักรอันซับซ้อน เครื่องจักรมหึมา คอมพิวเตอร์อันละเอียดต่าง ๆ ถ้ารู้จักมันแล้วก็ใช้มัน ควบคุมมัน เป็นไปในทางที่ถูกต้องได้ผลน่าชื่นใจ
แต่ว่าจะมาทำกับชีวิตชนิดนั้นบ้าง มันยาก
มันยาก มันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องปรมัตถ์ เป็นเรื่องอภิธรรม เป็นเรื่องปรัชญาที่แท้จริง
ทีนี้ก็อยากจะบอกกันลงไปตรง ๆ เลยว่า
ปรัชญาที่แท้จริงของธรรมะ อภิธรรมสูงสุด ปรมัตถธรรมสูงสุดของธรรมะนี่ คือสิ่งที่เป็น อนัตตา ว่างจากตัวตน
ว่างจากตัวตน พอเอ่ยขึ้นมาก็ฟังไม่ถูก
ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู นี่ก็พูดขึ้นมาก็ฟังไม่ถูก
ตัวกู ของกูนั่นน่ะ เป็นตัวเรื่อง หรือเป็นตัวต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ นี่ที่เรียกว่า ปรมัตถ์ ลึกซึ้งอย่างยิ่ง
เราก็มีตัวกู ตัวกู กันอยู่ทุกคน มันไม่ถูกตามเรื่องของมัน คือว่า มันไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตน หรือเป็นตัวกูที่แท้จริง มันเป็นความโง่ที่คิดเอาเอง ยึดถือเอาเองว่าเป็นตัวกู ตัวกู
หลักปรมัตถ์ปรัชญาที่พูดกันแล้วก็จะเบื่อหน่าย หรือจะรำคาญก็ได้ ทน ๆ หน่อย ฟังไว้ เป็นเรื่องสามหัวข้อ สามความหมาย
โง่ที่สุดนั่นมันมีตัวตน ตัวกู ตัวตนตัวกูร้อยเปอร์เซ็นต์ ฝ่ายนี้มันโด่งสุดโต่งไปฝ่ายนั้น มีตัวกู ตัวตน ร้อยเปอร์เซ็นต์
ทีนี่ฝ่ายนี้ สุดโต่งไปฝ่ายนี้ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีตัวกูเลย
นี่มันผิด สองข้างนี้มันผิด
ตรงกลางนี่เรียกว่า อนัตตา มีตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน
1
คำที่จำง่าย ๆ ก็ ฝ่ายนี้เป็นอัตตาเต็มที่
ฝ่ายนี้สุดโต่ง ไม่มี เป็นนิรัตตา ไม่มีตัวตนเลย ไม่มีอะไรเป็นตัวตนเลย
1
ตรงกลางนี่เป็นอนัตตา อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่ตัวตน มีแต่สิ่งที่มิใช่ตัวตน
1
นี่อัตตา ตัวตน
นี่นิรัตตา ไม่มีตัวตน
ตรงกลางนี่ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
ตรงกลางนี่แหละต้องการจะศึกษา ต้องการจะเรียนให้รู้ รู้แล้วมันช่วยได้ มันช่วยได้ มันจะแก้ปัญหาที่เป็นความทุกข์ร้อนได้ทั้งหมดทั้งสิ้น
ขอยืนยันว่าไม่มีปรมัตถ์ อภิธรรมไหนจะสูงสุดไปกว่าเรื่องนี้ เรื่องตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ใช้คำว่าว่าง ว่างจากตัวตน มันเป็นตัวตนที่มิใช่ตัวตน ไม่ควรจะถือว่ามีตัวตน หรือว่าว่างจากตัวตน
แต่เราทำไม่ได้ ยังทำไม่ได้ ยังไม่รู้จัก
มีตัวกู ตัวกูเต็มที่ อย่างพวกแรกนี้ทั้งนั้นแหละ
ตัวตน อัตตาตัวตน ๆๆ
มีตัวกู มีของกู มีสิ่งที่เป็นที่รัก ที่พอใจ สุดประหลาดขาดใจ
นั่นแหละมีตัวตนชนิดนั้น แล้วมันก็กัดเอา
ชีวิตที่เป็นตัวตนชนิดนั้น มันก็กัดเอา ๆ ยิ่งรักยิ่งกัด ยิ่งยึดถือยิ่งกัด
ถ้าไม่มีตัวตนซะเลย มันก็บ้าบอไปชนิดนึง ไม่มีปัญหาเป็นอันธพาล ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีอะไรเตลิดเปิดเปิงไปนู่น มันก็เผาผลาญไปทางหนึ่ง
แต่ถ้าอยู่ที่ตรงนี้ จัดให้มันถูกต้อง
ให้มันถูกต้อง มันจะพบกับชีวิตที่เยือกเย็น มันไม่กัดเจ้าของ
ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน
เคยได้ยินหรือเปล่า ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน
เรามีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน เป็นตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน
พูดกับพวกฝรั่งคำนี้ The I which is not the real I ก็ยิ้มกันใหญ่ หัวเราะกันใหญ่ คิกคัก ๆ มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน
เรามีตัวเราซึ่งมิใช่ตัวเราที่แท้จริง เป็นตัวเราของความโง่ มันเข้าใจเอาเอง มันคิดเอาเอง มันยึดมั่นเอาเองว่า ตัวเรา ตัวเรา มันก็มีปัญหาสิ เพราะว่ามันผีหลอก มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
นี่มันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของชีวิต มันต้องเป็นอย่างนั้น ชีวิตมันมาอย่างนั้น มันมีร่างกาย มีระบบประสาทให้รู้สึก แล้วก็มันส่งไปถึงจิตใจ ซึ่งจะเป็นผู้รู้สึกและคิดนึกอะไรได้ มันมีเท่านี้
ร่างกายก็ร่างกาย
ระบบประสาทก็ระบบประสาท
จิตก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง
เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง
คิดนึกรู้สึกอะไรได้ อย่างประหลาด มหัศจรรย์
มันมีเท่านี้ ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวอัตตา
ตัวอาตมา อาตมันที่ไหน
แต่ไอ้ความรู้สึกของคนธรรมดาจะรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้
เพราะว่าจิตมันเป็นผู้โง่เสียเอง
โง่ว่ามีตัวกู มีตัวตน
ถ้าพูดอย่างนั่น ๆ หน่อย ก็จิตนั่นแหละมันมีตัวตนขึ้นมาด้วยความโง่ของมันเอง
ถ้ามันเป็นจิตล้วน ๆ จิตสะอาด จิตบริสุทธิ์ จิตเป็นอิสระ ไม่ถูกหลอกถูกล่อให้หลงนั่นน่ะหลุดพ้น เรียกว่า จิตหลุดพ้น จากปัญหา หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากอะไรทุก ๆ สิ่ง
เดี๋ยวนี้เรายังไม่มีจิตชนิดนั้น เรายึดมั่นถือมั่น มั่นหมาย หลงรักพอใจ ของรักของพอใจอย่างยิ่ง มันก็กัดเอา
มันก็กัดเอา เพราะมันเป็นตัวตนของความโง่ ความหลง
ต่อเมื่อรู้ว่ามันตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ไม่โง่ไม่หลงกับมัน จัดการกับมันให้ถูกต้อง มันก็หยุดกัด
ไหน ๆ พูดมาแล้ว ก็พูดให้มันตลอดเลยว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่
เด็ก ๆ อยู่ในท้องแม่ ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน คิดนึกไม่ได้ ความรู้สึกว่าตัวตนหรือตัวกูยังไม่มีแก่ทารก แก่เด็กที่อยู่ในท้อง พอมันคลอดออกมาจากท้องแม่
พอคลอดมาจากท้องแม่ ประสาทต่าง ๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางสำหรับรับอารมณ์ ระบบประสาทมันก็ทำงานได้ เพราะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำงาน ระบบประสาทก็ทำงาน
ทารกนั้นก็ต้องรู้สึก รู้สึกไปตามเรื่องของมัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ทางตา ก็เห็นสวย หรือไม่สวย
ทางหู ก็เสียงเพราะ หรือไม่เพราะ
ทางจมูก ก็หอม หรือเหม็น
ทางลิ้น ก็อร่อย หรือไม่อร่อย
ทางผิวกายก็นิ่มนวลสบาย หรือหยาบกระด้าง อย่างนี้
พอทารกได้สัมผัส เกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาโดยจิตใจ โดยระบบประสาท ก็เพียงแต่รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น มันไม่พอ
มันเกิดความรู้สึกว่า "กูอร่อย"
"กู" ขึ้นมาเลย เช่นว่า อร่อย ด้วยอาหาร ด้วยนม ด้วยของกิน ของเล่นนี้ อร่อยหรือสนุกขึ้นมา
ความรู้สึกว่า อร่อย หรือ สนุก เกิดขึ้นแล้ว มันก็เกิดความโง่อย่างใหญ่หลวงขึ้นว่า "กู" ความรู้สึกยึดถือว่ากู เกิดทีหลัง
อร่อย นี่เป็นระบบประสาท รู้สึก จิตรู้สึก แล้วจิตมันก็โง่ เพียงแต่รู้สึกว่าอร่อยไม่พอ มันยังจะต้องเกิดความรู้สึกโง่ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่า "กู"อร่อย
นี่คือความเหลวไหลหลอกลวงมายาที่สุด
"กู" เกิดทีหลังการกระทำ
คนที่เรียนรสธรรมดามันก็ไม่เชื่อ
ไม่มีตัวผู้อร่อย ทำไมจะอร่อยได้
เพราะเขาไม่รู้ความลับข้อนี้
ความอร่อย เป็นระบบประสาทรู้สึก ทีนี้จิตมันโง่เอาเองว่า "กู" ผู้อร่อย
ฉะนั้น "กู" จะเกิดตามขึ้นมา ทุกอย่างทุกครั้งทุกชนิดที่จิต ที่ระบบประสาทมันรู้สึกว่าเป็นอะไร
หอม ถูกจมูกหอม ก็กูหอม
เหม็น ถูกจมูก ก็กูเหม็น
สวย ไม่สวยก็เหมือนกัน
พอใจแก่ตามันก็ว่า กูรู้สึกสวย กูรู้สึกไม่สวย
คำว่า "กู" "กู" นี่เป็นผีชนิดหนึ่ง เกิดตามมาทีหลัง ต่อเมื่อระบบประสาทรู้สึกอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว
นี่คุณคิดดูว่า ปรมัตถ์ ลึกหรือไม่ ลึกซึ้งหรือไม่ แล้วมันผิด Logic ที่คนธรรมดาเขาจะเข้าใจได้
Logic นั้นมันทำได้ในทางวัตถุ
ทางจิตใจมันทำไม่ได้
มันจึงเกิดอาการว่าตัวผู้กระทำนั้นเกิดทีหลังการกระทำ
การกระทำ ทำเสร็จแล้ว เช่นอร่อยแล้ว พอใจแล้ว
มันจึงมีตัวกูผู้อร่อย ผู้พอใจ
มันก็หลงรักในสิ่งเหล่านั้น
เป็นภาระหนัก ผูกพันจิตใจ กดทับจิตใจ อาลัยอาวรณ์ วิตกกังวล
รัก โกรธ เกลียด กลัว อย่างที่ว่านี้มันก็เกิดขึ้น
เพราะมันมีตัวกู
1
ถ้าใครละไอ้ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูเสียได้ นี่เป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เล็กน้อย
พอพูดเรื่องนี้คุณก็สั่นหัว ไม่อยากเป็นพระอรหันต์
เอาล่ะ ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ ไม่ถึงกับเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเดินตามทางนั้นมันก็มีความทุกข์น้อย มันไม่เป็นทุกข์
มันอยู่ตรงที่ตรงกลางที่ว่า ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน
ตัวตนซึ่งเป็นผลเกิดมาจากความรู้สึก
ตัวตนนี้เป็นมายา เป็นของที่ไม่จริง
แต่มันก็จริงอย่างยิ่งในความรู้สึก
ลองสังเกตดูว่า กูรัก กูโกรธ กูเกลียด กูกลัว นั่นมันจริงเท่าไร
มันจริงในความรู้สึกสักเท่าไร
แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ความจริง
เป็นแต่ความรู้สึกโง่เขลาของจิต
ของจิตเท่านั้น ไม่ใช่ของตัวตนอะไร
ที่เรียกว่า self ว่า soul ว่าอัตตา ว่าอาตมัน อันนั้นมันเป็นเรื่องจิตโง่ไปสร้างขึ้นมาเอง
คนแรก ๆ ตั้งแต่เป็นคนป่าขึ้นมามันรู้ได้เพียงเท่านั้น มันไม่รู้ว่านี่เป็นของที่จิตโง่ไปสร้างขึ้นมาเอง
จนกว่าจะเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก ท่านจึงรู้ ค้นจนรู้จนตรัสรู้ ไอ้ความรู้สึกว่าตัวตน ตัวตนนี่ไม่มีจริง เป็นความโง่ที่จิตได้ทำให้เกิดขึ้นมา …"
.
บางตอนจากการบรรยาย “ความลึกซึ้งของชีวิต”
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
รับฟังธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา